ทุนการศึกษาในรูปแบบที่อยู่อาศัย และการดีไซน์เพื่อประโยชน์สูงสุด

‘การศึกษาคือการสร้างสรรค์และจรรโลงความก้าวหน้าทางวิทยาการ เป็นส่วนสำคัญของการก่อร่าง ถ่ายทอด และสืบสานองค์ความรู้ที่เกื้อหนุนให้คนและสังคมหนึ่งๆ มีความเจริญงอกงาม’ นิยามข้างต้นไม่ได้เป็นเพียงการให้ความหมายของคำว่า ‘การศึกษา’ แต่คือต้นขั้วทางความคิดของโครงการ ‘AP Space Scholarship’ นี้ด้วย โดยโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง ‘AP Design Lab’ และดีไซน์สตูดิโอสัญชาติอิตาเลี่ยน ‘FABRICA’ ที่เลือกเปิดโอกาสทางด้านการศึกษาในรูปแบบที่ต่างออกไป ผ่าน ‘จำนวนตารางเมตร’ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่พักอาศัย ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าเดินทาง ตลอด 1 ปีเต็ม ให้แก่น้องๆ เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 7 คน ที่กำลังจะย้ายมาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ

ไม่ต่างไปจากนักศึกษาทั้ง 7 สมาชิกในทีมออกแบบ ไม่ว่าจะจาก AP Design Lab หรือ FABRICA เองต่างก็มีต้นกำเนิดและปูมหลังทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน ทว่าสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือประสบการณ์ในการเป็นนักศึกษาและการเปลี่ยนผ่านของช่วงชีวิตจากวัยรุ่นสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พวกเขาจึงโยนคำถามจากประสบการณ์ที่เจอมาว่า “เป็นไปได้หรือไม่ หากเราจะออกแบบพื้นที่แห่งการแบ่งปัน พร้อมๆ กับการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อาศัย?” และคำถามดังกล่าวก็ถูกคลี่คลายไปสู่พื้นที่อาศัยภายใต้แนวคิด ‘SUM’ ที่รวมความหลากหลายของรูปแบบชีวิต อุปนิสัย กิจกรรม และประโยชน์ใช้สอยให้อยู่ร่วมกันอย่างพอดี โดยที่อิสระของผู้อยู่อาศัยไม่ได้ถูกริดรอนไปแต่อย่างใด

พื้นที่อาศัยที่เกิดขึ้นได้ยึดโยงเอาฟังก์ชั่นใช้สอยอันหลากหลายให้ปรับเปลี่ยนได้ตามรูปแบบการใช้ชีวิตและกิจกรรม โดยคำนึงถึงความสะดวกสบาย ปลอดภัย และประโยชน์สูงสุดของเด็กๆ เป็นสำคัญ เป็นต้นว่า การออกแบบให้มีพื้นที่พักคอยเพื่อให้เด็กๆ ใช้เวลาในการปรับโหมดจากความวุ่นวายภายนอกสู่จังหวะเนิบช้าและสงบลง การติดตั้งราวเหล็กรอบห้องและใช้เฟอร์นิเจอร์แบบแขวน ทั้งชั้นวางของ ตู้เก็บของ รวมทั้งตะขอสำหรับแขวนสิ่งของต่างๆ ในการสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกันของพื้นที่ การเปิดโล่งบริเวณห้องนั่งเล่นเพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่นและการอยู่ร่วมกัน ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็ยังมีอิสระในการทำกิจกรรมของตัวเองได้ด้วย หรือการออกแบบห้องนอนที่บรรจุเตียงนอนจำนวน 2 เตียง ให้มีระดับและทิศทางต่างกัน เพื่อให้แต่ละคนมีความเป็นส่วนตัว แม้จะอยู่ในห้องนอนเดียวกันก็ตาม รวมไปถึงมุมอ่านหนังสือที่สามารถใช้เวลาส่วนตัว โดยมีการเพิ่มฉากกั้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวเมื่อต้องการ

‘AP Space Scholarship’ นับเป็นการสร้างพื้นที่แห่งการอยู่ร่วมกัน แม้จะอยู่ไกลจากบ้านเกิด แต่พวกเขายังสามารถรู้สึกถึงความเป็นบ้าน เป็นพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริม สื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และคงจะไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ‘ผลรวม’ ของสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นผ่านโครงการนี้เป็นการเรียบเรียงองค์ประกอบอันหลากหลายให้สามารถเติมเต็มและเพิ่มคุณค่าได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ โดยมีปลายทางคือประโยชน์จากการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้จริงของเด็กๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่พวกเขาสามารถเติบโตในมิติของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างมีคุณภาพด้วย












อ้างอิง: AP Design LabFABRICA

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles