ตลอดเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา ทั้งประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์จากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน จากท้องฟ้าใสๆ ที่เคยได้เห็น กลับถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นขมุกขมัวที่เราเข้าใจว่าคือหมอกยามเช้า และนี่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มตระหนักถึงวิกฤตการณ์ของปัญหามลพิษที่คืบคลานและสร้างผลกระทบโดยตรงต่อเราแบบถึงเนื้อถึงตัวกันเข้าแล้ว
แต่เอาเข้าจริง มลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมายาวนาน ซึ่งปัญหานี้ยังคงเป็นปัญหาคลาสสิคที่ทั้งองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาครัฐของหลายๆ ประเทศต้องทางออก อย่างล่าสุดกับการเปิดใช้เส้นทางบายพาส เซ็นทรัล-หว่านไจ๋ ที่มาพร้อมระบบฟอกอากาศเพื่อลดมลพิษภายในฮ่องกง ที่จะช่วยกรองฝุ่นและแยกอนุภาคที่เป็นอันตรายออกมาก่อนจะปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกมานอกระบบ หรือถ้าลองข้ามมาดูฝั่งยุโรป เราจะเห็นโครงการที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่ม Photo.Synth.Etica ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ecoLogicStudio, UCL’s Urban Morphgenesis Lab และ Synthetic Landscapes Lab จาก University of Innsbruck ในการสร้างสรรค์ ‘AlgaeClad System‘ หรือระบบที่ถูกออกแบบให้สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซค์ได้แบบเรียลไทม์ โดยสาหร่ายที่บรรจุอยู่ภายในตัว AlgaeClad System จะทำหน้าที่ดักจับและกักเก็บโมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ จากนั้นจึงทำการสังเคราะห์แสงจนได้ออกซิเจนบริสุทธิ์และปล่อยออกสู่อากาศ
ใน 1 โมดูล ของ AlgaeClad System ที่มีขนาด 16.2 x 7 เมตรนั้น จะสามารถดักจับปริมาณคาร์บอนได้ออกไซค์ได้เทียบเท่าต้นไม้ 20 ต้น หรือคิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ คือ 1 กิโลกรัม ต่อวัน ที่สำคัญคือแต่ละโมดูลถูกดีไซน์ให้มีลักษณะคล้ายกับผ้าม่าน ทำให้สามารถนำไปติดตั้งด้านหน้าอาคารแบบพร้อมใช้งานจริง โดยยังสามารถช่วยกรองแสง และแถมยังมีลวดลายกราฟิกที่ทำให้ facade หน้าอาคารดูมีแพทเทิร์นที่น่าสนใจและไม่รกหูรกตาอีกต่างหาก
แว่วว่าตอนนี้ตัวโปรโตไทป์ได้ถูกนำไปลองใช้จริงในหลายๆ ประเทศเพื่อทดสอบคุณภาพการทำงานกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากใช้งานได้และสัมฤทธิ์ผล เราก็คงมีโอกาสได้เห็นงานนี้กระจายไปตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การหันมาปลูกจิตสำนึกที่ดีในตัวมนุษย์ให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม รวมถึงมองส่วนรวมเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ก็น่าจะเป็นวิธีที่ยั่งยืนและเกิดผลในระยะยาวที่ดีกว่ามากเลยล่ะ
ภาพ: ©NAARO
อ้างอิง: www.ecologicstudio.com