‘อนุกูล ทรายเพชร’ กับธุรกิจเพื่อสังคม Folkrice แอพฯ ซื้อขายผลิตภัณฑ์อินทรีย์กับเกษตรกรโดยตรง

Reading Time: 3 minutes
9,418 Views

อนุกูล ทรายเพชร เริ่มต้นธุรกิจเพื่อสังคมของตัวเองในนาม Folkrice Ltd. ขึ้น เมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีเป้าหมายคือการกระชับระยะห่างระหว่างเกษตรกรและประชาชน ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายออนไลน์อันปราศจากพ่อค้าคนกลาง จนถึงปัจจุบัน เขาขยายขอบข่ายของสินค้าจากข้าวพื้นเมือง ไปสู่พืชพันธ์ชนิดต่างๆ เครื่องปรุงปลอดสารเคมี งานหัตถกรรมท้องถิ่น และจากผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายในยุคเริ่มต้น ณ ตอนนี้ Folkrice Ltd. มีเครือข่ายเกษตรกรกว่าร้อยราย อีกทั้งยังทำงานร่วมกับองค์กรต้นน้ำในการพัฒนาเกษตรกรและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ บทสนทนาต่อจากนี้ ไม่เพียงจะถ่ายทอดแก่นทางความคิดของธุรกิจเพื่อสังคมแห่งนี้ แต่รวมไปถึงแรงบันดาลและความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม โดยมีปลายทางคือสุขภาพที่ดี เศรษฐกิจที่มั่นคง และการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพด้วยเช่นกัน

Q: อะไรคือแรงผลักดันให้คุณทำแอพพลิเคชั่น Folkrice Mobile App.?

A: หลังจากเรียนจบคณะสหวิทยาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ผมก็ทำงานอาสาสมัครมาโดยตลอดประมาณ 2 ปี จนกลับไปอยู่บ้านที่สุรินทร์ ช่วงนี่แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดและรวบรวมขีดความสามารถของตัวเองว่าเราโตมากับอะไร อะไรคือจุดแข็งของเรา เราทำอะไรได้และไม่ได้บ้าง สิ่งที่พบคืออย่างแรก ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด โตมากับการเกษตร มีความสนใจเรื่องสุขภาพเพราะเคยประสบอุบัติเหตุตอน 8 ขวบ ทำให้ตาบอดไปข้างหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพสำคัญ ยิ่งได้มาเรียนคณะที่ใช้ความคิดแบบองค์รวมก็ยิ่งเปิดโลกทัศน์และเชื่อมโยงมุมมองที่หลายเข้าด้วยกัน มองเห็นว่าปัญหาใดปัญหาหนึ่งหรือความสำเร็จหนึ่งๆ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยแค่ปัจจัยเดียว เลยทำให้เราเริ่มคิดว่าการพัฒนาชุมชนก็เหมือนกัน จากตรงนั้น ผมได้ข้อสรุปคือ ผมอยากทำธุรกิจที่จะช่วยพัฒนาสังคม ผมสนใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม การเกษตร อาหาร และสุขภาพ ทุกอย่างนี้เลยถูกประมวลจนกลายเป็น Folkrice LTD. กิจการเพื่อสังคม



Q: Folkrice Mobile App. เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอะไร?

A: ผมพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลาง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะคิดแค่ว่าถ้าขายพ่อค้าคนกลางเราต้องขายให้ได้ราคามากที่สุด แต่ในตลาดการค้า พ่อค้าคนกลางไม่ได้มีคนเดียว เพราะฉะนั้นกว่าสินค้าจะถึงมือผู้บริโภค ราคาก็แพงกว่าต้นทุนไปหลายเท่าตัวแล้ว แอพพลิเคชั่นนี้จึงจะเข้ามาทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภคให้ใกล้กันมากขึ้น ลดทอนระยะห่างระหว่างคนสองฝั่ง เพื่อให้รายได้ที่แต่เดิมเคยอยู่ในมือคนกลาง กลับไปสู่ผู้ผลิตโดยตรง ขณะที่ผู้บริโภคเองก็มีโอกาสที่จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรมด้วย

Folkrice Ltd. ไม่ใช่บริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะทำธุรกิจแบบหากำไรไปเรื่อยๆ แต่เป็นธุรกิจที่เกิดมาจากลูกหลานชาวนาที่รวมตัวกัน แล้วสร้างเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสร้างช่องทางการตลาดขึ้นด้วยตัวเอง ขายสินค้าที่มีเรื่องราวของผู้ผลิต ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบท้องถิ่นให้เกิดขึ้นจริง

Q: ถ้าอย่างนั้น Folkrice Mobile App. ก็เป็นการสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรและผู้บริโภค?

A: ใช่ครับ เพราะว่าผู้บริโภคเองต้องการความสะดวก และบางท่านไม่สามารถไปช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าเพราะไม่มีเวลา รวมถึงสินค้าที่เป็นสินค้าอินทรีย์ก็ไม่ได้หาซื้อได้แบบทุกปากซอย เพราะฉะนั้นการเข้าถึงแบบออนไลน์และส่งตรงถึงหน้าบ้านจึงตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีเวลาและต้องการความสะดวก เราก็เลยลุกขึ้นมาโดยไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือกแต่คือ solution ในการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้


Q: สำหรับการเลือกเกษตรกรหรือว่าผู้ผลิต Folkrice Mobile App. มีเกณฑ์อย่างไร?

A: มี 2 แบบ ตอนนี้เรากำลังคุยกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นองค์กรต้นน้ำในการพัฒนาเกษตรกรและผลิตภัณฑ์ และเกษตรกรก็จะถูกพัฒนามาจากหลายๆ พาร์ทเนอร์นี้ โดยเกณฑ์หลักคือสินค้าในแพลทฟอร์มของเราจะต้อง holistic คือดีแบบองค์รวม ดีต่อคน ดีต่อธรรมชาติ ดีต่อชุมชนตัวเอง เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างจะกระทบกันหมด ไม่ใช่แค่โอเคสินค้าดีนะ หรือแค่มีสตอรี่ดูแลชุมชน แต่ต้องเป็นสินค้าที่รับผิดชอบสังคมได้ไปไกล ไกลกว่าค่าตัวผู้ผลิต ซึ่งนั่นจะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยและจะนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศนี้ด้วย

Q: ช่วยยกตัวอย่างผู้ผลิตที่ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นได้ไหม?

A: สำหรับสินค้าที่เลือกขึ้นมาก็อย่างเช่น แบรนด์ ‘กินเปลี่ยนโลก’ (www.food4change.in.th) ซึ่งแบรนด์นี้พยายามสื่อสารที่ให้คนเห็นความสำคัญในเรื่องเครื่องปรุงที่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับเครื่องปรุงตามท้องตลาด ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเขาจะถูกผลิตมาจากชุมชนที่ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลหรือน้ำตาลอ้อยที่มาจากการปลูกอ้อยออร์แกนิก แล้วเอามาเคี่ยวจนเกิดน้ำตาล เกลือที่มาจากแหล่งเกลือซึ่งไม่ใช้สารฟอกขาว โดยเกลือจะมีรสออกหวาน หรือหมูในจังหวัดน่านที่เรากำลังพัฒนาแบรนด์ร่วมกับเกษตรกรรุ่นไหม โดยชักชวนเขาให้หันมาเลี้ยงหมู ทดแทนการปลูกข้าวโพดที่ต้องทำลายป่า เพราะการเลี้ยงหมู มีข้อดีอย่างแรกคือรายได้ที่ดีกว่า สองคือไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ไม่ต้องทำลายป่า เป็นหมูที่เลี้ยงแบบปล่อย ซึ่งทำให้หมูที่เลี้ยงได้ออกกำลังกาย ไม่เครียด และได้กินอาหารที่ดี โดยจะมีการกระจายรายได้ไปในครอบครัวต่างๆ ได้ด้วย เช่น ใครอยากเลี้ยงก็เลี้ยงคนละเล้า 2 เล้า ก็สามารถทำได้

Q: นอกจากการพัฒนาทางฝั่งผู้ผลิตแล้ว ในด้านของผู้บริโภค Folkrice Ltd. ได้สร้างช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลเช่น การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมี หรือเพราะอะไรราคาจึงสูงกว่าท้องตลาด บ้างไหม?

A: แน่นอนว่าผู้บริโภคต้องการของดีราคาถูก แต่ถ้าคุณไม่เริ่ม ให้เกษตรกรเริ่มอยู่ฝ่ายเดียว เราก็จะไม่เจอคำว่าพอดีทางการตลาด ถ้าถามว่า เมื่อไหร่ของออร์แกนิกจะมีราคาถูกลง สิ่งที่ทำได้ก็คือเราต้องหันมาซื้อกันให้มากขึ้น แล้วระบบการจัดการก็จะทำให้คุณได้ราคาถูกลง เพราะทุกวันนี้คนในสังคมไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์นะที่บริโภคอาหารออร์แกนิก ความต้องการน้อยมาก ถามว่าทำไมความต้องการน้อย ผมเห็นข้อจำกัด 2-3 อย่าง อย่างแรก อาจจะเป็นเรื่องรายได้ แล้ว priority ของอาหารออร์แกนิกอยู่หลังๆ ของฟุ่มเฟือยต่างๆ ซึ่งเราเข้าใจว่าพวกคุณไม่เคยคุยเรื่องนี้กันในสังคม สองผู้บริโภคมีช่องทางที่จะเข้าถึงน้อยในเมืองใหญ่ๆ ถ้าไม่ใช่ในกรุงเทพฯ ก็แทบจะไม่มีช่องทางเข้าสู่อาหารออร์แกนิกหรือว่าอาหารที่ปลอดสารเคมี มันไม่ได้ถูกแยกออกจากอาหารชนิดอื่น

เพราะฉะนั้น ทางแก้ในในขั้เริ่มต้นที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลที่ประโยชน์กับตัวเองได้ ผมคิดว่าผู้บริโภคน่าจะต้องลุกขึ้นมาคุยกันก่อน และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ ตั้งคำถามว่าอะไรที่ดีสำหรับคุณ อย่าให้โฆษณามาบอกว่าอะไรดีกว่า ต้องคุยกันให้เข้าใจก่อนว่าที่มาของอาหารว่าแบบไหนที่ดีและไม่ดี อาหารออร์แกนิกคืออะไร หรือปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมีเป็นอย่างไร สินค้านี้สนับสนุนชุมชนแบบไหน ไปสร้างฐานทรัพยากรอย่างไร ผมอยากให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากๆ ซึ่งการตัดสินใจของผู้บริโภค จำนวนเป็นล้านคนมีผลต่อการพัฒนาเกษตรกรรมในชนบททั้งสิ้น ขณะเดียวกัน การที่ผมชวนให้หันสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ เรื่องที่มาที่ไปของอาหารก็เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างจะกลับมาซัพพอร์ตชีวิตคุณ บริษัทที่คุณทำงานอยู่นั่นแหละ ถ้าทุกคนดูแลประเทศด้วยกัน ช่วยกันซัพพอร์ตกันจนกว่าเขาจะโต วันหนึ่งเราจะไปสู่จุดคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งผมคาดหวังว่าสังคมจะเติบโตในทิศทางนี้ด้วย


Q: ตอนนี้มีผู้ผลิตที่เข้าร่วมใน Folkrice Mobile App. เท่าไหร่?

A: ตอนนี้มีประมาณ 5 องค์กรเครือข่ายพัฒนาเกษตกรที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานร่วมกัน ส่วนในเครือข่าย Folkrice ก็มีผู้ผลิตประมาณ 100 ราย ที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่

Q: นอกเหนือไปจากข้าวพื้นเมืองแล้ว มีสินค้าอย่างอื่นอีกบ้างไหม?

A: นอกจากข้าวพื้นเมือง ก็จะมีเครื่องปรุง เมล็ดพันธุ์ ผักผลไม้ พืชตระกูลหัวต่างๆ เช่น กระเทียม หอมแดง ตอนนี้กำลังเพิ่มหมวดแฟชั่น ซึ่งเราเรียกว่า Folk Fashion เช่น ผ้าพื้นเมืองที่เราชวนดีไซเนอร์ลงไปช่วยในเรื่องการออกแบบ โดยมีผ้าพื้นเมืองเป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บ รวมถึงมีแบรนด์ท้องถิ่นที่จะทำเสื้อผ้า Folk Fashion

Q: แบบนี้ Folkrice Ltd. ดำเนินธุรกิจโดยใช้เงินทุนจากไหน?

A: ผมโตมาจากธุรกิจซื้อมาขายไป เพราะฉะนั้นในการขายของ เมื่อได้กำไรก็เอามาพัฒนา สองผมรับดูแลระบบไอทีซัพพอร์ตให้กับบริษัทต่างๆ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ทำงานด้านเกษตร

Q: ถ้านับตั้งแต่การเริ่มต้น ก็ 4 ปีแล้วที่ Folkrice Ltd. ก่อตั้งขึ้น ตอนนี้มีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน และมีคนกลุ่มไหนบ้าง?

A: มีเยอะพอสมควรเลย ทั้งผู้บริโภครายบุคคล และตอนนี้มีร้านอาหารในเมืองใหญ่ๆ สนใจอยากเปลี่ยนมาใช้สินค้าออร์แกนิกมากขึ้น โดยเชฟของร้านก็จะเข้ามาปรึกษา ทางเราก็ให้สตอรี่ไปทุกๆ สินค้าเพื่อสร้างความเข้าใจในของแต่ละผลิตภัณฑ์

Q: สิ่งที่เรียนรู้จากการทำ Folkrice Ltd.?

A: สิ่งที่พบก็คือเมื่อเราทำธุรกิจ เราจะต้องผ่านภาวะการเอาตัวรอด จนบางทีกลายเป็นหลงลืมสิ่งดีๆ ที่เป็นแก่นในยุคเริ่มต้น เริ่มหลงประเด็น การที่ผมยืนอยู่ตรงนี้มา 4 ปี ผมได้ข้ามจุดที่เรียกว่าชนะใจตัวเองไปแล้ว สิ่งที่เรียนรู้คือชัยชนะระดับตัวเอง ผมยังไม่ชนะใครหรอก แต่ว่าไม่เคยแพ้นายทุน ผมมองว่าวันหนึ่ง ถ้าสังคมมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ผมมองเห็น ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายผมไม่เบานะ (ยิ้ม)

Q: ใครเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดและทัศนคติคุณบ้าง?

A: ทุกๆ คนที่เข้ามาในชีวิตผม คนที่มาสอนและให้บทเรียนในแต่ละช่วงวัย ประสบการณ์ชีวิตในหลากหลายจุดซึ่งในประสบการณ์นั้นๆ ก็จะมีคนที่เป็นต้นแบบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงในตอนเด็กที่ทำให้เรารู้จักกับเรื่องการเกษตร คุณแม่ที่เป็นทั้งโค้ชและหมอดู (หัวเราะ) เหมือนรู้ทุกอย่างว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตบ้าง คุณครูประถม หรือแม้กระทั่งคุณตาของผมเองที่มีบทบาทและเป็นต้นแบบในฐานะลูกชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ท่านเป็นทั้งนักดาราศาสตร์และนักประดิษฐ์ ทุกคนเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมาทำ Folkrice Ltd. ผมผ่านชุดประสบการณ์และความเจ็บปวดมาไม่น้อย เห็นความเจ็บปวดนั้นมาตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้คือทุกคนที่อยู่ในชีวิต พวกเขาไม่ได้คิดเพื่อตัวเองคนเดียว
แต่คิดเพื่อคนอื่น เพื่อสังคม เพื่อโลก

Q: มองอนาคตของ Folkrice Ltd. ไว้อย่างไร?

A: ในระยะสั้นคือการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและระบบให้แก่เกษตรกรได้ใช้ พยายามทำให้ดี ใช้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการทำหน้าที่กระจายสินค้าให้กับผู้บริโภคในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ให้ได้ทานกันก่อนและชักชวนให้หันมากินของเหล่านี้เยอะขึ้น

ส่วนในระยะยาวมากๆ เราอยากสร้าง Food Security Eco System โดยพยายามลงทุนเพื่อที่จะตอบสนองลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าที่ดี และต้องการสนับสนุนสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งสังคมในความหมายของผมรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ท้องถิ่น ทรัพยากร และพืชพันธุ์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ นี่คือสิ่งที่ Folkrice Ltd. จะทำ



ภาพ: Maneenoot Boonrueang, Folkrice.com
อ้างอิง: Folkrice.com


ING
ING
อดีตนักเขียนและบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะและพิลาทิส II After receiving her bachelor degree of art from the Faculty of Archaeology, Silpakorn University in Bangkok, Sudaporn worked as a contributing editor and editorial manager at art4d magazine, a Bangkok-based architecture, design and art magazine from 2004-2017. At present, Sudaporn is working as freelance writer and storyteller contributing various kinds of features from art, design, architecture, graphic, social entrepreneur and healthcare. She is also certified yoga instructor, certified Balanced Body® mat and reformer pilates instructor plus Polestar Pilates trained instructor where she establish her inner peacefulness and self-awareness through the practices and teaching.