๑4๑ ส่งต่อความปรารถนาดีจากผู้ซื้อสินค้าสู่ของเล่นให้เด็กด้อยโอกาส

บรรยากาศการพูดคุยระหว่างเรากับพี่อ้วน (คมกฤช ตระกูลทิวากร) และพี่แพท (กฤติยา ตระกูลทิวากร) สองนักออกแบบผู้ขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมชื่อไทยๆ อย่าง ๑4๑ (หนึ่งสี่หนึ่ง) เป็นไป อย่างเรียบง่าย สงบ แต่เต็มไปด้วยความสุขและอุ่นใจ ไม่ต่างไปจากสิ่งที่พวกเขาทำ เส้นทางของ ๑4๑ กับการส่งต่อความปรารถนาดีจากผู้ซื้อสู่เด็กด้อยโอกาส แม้จะดูสมถะและถ่อมตน แต่กว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจะเปล่งเสียงและสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมได้ยินอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย บทสนทนาต่อจากนี้คือการเปิดเผยถึงเส้นทางแห่งการแบ่งปัน ทัศนคติ และอนาคตของกิจการเพื่อสังคมเล็กๆ แห่งนี้

Q: จุดเปลี่ยนจากบทบาทงานในสายการศึกษาและแวดวงออกแบบไปสู่งานสายสังคมเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?

A: จุดเปลี่ยนมาจากหลายองค์ประกอบ ครั้งแรกที่ผมรู้จักกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ก็ตอนที่ขับรถกลับบ้าน แล้วเปิดวิทยุฟังรายการ Business Connection ที่อาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย จัดอยู่ พอได้ฟังก็รู้สึกประทับใจ รู้สึกว่า SE เป็นรูปแบบธุรกิจที่ดีมากในการได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แล้วสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย จากจุดนั้นก็เริ่มหาข้อมูล แล้วได้รู้จักกับกิจการเพื่อสังคมในยุคนั้น อย่างรองเท้ายี่ห้อ TOMS (www.toms.com) และอีกมากมายที่ทำให้เห็นว่าเราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบไปช่วยเหลือคนอื่น ขณะเดียวกันก็สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ด้วย เลยเกิดแรงบันดาลใจเพิ่มเข้าไปอีก ผมก็รีเสิร์ชเรื่องนี้มาเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง ผมลองให้โจทย์นักศึกษาโปรดักท์ดีไซน์ชั้นปีที่ 4 โดยมี social impact เข้าไปเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการออกแบบ ตั้งโจทย์ว่างานที่พวกเขาทำ ทำไปเพื่อช่วยใครและช่วยอะไร คราวนี้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งตัวนักศึกษาและตัวผมเอง เพราะตั้งแต่สอนมา จะเน้นเรื่องสไตลิ่ง การตอบโจทย์เรื่องความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย แต่พอมันเริ่มต้นด้วยว่า ‘เราอยากให้ใคร และเราในฐานะนักออกแบบเราทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคนอื่น’ เราเห็น passion เห็นแววตาเด็กๆ เห็นความกระตือรือร้นที่เปลี่ยนไปเลย ตอนนั้นก็รู้แล้วว่ามันอาจจะมีประเด็นนี้อยู่ ซึ่งทั้งผม ในฐานะอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาสนุกไปกับมันมาก พอได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนั้น เริ่มรู้สึกว่าอยากจะใช้สิ่งที่มีมาทำอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น ประกอบกับตอนนั้นมีโครงการ UnLtd Thailand 2010 Unlimited Thailand ได้รู้จักมูลนิธิ Ashoka Change Fusion และ TSEO ซึ่งทำให้เราเข้าใจถึงเรื่องกิจการเพื่อสังคมมากขึ้น เริ่มเอาตัวเองเข้าไปสู่แวดวงนี้ แล้วก็ได้เห็นข้อมูลโครงการนี้ก็เลยลองสมัครดู เขียนโครงการขึ้นมา

Q: แล้วองค์ประกอบอื่นๆ ที่ผลักดันให้เกิด ๑4๑ ละคะ มีอีกไหม?

A: ปัจจัยอีกอย่างก็คือ พอผมมีลูก แล้วได้พาลูกเข้ามาโรงเรียนปัญโญทัย (www.panyotai.com) ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือก เราได้เห็นสังคมที่นี่สอนเด็กในอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งมีคำหนึ่งที่โรงเรียนบอกกับเราว่า ถ้าเรารักลูกคนอื่นเหมือนลูกของเรา สังคมจะเกิดปัญหาน้อย ประกอบกับช่วงนั้นได้อ่านหนังสือของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็ยิ่งสะท้อนว่าสิ่งที่เราคิดอยู่ไม่น่าถูกต้องในหลายๆ เรื่อง ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ลูกเราจะเติบโตมาอยู่ในสังคมบริโภคนิยมแบบนี้ต่อไปแบบนี้จริงๆ เหรอ? จากจุดนั้นจึงเลยกลับมาทบทวนและผสมผสานเรื่องกิจการเพื่อสังคม ลูก แล้วก็การสร้างสังคมที่น่าอยู่เข้าด้วยกัน

Q: แล้วแนวคิดของ ๑4๑ เป็นอย่างไร?

A: ๑4๑ (หนึ่งสี่หนึ่ง) เกิดจากสมมติฐานที่ว่า “ถ้าเราเอาแนวของการให้ความรักกับเด็กคนอื่นๆ เหมือนเวลาเราให้ความรักกับลูกของตัวเอง มาใช้กับการทำงาน มันจะเกิดอะไรขึ้น?” ซึ่งตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะทำของเล่น แผนธุรกิจแรกคือการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้และของแต่งบ้าน แนวคิดเราคือการออกแบบโปรดักท์มา 1 ชิ้น ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ผู้ซื้อซื้อโปรดักท์กลับไป ซึ่งเราเรียกว่า ‘ช่องว่างแห่งการให้’ ที่มีทั้งนาฬิกา ที่กั้นหนังสือ และชั้นวางของ ก็จะถูกถอดออกเพื่อไปบริจาคเป็นของเล่นให้กับเด็กๆ ให้พวกเขาจะมีของเล่นที่ดีกับพวกเขาจริงๆ สามารถใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัด ในอีกมุมหนึ่ง เราก็หวังว่าหากวันด้วยวิธีการนี้ มันอาจจะมีส่วนช่วยหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยากให้คนอื่นเหมือนกับวันที่เขาได้รับน้ำใจจากคนอื่น

ขณะเดียวกัน ช่องว่างที่เกิดขึ้นบนสิ่งของ ก็จะทิ้งร่องรอยที่คอยเตือนความจำผู้ซื้อว่า ทุกครั้งที่เขาดูนาฬิกา จัดวางหนังสือ หรือวางสิ่งของ จะมีเด็กอีกคนหนึ่งได้เล่นของเล่นที่ตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่ออยู่นะ มันมีคุณค่ามากกว่าการเป็นสิ่งของให้พวกคุณใช้งาน อยากให้มันเกิดความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันระหว่างคนที่อยู่ในเมืองที่มีโอกาสกับคนที่อยู่ห่างไกลที่ขาดโอกาส

Q: ผลตอบกลับของแนวคิดนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

A: ถึงแม้จะมีคนตอบรับกับแนวคิดนี้ในเชิงบวก แต่ช่วงปีแรกๆ ยังไม่ค่อยเวิร์กเพราะว่าหลายคนมองว่าคอนเซ็ปต์นี้ยังซับซ้อน แล้วราคาค่อนข้างสูง เพราะว่าเราไม่ได้เป็นแมสโปรดักชั่น บางคนมองว่าน่ารักเกินไป หรืออาจจะไม่เหมาะกับสไตล์ห้องของตัวเขาเอง และมีหลายๆ คนก็อยากได้ของเล่นที่อยู่บนตัวโปรดักท์เสียเอง (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นจากกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งไว้ว่าเป็นกลุ่มดีไซเนอร์ เลยไม่ตอบโจทย์สักเท่าไหร่ เราก็เลยต้องกลับมาทบทวน จนกระทั่งพัฒนาเป็นเล่นชุดใหม่ชื่อว่า DIY คอนเซ็ปต์ของงานชุดนี้ก็คือ ทุกๆ ครั้งที่มีการซื้อของเล่น 1 ชิ้น ๑4๑ จะตัดของเล่นอีก 1 ชิ้น ให้ เป็น commitment ที่เรามอบให้คนซื้อและเด็กๆ หลังจากนั้นเราก็พัฒนามาเรื่อยๆ เป็นของเล่นหลายๆ ชุด ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้มีผลตอบรับที่ดีจนทำให้เรารอดใน 2 ปีแรก จากตอนแรกก็คิดว่าคงเจ๊ง

Q: ปีแรกที่เริ่มทำประมาณช่วงไหน?

A: ปี 2011 จำได้เพราะน้ำท่วมพอดี แล้วก็ไม่ได้เปิด

Q: ครั้งแรกที่ส่งต่อของเล่นให้เด็กๆ บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง?

A: จำได้ว่าต้นปี 2012 หลังจากน้ำลดแล้ว เรามีโอกาสได้ไปออกบูธในงานการกุศล แล้วก็ขายของได้จำนวน 200 ชิ้น

การมอบของเล่นครั้งแรกเรามีโอกาสได้ไปศูนย์เด็กอ่อนก่อนเกณฑ์ วัดบ้านจอม ตำบลสองชั้น อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งทางศูนย์ไม่มีงบประมาณในการซื้อของเล่นให้เด็กๆ เพราะเงินส่วนใหญ่จะไปอยู่กับค่าอาหาร ค่าครู เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นก็คือ เจ้าอาวาสกับคุณครูประจำชั้นชื่อครูหงาจะเลื่อยไม้ทำของเล่นและพยายามระบายสีด้วยสีผสมอาหารกันเอง พอเขาได้เห็นโครงการจึงติดต่อเราเข้ามา ซึ่งหลังจากนั้นก็อีกเดือนหนึ่งเราก็กลับมาทำของเล่นจากยอด 200 ชิ้น ที่ขายได้ เป็นทริปแรกที่ประทับใจมาก เด็กๆ น่ารักมาก เราเฝ้าดูเขาเล่นของเล่นเรากันแบบทะนุถนอม มีการต่อยอดจินตนาการและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน หลังจากนั้นก็จะไปบริจาคในที่อื่นๆ อย่างอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง บ้านเด็กกำพร้า และบ้านเด็กตาบอด ซึ่งการได้เห็นเด็กๆ และคุณครูมีความความสุขมากๆ ก็ทำให้มีกำลังใจในการทำงาน และบริจาคมาแล้วเกือบ 2,900 ชิ้น

Q: แล้วฟีดแบคจากสาธารณชน เป็นอย่างไรบ้าง?

A: หลังจากทำมาสักพักหนึ่ง ก็มีคนมาบอกว่าเขาเห็นโครงการแล้วอยากช่วย ไม่ได้อยากซื้อของแต่อยากจะช่วย ให้เขาช่วยทำของเล่นได้ไหม มันก็เลยเกิดกิจกรรมของเหล่าอาสาสมัครขึ้นมา หลังจากล็อตแรกที่ ๑4๑ ไปบริจาคที่บุรีรัมย์ ผมก็ไม่ได้ทำของเล่นอีกเลยหลังจากนั้น จะเป็นฝีมือของอาสาสมัครที่เวลาเราไปตั้งโต๊ะขายของ แล้วเขามาช่วยขัดไม้ ระบายสี ทำลวดลาย แล้วก็เราจะพยายามให้เขาเขียนข้อความให้เด็กๆ มันก็จะกลายเป็นมากกว่าแค่ของเล่น แต่จะเป็นความรู้สึกดีๆ ที่ถูกส่งไปด้วย

Q: นอกจาก DIY แล้ว ๑4๑ มีการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกไหม?

A: หลังจากที่เราเลี้ยงลูกในวิถีทางเลือก ก็พบว่าในเด็กเมืองเหมือนจะมีโอกาส แต่กลับขาดโอกาสที่จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ ไม่ค่อยได้เล่นของเล่นที่พัฒนาจินตนาการเขา เพราะว่าเขาอยู่แต่กับแท็บเล็ต กับสิ่งแวดล้อมที่มันเร็วและเร่งเร้าเกินไป เราก็เลยออกแบบของเล่นในแนวคิด Slow Play คือการให้เขากลับมาอยู่กับตัวเอง กับธรรมชาติ กับจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งของเล่นในแนวคิดนี้ก็จะมีกล้องไม้ ลูกข่าง ชุดของเล่นต้นไม้ ตัวด้วง อย่างกล้องจะเป็นตัวที่เราพยายามสื่อสารกับพ่อแม่เด็กว่าอย่าให้เขาใช้แท็บเล็ตหรือเทคโนโลยีที่มันเร็วเกินวัยเขาเลย เพราะถ้าเขาติดอยู่กับเทคโนโลยีพวกนี้แล้ว มันจะเอาเขาออกมายาก ซึ่งการเค้าห้อยกล้องเล็กๆ ตัวหนึ่ง แล้วเอาไปถ่ายรูปตามจินตนาการของเขา เขาจะได้ภาพชัดกว่าเพราะเขาสัมผัสและรับรู้จากสายตาตัวเอง จากประสบการณ์จริงที่มันเกิดขึ้น ไม่ต้องมองผ่านจอ และเขาจะเก็บภาพเหล่านั้นไว้ในความทรงจำและความคิดเขา ทั้งคนที่ยิ้มให้เขา สัตว์ที่เดินได้ ธรรมชาติสีเขียว เขาจะมีโอกาสได้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับความไม่เร็ว เมื่อเติบโตไป เขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ซับซ้อน ขณะที่ปัญหาของการใช้เทคโนโลยีที่เร็วเกินไปมันมีมากมายเลยครับ อย่างแรกคือการบ่มเพาะให้เขาไม่รู้จักการรอคอย สมาธิสั้น อารมณ์รุนแรง ที่ชัดๆ ก็คือโรคสายตาอ่อนล้า ด้วยความคมชัดของภาพมันทำให้เขาต้องเกร็งตา เพราะฉะนั้นเขาจะใส่แว่นเร็ว โดยของเล่นในคอนเซ็ปต์ Slow Play นี้ เราทำงานในเฟสที่ 2 อยู่ ซึ่งก็จะมีกลุ่มของเล่นที่เฉพาะออกไป เช่น ของเล่น Waldorf เป็นของเล่นในเชิงการศึกษาที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ สร้างป่า สร้างเมืองของตัวเอง ให้เขาได้จินตนาการว่าบ้านฉันอยู่ตรงนี้ มีต้นไม้ มีสัตว์ ซึ่งของเล่นชุดนี้ก็ขายมาเรื่อยๆ แบบเงียบๆ ไม่ได้ทำตลาดอะไร เพราะว่ามีแต่คนในชุมชนผู้ปกครองในโรงเรียนปัญโญทัยเท่านั้นที่ซื้อ

นอกจากนี้ก็จะมี T4T (T-shirt for Toy) เสื้อยืดที่เราจะสกรีนแพทเทิร์นตุ๊กตาไว้ด้านในเสื้อยืด พอใส่จนเก่า ใช้ไม่ได้แล้ว แทนที่จะทิ้งหรือทำเป็นผ้าขี้ริ้ว ผู้สวมใส่สามารถเอาเสื้อตัวนั้นมาเย็บเป็นตุ๊กตา ซึ่งความทรงจำของผู้ใส่จะถูกแปรสภาพมากลายเป็นตุ๊กตาที่มีความหมายมากกว่าแค่ตุ๊กตาตัวหนึ่ง มันมีตัวเดียวในโลก ในเฟสถัดไป ผมตั้งใจว่าจะลงมือทำงานคราฟท์กับครอบครัว การใช้เวลาดีๆ ร่วมกันของครอบครัว

Q: แล้วกลุ่มคนซื้อเป็นเด็กกลุ่มไหนบ้าง?

A: ตั้งแต่ 1 ขวบ ขึ้นไป แตเอาเข้าจริงช่วงอายุคนซื้อกว้างมากเลย มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ให้ความสนใจเยอะ มีคุณลุงอายุ 60 ก็มาซื้อของเล่นไปสะสม

Q: นานไหมกว่า ๑4๑ ถึงจะอยู่ตัว?

A: ช่วงปีแรกๆ เราต้องไปทดลองตลาด เราลองไปสายแมส ซึ่งมันขายไม่ค่อยดี อาจจะด้วยแนวคิดของเรามันเฉพาะกลุ่ม ทำให้ช่วงหลังเรารู้แล้วว่าอีเวนท์แบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา ซึ่งพอเจอแล้ว ปัจจุบันก็เริ่มนิ่ง รายได้สม่ำเสมอขึ้น เริ่มไปได้แล้ว

Q: เพราะโปรดักท์ของ ๑4๑ ใช้ไม้เป็นหลัก ก่อนการออกแบบมีการคิดก่อนไหมว่าเราจะใช้ไม้อะไรเพื่อให้ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม?

A: เวลาเราคิดงาน เราจะคิดทั้งระบบว่าจะทำอย่างไรให้เด็กได้ประโยชน์ กระบวนการหรือว่าการเลือกวัสดุเราพยายามไม่ไปกระทบสิ่งแวดล้อม โดยไม้ที่ใช้จะเป็นไม้ยางพาราที่เกษียณอายุจากการให้ยางซึ่งเขาจะต้องตัดเพื่อที่จะปลูกใหม่อยู่แล้ว หรือไม้เศษจากที่โรงไม้ เพราะฉะนั้น แทนที่ไม้เหล่านี้จะเป็นขยะหรือถูกนำไปเผา เราก็เอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้น แต่มันก็คงมีบ้างที่เราไม่รู้ แต่เรื่องความปลอดภัยเราให้ความสำคัญอันดับแรก

Q: จากที่ทำงานในเชิงพาณิชย์และสายการศึกษามาก่อน พอเปลี่ยนมาในเชิงสังคม มุมมองเปลี่ยนไปขนาดไหน?

A: เราแคร์กับสิ่งที่จะออกมาและคนที่จะได้รับมากขึ้นเยอะ จนมีคนบอกว่า ๑4๑ คิดเยอะเกินไป (หัวเราะ) อย่างเสื้อ T4T เราคิดตั้งแต่ต้นว่าถ้าทำเสื้อขึ้นมาสักตัว แล้วมันถูกใส่จนเก่า เราจะเสื้อตัวนั้นไปทำอะไรต่อได้บ้าง จะทิ้งเหรอ เพราะเราไม่อยากให้ของถูกใช้แบบทิ้งๆ ขว้างๆ ตอนแรกคือคิดถึงขั้นว่าเสื้อยืดที่เหลือจากการนำแพทเทิร์นมาเย็บเราจะยัดกลับไปในตุ๊กตาด้วย ให้มันมันอยู่ในนั้นทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ

Q: การทำงานตั้งแต่ 5 ปีก่อนจนถึงตอนนี้ ๑4๑ ผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง?

A: ก็คงเป็นเรื่องความคิดของตัวเองที่จะวนกับเรื่องรายได้ว่าต้องเท่าไหร่ ต้องทำขนาดไหนให้อยู่ได้ แต่พอเราคิดว่าแค่นี้พอ มันก็พอ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ที่ทำ พอเราไม่ได้มองกำไรสูงสุด เอาแค่พอมี พอกิน พอเก็บ แล้วได้ช่วยคนอื่น มันก็ดำเนินไปได้ตามวิถีของมันได้นะ และที่มหัศจรรย์กว่านั้นคือเราได้รับความช่วยเหลือที่ไม่น่าเชื่อเข้ามาหลายๆ ครั้ง ได้บูธฟรี มีคนเอาเครื่องมือมาตั้งให้บอกว่าช่วยใช้หน่อย บางคนก็เอาไม้มาให้ ไปขายของก็มีคนเอาขนมมาให้กิน เอาข้าวมาให้กิน หรือในวันที่เราเดือดร้อนเรื่องเงิน ก็มีคนเอาบอกว่าของลงหุ้นด้วยได้ไหม ซึ่งทุกความช่วยเหลือมันทำให้ ๑4๑ อยู่ต่อได้มาถึงวันนี้

Q: นอกจากความช่วยเหลือที่หลั่งไหลเข้ามาแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาจากการทำ ๑4๑ คืออะไร?

A: ก่อนหน้านี้ที่เป็นอาจารย์สอนออกแบบ ถ้าฟังแล้วมันก็ดูดี แต่มันก็ไม่สวยงามอย่างที่คิด มันอยู่ในวิถีที่ตึงเครียด มันมีภาวะของโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งทำให้ผมป่วยทุกเสาร์เลย ที่แย่ไปกว่านั้นคือเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร พอได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาอยู่ที่นี่ แบบไม่มีแอร์ อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับฝุ่นไม้ด้วยซ้ำ แล้วก็เริ่มปั่นจักรยาน อาการทุกอย่างที่เล่ามามันหายไปเลย สุขภาพดีขึ้น ได้กลับมาใช้ชีวิตที่ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องไปตึงกับคนอื่น แล้วตัวเองก็ตึงด้วย ได้เลี้ยงลูก ได้ดูแลพวกเขา ได้ชีวิตที่เป็นชีวิตกลับคืนมา

Q: แล้วความสุขของการทำงานและใช้ชีวิตในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?

A: อย่างที่เห็นเลย เหนื่อยน้อยลง มีความสุขมาก มีความสุขที่เราไม่ต้องออกไปตะโกนให้คนรู้ในสิ่งที่เราทำ แต่สิ่งที่เราตั้งใจทำมันมาตลอด 5 ปี มันเปล่งเสียงแทนเราแล้ว หลายๆ คนมาหาเราเพื่อให้เราช่วยถ่ายทอดความรู้ ช่วยทำเวิร์กช็อป มันเป็นความสุขที่ได้แบ่งปัน

Q: ในฐานะของพ่อ ของผู้ใหญ่ที่กำลังมองสังคม มองเด็กๆ ในปัจจุบัน เห็นอะไรจากสถานการณ์ตอนนี้บ้าง และอยากเห็นมันเป็นอย่างไร?

A: ผมมองย้อนกลับไป ก็ตั้งคำถามกับระบบการศึกษานะว่าทำไมถึงต้องแข่งขันกันขนาดนั้น ตั้งแต่อนุบาลต้องสอบเข้า ต้องกวดวิชากันแล้ว หรือแม้แต่การเล่นที่เราพยายามยัดเยียดบางอย่างให้เด็กเร็วเกินไปในช่วงวัยที่เขาต้องการทักษะในการเติบโต ต้องจับ ต้องกำสิ่งของ อยู่ในวัยที่กำลังทำความเข้าใจต่อโลก ต่อการสัมผัส ต่อกลิ่น ต่อรส ซึ่งมันเป็นวิธีที่ทำให้เขาได้เข้าใจโลกแบบที่มันควรจะเป็น แต่เรากลับข้ามขั้น ให้เขาไปรูดแท็บเล็ตเล่น ซึ่งแท็บเล็ตมันเต็มไปด้วยของล่อตาล่อใจ ทั้งความตื่นเต้น ความสนุก แสงสี ทุกอย่างมันพร้อมที่จะทำให้เขาติดมันอย่างง่ายดาย  มันสำเร็จรูปมากจนไม่ต้องใช้จินตนาการในการคิด สร้างสรรค์ หากระบวนการ หรือแม้แต่ตัวละครเหล่านั้นก็ถูกฟิ๊กซ์ในภาพลักษณ์ที่ไม่ต้องสร้างเองเลย

ในฐานะพ่อและผู้ใหญ่ที่มองดูอยู่ ไม่ใช่ผมมองว่าการศึกษากระแสหลักไม่ดี มันดีในแง่ของวิชาการและองค์ความรู้ แต่อย่าลืมว่าเด็กก็ต้องการทักษะชีวิต อยากให้พ่อแม่เสริมเรื่องพวกนี้กับเขา ให้เขามีความเข้าใจต่อโลกที่ไม่บิดเบี้ยวไปในเชิงเทคโนโลยีที่มันเป็นมายาขึ้นทุกวัน ซึ่งถ้าเขาหลงเข้าไปในนั้น แล้วไม่ออกมา คุณพ่อคุณแม่รับได้ไหม ซึ่งถ้าเขาเป็นแบบนั้นแล้วคุณไปต่อว่าเขาทีหลัง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคุณเป็นคนยื่นให้เขาตั้งแต่วันแรก เรื่องแบบนี้ให้เขาได้ครับ แต่ให้เขาในเวลาที่เหมาะสมและพร้อมรับดีกว่า ภูมิคุ้มกันเขาจะดีกว่า

Q: ในฐานะนักออกแบบ เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์มาช่วยทำให้สังคมมันดีขึ้นได้ไหม?

A: ผมเชื่อเสมอว่านักออกแบบหรือการทำงานออกแบบสร้างสรรค์ช่วยโลกได้ แล้วผมก็ทำอยู่ ๑4๑ คิดและทำแบบสมถะ แต่อยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจตั้งใจที่อยากจะให้ผู้ซื้อหรือว่าผู้ที่ได้รับของ ทั้งเด็กๆ และผู้ซื้อได้รับและเห็นคุณค่า รวมถึงการมีคอนเน็คชั่นว่าได้ทำและได้รับสิ่งดีๆ ร่วมกัน จริงๆ ไม่ต้องเป็นนักออกแบบหรอกครับ ทุกคนก็ช่วยโลกได้

Q: แพลนอนาคตของ ๑4๑ เป็นอย่างไรบ้าง?

A: ในระยะ 6 เดือน นี้ โปรดักท์เดิมก็ยังจะทำต่อไป และจะมีโครงการใหม่ชื่อว่า One for One Craftroom ที่จะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำงานคราฟท์ร่วมกัน เพื่อให้ได้ใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน มาช่วยกันทำคนละเล็กคนละน้อย ให้ครอบครัวได้มีเวลาคุณภาพร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานด้วยกัน เพื่อเปิดศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของทั้งพ่อแม่และลูกๆ ที่สามารถทำของขึ้นมาได้ด้วยมือของเราเอง และพัฒนาไปสร้างสรรค์หรือลงมือทำสิ่งที่ยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น และมีประโยชน์ต่อ ครอบครัว ชุมชน และสังคมต่อไป

อ้างอิง: www.facebook.com/141SE
ภาพ: Ketsiree Wongwan

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles