AIR-INK ปากกาและหมึกพิมพ์ ไอเดียดีๆ จากเขม่าท่อไอเสีย ผลิตใช้ได้จริงแล้ว!

ทุกสิ่งในโลกล้วนมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง เช่นเดียวกับเชื้อเพลิงที่เป็นแหล่งพลังงานให้มนุษย์มากว่า 150 ปี แต่ในขณะเดียวกัน การเผาไหม้ของเชื้อเพลงที่เกิดขึ้นก็สร้างมลพิษอย่างเขม่าควันให้แก่ชั้นบรรยากาศโลกด้วย

จากผลงานวิจัยระบุไว้ว่า ผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีผลโดยตรงมาจากควันที่อยู่ในอากาศ ในอเมริกาเอง อนุภาคเหล่านี้นำไปสู่การเสียชีวิตของคนอเมริกันราว 20,000 คนต่อปี และเป็นสาเหตุของผู้ป่วยโรคหืดเกือบ 300,000 ราย รวมทั้งยังทำให้เกิดปัญหาต่อระบบหายใจของผู้คนอีกจำนวนมาก แล้วเราจะลดปริมาณของเจ้าเขม่าควันเหล่านี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง?

Anirudh Sharma เริ่มต้นทดลองรีไซเคิลก๊าซ CO2 ตอนที่เขาเรียนอยู่ที่ MIT ที่นั่นเขาออกแบบอุปกรณ์สกัดคราบเขม่าจากเทียนไข และนำสิ่งที่ได้มาเป็นหมึกพิมพ์ ซึ่งผลงานนั้นเรียกได้ว่าถูกอกถูกใจบรรดานักอนุรักษ์และศิลปินไม่น้อย ซึ่งเมื่อมาพินิจพิจารณาแล้ว Anirudh ก็เริ่มเห็นความละม้ายระหว่าง CO2 จากเขม่าเทียนและเขม่าท่อไอเสีย และนี่คือที่มาของโครงการที่ชื่อ ‘AIR-INK’

เขาและทีมจาก Graviky Labs ที่เขาเป็นผู้ริเริ่มได้พัฒนา KAALINK อุปกรณ์ทรงกระบอกที่ถูกออกแบบมาให้สามารถเชื่อมต่อไปกับท่อไอเสียของรถยนต์ โดยฟังก์ชั่นของอุปกรณ์ดังกล่าวคือการดักจับเขม่าควันเพื่อไม่ให้อนุภาคคาร์บอนลอยสู่ชั้นบรรยากาศ จากนั้นจึงนำสิ่งที่ได้มาแยกโลหะหนัก คาร์ซิโนเจนหรือสารก่อมะเร็ง และฝุ่นออก จากนั้นจึงนำเอาเม็ดสีที่หลงเหลืออยู่มาบดเป็นผงและผสมเข้ากับตัวทำละลายและน้ำมันจนได้น้ำหมึกที่มีความเข้มข้นในระดับต่างๆ สำหรับรองรับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ โดย Anirudh เลือกเข้าไปเก็บก๊าซจากสองเมืองที่มี CO2 ปริมาณสูงทั้งในเดลีและบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย

ปัจจุบัน AIR-INK ถูกผลิตมาใช้งานจริงแล้วทั้งหมด 2 เวอร์ชั่น คือแบบปากกาซึ่งมีหัวขนาดต่างๆ และหมึกพิมพ์ โดยจากวันแรกจนถึงตอนนี้ AIR INK ผลิตหมึกได้กว่า 150 ลิตร หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือจำนวน 2,500 ชั่วโมง ของการเผาไหม้เครื่องยนต์ดีเซล

ใครจะคิดว่าควันพิษที่เคยสร้างปัญหาด้านสุขภาพแก่คนและนำไปสู่การเสียชีวิต จะถูกพลิกวิกฤตสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์และใช้งานได้จริง เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการผลิตงานศิลปะดีๆ เพื่อจรรโลงใจมนุษย์แล้ว AIR-INK ยังช่วยลดปริมาณการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศได้ในเวลาเดียวกัน

“เพราะพวกเราอยู่ในช่วงเวลาที่งานศิลปะไม่ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพียงเพื่อจรรโลงใจและมองสุนทรียภาพให้แก่ผู้ชมอย่างเดียวเท่านั้น แต่งานศิลปะยังสามารถต่อยอดและเป็นกระบอกเสียงในเชิงสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ซึ่งผมและทีมงานอยากให้ AIR-INK เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์นี้”


อ้างอิง:www.graviky.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles