มิติใหม่ของ ‘การภาวนา’ ผ่านดนตรีอิเล็กทรอนิกส์โดยพระเซน Yogetsu Akasaka

คุณเข้าใจความหมายของ “การภาวนา” ว่าอย่างไร?

หลายคนอาจคิดว่าการภาวนาหมายถึงการสวดวิงวอนร้องขอ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่

จากการอ่านหนังสือหลายเล่มของของ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ (นักเขียนที่มีผลงานมากมายเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนาและการภาวนาทำสมาธิ) ​เราพอจะสรุปความหมายของ “ภาวนา” ได้ว่า หมายถึงการกำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ เมื่อประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งใด ไม่ว่า ภาพ เสียง กลิ่น สัมผัส ก็ให้จิตเพียงรู้ แต่ไม่ตัดสิน ไม่ให้ความหมายใดๆ

ในความหมายนี้ทำให้การภาวนาคล้ายการทำสมาธิ แต่เราไม่จำเป็นต้องนั่งเฉยๆ และหลับตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจเดิน นั่งลืมตา หรือทำอะไรอีกหลายอย่างก็ได้ โดยกำหนดให้จิตจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน

แต่ถึงการภาวนาจะไม่จำเป็นต้องนั่งหลับตาเงียบๆ เพียงอย่างเดียว เราก็ไม่เคยคิดว่ามันจะไปได้ไกลถึงขนาด “ภาวนาขณะนั่งฟังดนตรีอิเล็กทรอนิกส์” มาก่อน โดยเฉพาะดนตรีที่ว่าเป็นการแสดงจากนักบวชศาสนาพุทธ นิกายเซน หรือพูดง่ายๆ คือ มีพระมาบรรเลงดนตรีตื๊ดๆ ให้เราฟังนั่นเอง!

โยเก็ตสึ อากาซากะ (Yogetsu Akasaka) คือพระที่เราพูดถึง ก่อนที่จะบวชเข้าสู่พุทธศาสนา นิกายเซนในปี 2015 โยเก็ตสึเคยใช้เวลาราวสิบปีเดินทางไปตามเมืองต่างๆ เช่น ลอนดอน นิวยอร์ก ซิดนีย์ เพื่อเปิดการแสดงดนตรีบีตบ็อกซ์ (Beatboxing) ตามท้องถนน และเมื่อเข้าสู่ร่มของศาสนา เขาก็ยังคงไม่ละทิ้งความรักและพรสวรรค์ในทางดนตรี แต่เอาดนตรีมาผสมผสานเข้ากับหลักธรรมทางศาสนา จนออกมาเป็นการแสดงดนตรีอิเล็กโทรนิกส์ บีตบ็อกซ์ และเครื่องดนตรีแฮนด์แพน (handpan) ที่ว่ากันว่าสามารถพาผู้ชมดำดิ่งลงสู่ชั่วโมงแห่งการภาวนาได้

เมื่อหลังสงกรานต์ 2566 ที่ผ่านมา พระโยเก็ตสึได้มาเปิดการแสดง Chanting Buddhist Mantras: Live Performance by Yogetsu Akasaka ที่ Doc Club & Pub กรุงเทพฯ โดยหลังจากที่ได้ไปชมการแสดงชุดนี้มา ก็ต้องบอกว่ามันเป็นประสบการณ์แปลกใหม่อย่างที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน เพราะการแสดงนั้นดูเผินๆ เหมือนดีเจแสครชแผ่น โดยมีฉากหลังเป็นโมชันกราฟิก (Motion graphic) แบบเดียวกับในคอนเสิร์ต แต่นักดนตรีนั้นคือพระนิกายเซน ที่สำคัญ ดนตรีของพระโยเก็ตสึสามารถพาเราดำดิ่งสู่ช่วงเวลาแห่งการภาวนาที่จดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะได้อย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน

จากประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้เราหายสงสัยเลยว่าทำไมในช่วงล็อกดาวน์การระบาดของโควิด-19 หลายคนจึงเข้าไปฟังดนตรีของพระโยเก็ตสึทาง Youtube จนทะลุไปมากกว่า 11 ล้านวิว และบอกว่าดนตรีของเขาช่วยเยียวยาจิตใจในช่วงเวลาที่ยากลำบากได้อย่างดี รวมทั้งพระโยเก็ตสึก็ยังได้รับคำชมจากหลายฝ่ายว่าสามารถนำเอาศิลปะแบบร่วมสมัยมาทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจพุทธศาสนาได้อีกด้วย

“ความทุกข์ทรมานเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน” เป็นหนึ่งในประโยคไม่กี่ประโยคที่พระโยพูดไว้ตลอดการแสดงราวหนึ่งชั่วโมงครึ่งที่ Doc Club & Pub

แต่ก็แน่นอนว่ากว่าที่จะมาถึงจุดที่ได้รับการยอมรับเช่นนี้ ศิลปะการแสดงดนตรีของพระโยเก็ตสึที่ล้ำมากๆ ก็ย่อมต้องเจอกับคำวิจารณ์ในด้านลบจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาแล้ว แต่เมื่อพระโยได้ใช้เวลาพิสูจน์ว่าดนตรีจากความคิดสร้างสรรค์ของเขาช่วยสนับสนุนหลักของพุทธศาสนา ไม่ใช่ทำลาย และเมื่ออีกฝ่ายเริ่มเปิดใจยอมรับ เราจึงได้ฟังดนตรีสุดตื๊ดที่มีท่วงทำนองเดียวกับบทสวด อย่าง บทสวดปารมิตา และได้ “ภาวนา” ขณะฟังดนตรีที่เต็มไปด้วยสุ้มเสียงต่างๆ นานาด้วยจิตใจที่สงบได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ใครที่พลาดงานคราวนี้ไป ลองติดตามข่าวของพระโยอีกครั้ง เพราะทางผู้จัดจาก MUTA Sound Sculptures บอกว่า ไม่แน่พระโยเก็ตสึอาจกลับมาเปิดการแสดงอีกครั้งในช่วงปลายปี หลังจากที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากจากแฟนๆ ชาวไทยในครั้งนี้

ขอบคุณภาพถ่ายจาก: facebook.com/mutasoundsculpture
ข้อมูลบางส่วนจาก: arcticsounds.gl

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles

Next Read