เคยมีคำถามชวนคิดว่า ในฐานะสถาปนิก สถาปัตยกรรมสามารถแก้ปัญหาอะไรที่เปลี่ยนโลกได้หรือไม่? พอย้อนมองสิ่งรอบตัว มันอาจจะเริ่มที่พัฒนาคุณภาพชีวิตคนให้ยกระดับดีขึ้น อย่างง่ายคือ 1 ในปัจจัย 4 ซึ่งเรื่องที่อยู่อาศัยก็สามารถช่วยผู้คนบนโลกได้มากมาย หากมองปัญหาด้วยปัญญา ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนหนาก็ย่อมได้
แต่ในความเป็นจริง หลายแห่งในโลกยังขาดการเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพ เพราะต้นทุนด้านค่าแรง ราคาวัสดุ ที่การจะทำให้คนจนมีบ้านได้เองสักหลัง แต่ปัญหานี้มีอีกทางแก้ไขจาก 2 องค์กรจากสหรัฐอเมริกา บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ICON และองค์กรไม่หวังผลกำไร New Story ที่มุ่งแก้ปัญหาประเด็นที่อยู่อาศัย พวกเขาได้ทดลองทำบ้านต้นแบบในรัฐออสติน สหรัฐอเมริกา ด้วยการใช้แรงงานคนน้อย เวลาไม่นาน ในราคาหลังละ 4,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
ที่พวกเขาสามารถผลิตบ้านได้มีราคาน่าสนใจ เพราะใช้เทคโนโลยีจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือที่เราติดปากกันว่า 3D Printer ซึ่งมันสามารถพิมพ์บ้านด้วยซีเมนต์เป็นบ้านทั้งหลังในเวลา 24 ชั่วโมง กำลังของเครื่องพิมพ์สามารถพิมพ์บ้านขนาดย่อมแบบทาวเฮ้าส์ชั้นเดียวหลังเล็กในบ้านเราซึ่งมีพื้นที่ 56-74 ตารางเมตร นอกจากประหยัดด้วยการใช้เวลาก่อสร้างที่น้อย แต่มีอีกประเด็นคือลดการใช้วัสดุได้มาก เพราะทุกอย่างออกแบบมาให้พอดีจากการพิมพ์ซีเมนต์ จากที่เมื่อก่อนจะใช้วิธีการออกแบบให้ประหยัดด้วยการให้วัสดุเหลือการตัดเศษวัสดุน้อยที่สุด ในพื้นที่ขนาดนี้สามารถบรรจุพื้นที่ใช้สอยได้พอดีของการเป็นบ้าน ทั้งห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ เฉลียงรอบบ้าน
ทาง New Story มีแผนจะไปพิมพ์บ้านในประเทศเอลซัลวาดอร์ในปี 2019 ด้วยความหวังว่าจะพิมพ์ออกมาให้เป็นชุมชนเลยทีเดียว เนื่องจากประเทศแถบละตินอเมริกา มีผู้คนไร้บ้านจำนวนมาก และยังมีผู้คนอยู่ในสลัมราว 33 ล้านคน
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สามารถทำให้มนุษย์เราแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้พอดีได้ ด้วยการใช้น้อยลง เพิ่มประสิทธิภาพ เรื่องนี้คงเป็นต้นแบบให้จุดประเด็นต่อไปสำหรับการก่อสร้างในอนาคต
อ้างอิง: www.newstorycharity.org, www.iconbuild.com