Absorbed by Light เรากำลังถูกแสงไฟดวงน้อยดูดกลืนชีวิตกันรึเปล่า?

ภาพมนุษย์เมืองก้มหน้าก้มตาจดจ่ออยู่กับจอสมาร์ทโฟนแบบไม่แคร์โลก…ไม่ใช่ภาพอะไรที่แปลกใหม่สำหรับวัฒนธรรมเมืองยุคนี้ มันเป็นสัจธรรมความจริงที่เราเห็นกันจนชินตา

แต่ที่งานเทศกาล Amsterdam Light Festival ปีนี้ ศิลปินกลุ่มหนึ่งได้ทดลองฉายภาพชีวิตอันแสนคุ้นตานี้ออกมาเป็นงานปฏิมากรรมร่วมสมัย ซึ่งด้วยการจัดวางและการออกแบบระยะความรู้สึกที่ลงตัวแล้ว ผลงาน Absorbed by Light ก็กลับกลายเป็นงานศิลป์ที่เปลี่ยนภาพจำธรรมดาให้ผู้คนรู้สึก ‘ไม่ธรรมดา’ ขึ้นมาได้

Absorbed by Light เป็นผลงานสะท้อนความคิดสร้างสรรค์บนความร่วมมือของนักออกแบบสัญชาติอังกฤษ Gali May Lucas (จากสตูดิโอออกแบบ Design Bridge) กับปฏิมากรชาวเยอรมัน Karoline Hinz ที่นำแรงบันดาลใจจาก ‘ระยะกระอักกระอ่วน’ ภายในระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ ในวันที่เราต่างตกเป็นทาสของเทคโนโลยีอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

“สำหรับประเทศแถบยุโรป ในช่วงฤดูหนาวที่ฟ้ามืดเร็ว คุณจะเห็นภาพผู้คนในเมืองมีแสงเรืองรองส่องสว่างเป็นจุดๆ จากหน้าจอมือถือ ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหนแสงเรืองๆ นี้ก็จะปรากฏให้เห็นไปทั่ว ทั้งในสวนสาธารณะ ตามคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งบนรถจักรยานที่เคลื่อนที่อยู่ ซึ่งถ้าคุณเพ่งพินิจคิดตามดีๆ มันเป็นความรู้สึกที่หลอนทีเดียวล่ะ” Lucas มองว่าแสงจากหน้าจอมือถือนี้ยิ่งวันก็ยิ่งมีพลังครอบงำมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ

“มันดูจะกลายเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้คนเรารู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน ไม่เดียวดายว้าเหว่จนเกินไป แต่ในขณะเดียวกันมันก็กำลังทำให้เราพลัดพรากจากกันอย่างที่สุด เพราะความผูกพันระหว่างเรากับสมาร์ทโฟนทำให้เราตัดขาดจากชีวิตตรงหน้าไปอย่างหมดสิ้น”

ความพยายามที่จะสื่อสารความคิดนี้ให้เพื่อนร่วมโลกสัมผัสถึงชัดเจนในชีวิตจริง Gali Lucas ผู้ที่ปกติแล้วจะทำงานออกแบบสไตล์สองมิติจึงติดต่อไปยังปฏิมากร Karoline Hinz ให้มาช่วยกันรังสรรค์ผลงานแบบ real life ซึ่ง Hinz ก็ตอบตกลงและส่งงานปูนปั้นขนาดเท่าคนจริงมาให้ Lucas จัดแสดงในกรุงอัมสเตอร์ดัม โดยผลงานปูนปั้นของ Hinz นั้นมีเสน่ห์ตรงที่มันไม่ได้พยายามจะชี้นำทัศนคติเชิงบวกหรือเชิงลบใดๆ กับผู้พบเห็น มันมีความเป็นกลางและเป็นภาพชีวิตธรรมดาที่เปิดพื้นที่ให้กับ ‘การตีความ’ ทางความคิดอย่างมาก ชาวเมืองที่เข้ามาสัมผัสกับผลงานนี้จึงมีอิสระที่จะสร้างการรับรู้ของตนเองได้เต็มที่

Lucus กล่าวว่าในเวลาที่ผู้คนเข้ามานั่งใกล้ๆ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับรูปปั้นชุดนี้ เช่นมาถ่ายรูปเล่นด้วย พวกเขาก็จะพัฒนาไดอะล็อกหรือการเชื่อมโยงความคิดเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีที่มีต่อปฏิสัมพันธ์ในสังคม “เราไม่ได้ต้องการจะส่งสารชี้นำความคิดหรือกระตุ้นให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไร เราแค่อยากจะสร้างบทสนทนาเล็กๆ ให้ผู้คนได้คุยกับตัวเองผ่านการเชื่อมโยงสั้นๆ ที่เขามีกับงานศิลปะ มันเป็นการตั้งข้อสังเกตกับชีวิตที่กำลังดำเนินไปมากกว่าค่ะ” Lucus กล่าวสรุป

แต่สำหรับเรา เราคิดว่าผลงานเงียบๆ ที่ผู้สร้างไม่ได้ตั้งใจจะเอะอะโวยวายนี้ กลับจะสร้างแรงสั่นสะเทือนทางความคิดให้ผู้คนได้ลึกซึ้งกว่า ดังนั้นถ้าใครมีโอกาสท่องเที่ยวไปอัมสเตอร์ดัมในช่วงหยุดยาวปีใหม่ ขอแนะนำให้แวะไปชมงานนี้ในเมืองด้วย ทุกๆ ปี Amsterdam Light Festival เขาจะโชว์ผลงานความคิดสร้างสรรค์ที่ส่องสว่างบนท้องถนนรวม 30 ชิ้น ซึ่งปีนี้ Gali Lucas ถือเป็นนักสร้างสรรค์ที่อายุน้อยที่สุด และว่ากันว่างานของเธอเป็นตัวเก็งที่จะถูกถ่ายรูปลง IG มากที่สุดจากเทศกาลปีนี้ด้วย

อ้างอิง: Amsterdam Light Festival

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles