‘อาริยะ คำภิโล’ เพจสุขภาพและธุรกิจสร้างประโยชน์ Jones’ Salad

คุณลุงตัวโต มีหนวด ท่าทางใจดี ที่มาพร้อมมุกฮาๆ กับสารพันปัญหาด้านสุขภาพ คงจะเป็นภาพที่ใครหลายคุ้นตากันดีเมื่อเราเอ่ยถึงคุณลุง Jones แห่งเพจ ‘Jones’ Salad’ การเดินทางมากว่า 2 ปี ไม่ได้มีแค่ความบันเทิงและสาระเท่านั้น แต่ถนนสายที่ ‘กล้อง – อาริยะ คำภิโล‘ ตัดให้ลุง Jones คนนี้ดำเนินเดินทางมาได้จนวันนี้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย และบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือเรื่องราวอันเข้มข้นปนเสียงหัวเราะของเขาทั้งคู่

Jones’ Salad เพจสุขภาพที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจให้ธุรกิจสร้างประโยชน์ให้คนอื่น

“จุดเริ่มต้นของเพจ Jones’ Salad ถ้าพูดติดตลกก็เริ่มต้นจากความเสียวไส้ เพราะผมเปิดร้านขายสลัด แล้วก็ขายดี เราเองก็คิดว่าแล้วจะขายดีแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน เพราะผมเคยเจอประสบการณ์การทำธุรกิจที่ขายดี แล้วก็โดนไล่ที่ หรือธุรกิจเริ่มดร็อปลง ต้องเปลี่ยนธุรกิจใหม่เรื่อยๆ ซึ่งเราเองในฐานะคนทำธุรกิจก็อยากให้มีความมั่นคง จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปฟังสัมมนาซึ่งมีประโยคหนึ่งที่จำขึ้นใจเลยคือ การที่ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น ธุรกิจจะต้องสร้างประโยชน์ให้แก่คนอื่นด้วย วันนั้นมุมมองการทำงานก็เปลี่ยนไปเลย ผมเริ่มกลับมาดูว่าแล้วรากธุรกิจของเราเป็นอย่างไรล่ะ ร้าน Jones’ Salad ก็เกี่ยวกับสุขภาพหนิ เลยมาคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราลองทำคอนเท้นต์ที่ทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้นไหม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อีกทางหนึ่งนอกเหนือไปจากการทำธุรกิจหลักของเรา โดยตัวเพจนี้ เริ่มทำในช่วงปี 2016 หลังจากที่ทำร้าน Jones’ Salad ดำเนินมาได้ประมาณ 2 ปี”

วันที่คนในสายเศรษฐศาสตร์ต้องมาจับเม้าส์เล่าเรื่องผ่านคาร์แร็คเตอร์ลุง Jones

“ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รู้สึกแค่ว่าอยากเล่าเรื่องในสไตล์ของตัวเราเอง โดยเริ่มต้นจากการไปคุยกับนักโภชนาการและได้ความรู้ขึ้นมาว่า ทำไมบางคนพยายามลดน้ำหนัก กินน้อยก็แล้ว แต่ไม่ยอมผอมสักที เราได้ข้อมูลตรงนั้นมา เราก็อยากจะเอามาเล่าให้สนุกเป็นสไตล์ของตัวเรา แต่รู้สึกว่าถ้าเป็นเนื้อหาล้วนๆ บางทีคนอาจจะเบื่อ เลยพยายามใส่เรื่องราวบางอย่างเข้าไป จำได้ว่าตอนนั้นคอนเซ็ปต์ที่เป็นอัลบั้มแบบที่ต้องมีรูปหลายๆ รูปต่อกันกำลังฮิต ชุดแรกที่ทำไปมี 70 กว่ารูป ทั้งที่จริงๆ ผมเรียนมาทางเศรษฐศาสตร์และทำกราฟิกไม่ได้เป็นเลยนะ (หัวเราะ) แต่พอทำ AI ได้นิดหน่อย ตอนแรกก็ให้ญาติที่รู้จักกันช่วยวาดให้ก่อน ถ้าลองสังเกต จะเห็นว่าช่วงแรกๆ หน้าลุง Jones จะไม่เหมือนกับปัจจุบัน ซึ่งพอเรามาทำก็ออกมาประมาณแบบ Power Point จับวางๆ อะไรแบบนั้น โดยคอนเซ็ปต์ก็คือเราอยากเล่าเรื่องคล้ายๆ เป็นนิทานไปแต่ละช่องๆ และหยิบเอาคาร์แร็คเตอร์ลุงแกมาใช้ จนกลายเป็นเรื่องของลุง Jones กับการดูแลสุขภาพ เริ่มจากให้ลุงมาในเวอร์ชั่นมนุษย์ยุคหิน เล่าเกี่ยวกับไขมันต่างๆ โดยผูกเรื่องให้สนุกสนานแต่ยังได้สาระอยู่ พอปล่อยออกไปฟีตแบ็คกลับมาคือคนชอบและแชร์ต่อ เลยทำให้มีคนรู้จักเพจมากขึ้น”

จากประเด็นลดน้ำหนักสู่ความรู้สุขภาพแบบเชิงลึก

“ตอนเริ่มต้น เราโฟกัสที่เรื่องการลดน้ำหนัก การกินอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนสนใจค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว แต่เมื่อทำมาสักพัก เราเริ่มรู้สึกว่าเนื้อหาเริ่มซ้ำเรื่องเดิมๆ เลยเริ่มกระจายไปเรื่องสุขภาพโดยรวมมากขึ้น ทั้งโรคต่างๆ กินอาหารแบบไหนแล้วมีความเสี่ยงในการเกิดโรคบ้าง บางเรื่องจะเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพในช่วงเวลานั้นๆ เช่น ไขมันทรานส์ หรือถ้าบางสถานการณ์ก็ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ แต่เป็นเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เราพยายามเอาตรงนั้นมาดูว่ามีมุมมองไหนที่เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพได้บ้างไหม แล้วใส่มุกฮาให้คนอ่านแล้วยิ้มได้ลงไป แต่แน่นอนว่าเรื่องความรู้เฉพาะทางแบบนี้ผมไม่สามารถรู้ทุกเรื่อง ดังนั้น เรื่องที่เป็นความรู้เชิงลึก ก็จะส่งให้เพื่อนซึ่งเป็นคุณหมอช่วยในการตรวจข้อมูล รวมทั้งมีการรีเสิร์ชด้วยตัวเองด้วย เพื่อให้คอนเท้นต์ที่ได้มีความถูกต้องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือการทำงานในช่วงแรก ซึ่งการทำตนเดียวก็เหนื่อยมาก (หัวเราะ) แต่ก็สนุกมากเหมือนกัน ตอนนี้เมื่อขึ้นปีที่ 2 ก็มีนักโภชนาการและกราฟิกดีไซน์มาประจำแล้ว ทุกอย่างก็จะเป็นระบบและเนื้อหาก็แน่นมากขึ้น”

‘เป็นประโยชน์ น่าสนใจ เข้าถึงความรู้สึกผู้อ่าน’ สาม KPI ก่อนลุง Jones จะออกโรงเล่าเรื่องสุขภาพ

“มาตรฐานของเนื้อหาที่เพจ Jones’ Salad ตั้งเป้าเอาไว้ เรื่องแรก ทุกคอนเท้นต์จะต้องเป็นประโยชน์ ถ้าเรื่องไหนเนื้อหาที่คนอ่านเสร็จปุ๊บแล้วเขาสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาของเขาได้เลย นั่นคือคือคอนเท้นต์ที่มีคุณภาพ แต่ในปัจจุบันคอนเท้นต์ในโลกออนไลน์มีเยอะมาก นั่นเลยทำให้เราต้องตั้ง KPI ข้อ 2 เพราะคอนเท้นต์ดีอย่างเดียวไม่พอแล้ว แต่ต้องทำเนื้อหาให้มีความน่าสนใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำอินโฟกราฟิกหรือตัวการ์ตูนมาใช้ การเล่าเรื่องต่างๆ การหยิบสถานการณ์หรือเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลามาล้อกับเนื้อหา แต่ไม่ได้เป็นการไปเสียดสีนะครับ เราจะพยายามทำให้น่าติดตาม ติดตลก เพื่อดึงดูดคนให้อยากเข้ามาอ่านหรือรับชมมากขึ้น ข้อสามการหากิมมิกที่จะเข้าไปอยู่ในหัวใจคนอ่านและคนดู อาจไม่ใช่ทุกคอนเท้นต์นะที่ทำได้แบบนั้น แต่บางทีก็ต้องมีบางอย่างในบางเนื้อหาที่ไปขยี้ความรู้สึกเขานิดหนึ่ง อาจจะมีดราม่าบางอย่างที่คนซึ่งมีความรู้สึกร่วมตรงนั้นอยู่ แต่เราหยิบมาเล่าในอีกมุมหนึ่งที่เป็นประโยชน์และได้อะไรจากเนื้อหานั้นๆ ไปได้ด้วย อย่างเช่น ตอนนั้นมีเรื่องท่านประวิตร วงษ์สุวรรณ งีบหลับในที่ประชุม เราก็วาดท่านประวิตรตามภาพที่ออกมาหน้าสื่อนี่แหละ แต่เราเล่าเรื่องประโยชน์ของการงีบหลับจะช่วยเรื่องอะไรบ้าง (หัวเราะ)”

‘มิติ สีสัน และอารมณ์ขัน’ เสน่ห์ที่เอาใจคนอ่านได้อย่างอยู่หมัด

“ผมคิดว่าเอกลักษณ์ของ Jones’ Salad คือเป็นเพจไม่กี่เพจที่พูดเรื่องมีสาระ แต่สนุก ซึ่งส่วนมากเพจสายตลก เขาก็จะตลกไปเลย เอาจริงๆ คือเราก็ไม่สามารถตลกแบบเขาได้ (หัวเราะ) เราไม่ได้เก่งขนาดนั้น ขณะที่เพจสุขภาพจริงๆ จังๆ ก็เยอะมากเหมือนกัน ซึ่งเราเหมือนเอาสองข้อดีนี้มาผสมกัน เราจะศึกษาให้ครอบคลุมทั้งหมด ก่อนจะเอาประเด็นสำคัญมานำเสนอ ก็คือเหมือนกับเป็นเรื่องสุขภาพที่อ่านแป๊บเดียว ดูรูป ดูอินโฟกราฟิก ก็เก็ตได้เลยง่ายๆ อีกเรื่องก็คงจะเป็นอารมณ์ขันที่ส่งผ่านลุง Jones ที่เราให้แกเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพนั้นๆ เพราะฉะนั้นคนอ่านจะเห็นภาพลุงที่แตกต่างไปตามหัวข้อนั้นๆ เดี๋ยวลุงก็อยู่ในยุคหิน เดี๋ยวอ้วน เดี๋ยวผอม เดี๋ยวบึกบึน”

ซึ่งการสร้างมิติและสีสันแบบนี้แหละที่ทำให้การสื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายของ Jones’ Salad สนุกและน่าติดตาม แต่ยังคงสาระสำคัญของเรื่อง “โดยส่วนตัว วิธีการที่ใช้ตลอดก็คือ ศัพท์ใดก็ตามที่ยากและต้องอธิบายยาวๆ เราจะใช้วิธีเปรียบเทียบให้คนเห็นภาพง่ายๆ ผ่านลุง Jones แน่นอนว่าเราทำให้ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็จะมีทั้งการเปรียบเทียบแบบเกรียนๆ กับแบบจริงจัง เช่น เรื่อง Growth Hormone การที่เราจะอธิบายว่าฮอร์โมนตัวนี้ทำงานอย่างไร เราก็ใช้วิธีเปรียบเทียบว่า ฮอร์โมนตัวนี้เป็นเหมือนศาสดาของโปรตีน ทำเป็นรูปผี Steve Jobs ขึ้นมา แล้วให้โปรตีนเป็นผู้นับถือ Growth Hormone ที่ไม่ว่าจะพูดอะไรก็ตาม โปรตีนก็ทำตาม แบบนี้ เป็นต้น ผมรู้สึกว่าคนที่เข้ามาอ่านไม่ได้จะต้องนำความรู้เหล่านี้ไปสอบ แต่สามารถเข้าใจภาพรวมได้ง่ายขึ้นเพื่อเป็นความรู้ติดตัวในการดูแลตัวเองได้แบบนั้นมากกว่า”

เมื่อความรู้คืออาหารสมอง

“ที่จริงผมว่าตอนนี้ คนในเพจมีความรู้มากขึ้นเยอะเลย ถ้าวัดง่ายๆ ก็เทียบได้จากตอนผมเริ่มทำเพจใหม่ๆ ตอนนั้นคำถามที่อินบ็อกซ์มาตลอดเลย เช่น กินอันนี้อ้วนไหมครับ และเป็นคำถามในเชิงความเชื่อ เช่น วิ่งเสร็จแล้วนั่งก้นจะใหญ่ไหม แต่หลังจากที่ทำเพจมาได้ 2 ปี คำถามที่เข้ามาเริ่มต่างออกไป คำถามจะเจาะลึกมากขึ้น เพราะคนเข้าใจพื้นฐานเรื่องสุขภาพแล้ว และเมื่อคนมีความรู้มากขึ้น รู้ว่าอะไรที่ดีและไม่ดี คนไทยจึงตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนอาหารไทยจะเน้นรสหวานมากกว่านี้ แต่พอคนกินหวานน้อยลง ร้านต่างๆ ก็ปรับให้ความหวานน้อยลงเช่นกัน หรือคนเริ่มปรุงรสชาติให้น้อยลง เท่าที่สังเกตนะครับ แต่แน่นอนคงไม่ได้ทั้งหมดเพราะคนไทยก็ยังป่วยเยอะ ซึ่งพฤติกรรมที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคโอเคขึ้นเยอะเลย ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถทำแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ อีก 5-10 ปี ข้างหน้าปัญหาสุขภาพน่าจะลดลง ซึ่งหลายๆ ส่วนคงต้องช่วยกันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้”

แค่ข้อมูลที่ถูกต้องอาจไม่พอ

“ในฐานะคนทำสื่อ จริงๆ ช่วงหลังๆ ผมว่ามีสื่อดีๆ ออกมาเยอะขึ้นนะ เช่น เพจเช็คก่อนแชร์ หรือ ชัวร์ก่อนแชร์ ที่คนก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากช่องทางเหล่านี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปเปิดงานวิจัยและยังปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคด้วย แต่ปัญหาคือคนส่วนมากไม่ค่อยจะไปเช็คอะไรพวกนี้หรอก ยิ่งถ้าเป็นงานวิจัยยิ่งไม่เช็คใหญ่เลย จริงๆ ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ทำสื่อก็เลยรู้สึกว่า โอเค ผู้ผลิตเองก็ต้องทำอะไรที่ถูกจริตกับคนเสพที่มีสาระ สนุก และน่าติดตามมากกว่าที่มาเป็นวิชาการจ๋าๆ เลย ต้องพยายามปรับให้คอนเท้นต์ของเราให้น่าติดตามขึ้นด้วย”

แข่งกับใครไม่สู้แข่งกับตัวเอง

“ในความคิดผม การจะ engage คนอ่านในโลกที่คอนเท้นต์มากมายแบบนี้ ก็คือการพัฒนาตัวเองเสมอ อย่าง Jones’ Salad เอง เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ อย่างช่วงแรกๆ ผมทำอินโฟกราฟิกหรือสรุปข้อมูลก็จะยังไม่ได้เก่งหรือคล่องเท่าปัจจุบัน แต่เมื่อเราทำบ่อยๆ เนื้อหาก็จะคมขึ้น เห็นภาพและแก่นกว้างมากขึ้น ผมว่าจริงๆ คือการแข่งกับตัวเองมากกว่า เมื่อเราเก่งขึ้น ชำนาญขึ้น ผลงานดีขึ้น คนเขาก็เลือกเสพสิ่งที่เขารู้สึกว่าดี ย่อยง่าย มีประโยชน์ จนถึงตอนนี้ เราก็พยายามทำของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีฟอร์แมตใหม่ๆ เป็นวิดีโอ อินโฟกราฟิกที่เคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นมา นอกเหนือไปจากการนำเสนอแบบที่เคยมีมาแล้ว”

เส้นชัยคือจำนวนคนป่วยที่น้อยลง

“สิ่งที่คาดหวังเลยคืออยากให้คนป่วยน้อยลง นี่คือความตั้งใจแรกที่เริ่มทำเพจ คำถามตอนนี้คือประโยชน์ที่เราจะให้คนอื่นคืออะไร เราอยากให้คนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง ไม่ได้มองเรื่องการตลาดเป็นเรื่องสำคัญ แต่อยากจะสร้างชุมชนของคนรักสุขภาพ อยากเห็นคนรักสุขภาพเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเราก็แฮปปี้มากแล้ว ถึงตอนนี้ ผมเองค่อนข้างดีใจ ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะเราคนเดียวที่อยู่ในสมการนี้ แต่หลายๆ คนช่วยกันทำ ทำให้ผลลัพธ์คือคนมีความรู้เรื่องสุขภาพเยอะขึ้นมากๆ แต่สิ่งหนึ่งที่คาดหวังเพิ่มเติมก็คืออยากให้คนเสพสื่อมีการคิดวิเคราะห์และเปิดใจมากขึ้น ยกตัวเองง่ายๆ เรื่องวิธีลดน้ำหนัก ก็มีด้วยกันหลายวิธี ตั้งแต่คลีนแบบจ๋าๆ เลย หรือสูตรกินวันละ 6 มื้อ อดอาหารแบบมีหลักการ สักพักมามีคีโต จริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แต่ละสายก็มีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป แต่คนไทยจำนวนมากเวลาเสพข้อมูลที่มีความเห็นต่าง ก็จะไม่ค่อยมีการรับฟังว่าเรื่องที่นำเสนอนั้นต่างอย่างไร เขาจะมีความเป็นแฟนคลับค่อนข้างมาก ศรัทธาในสิ่งที่เขาเชื่อโดยที่ไม่ได้มองแบบรอบด้าน ซึ่งส่วนตัวผมเชื่อว่าทุกสูตรดีในแบบตัวเองและเป็นหนทางที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือรูปร่างและสุขภาพที่ดีขึ้น ตอนนี้ก็เลยคาดหวังให้คนอ่านมี critical thinking มากขึ้นด้วย”

กำลังใจจากความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ

“ความสุขของผมคือเมื่อมีคอนเท้นต์หนึ่งมาแล้วปังมาก ดีมาก ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เฉพาะแค่คอนเท้นต์อย่างเดียว การคิดเมนูใหม่ๆ มาแล้วลูกค้าชอบ ก็เป็นความสุขแล้ว ผมรู้สึกว่าความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละที่เป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เราค่อยๆ ก้าวต่อไปและมีความสุขกับงานไปเรื่อยๆ”

สิ่งที่ตั้งเป้า เมื่อตั้งใจ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล

“คติหนึ่งที่ผมยึดถือมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งจริงๆ เรียบง่ายมาก คือผมมีความเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำอะไรจริงๆ ทุกอย่างจะสำเร็จได้ พอมี mindset ประมาณนี้ เลยทำให้ผมกล้าที่จะทำอะไรก็ได้เลย อย่างตอนเริ่มต้นทำเพจ ผมก็ลุยทำคอนเท้นต์การ์ตูน 70 หน้า ทั้งๆ ที่วาดการ์ตูนไม่เป็น วาดตอนแรกก็เอากราฟิกที่เป็นโลโก้อยู่แล้วมาทำเป็นลุง Jones แบบงงๆ มาแปะ (หัวเราะ) ผมคิดว่าเพราะ mindset ตรงนี้ที่ทำให้เรากล้าทำอะไรและทำแบบจริงจัง จนทุกอย่างเป็นรูปร่างขึ้นได้แบบนี้”

คน คือทรัพยากรที่มีคุณค่า

“จากประการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่างานใหญ่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ อย่างเพจ จะให้ผมทำคนเดียวแบบในช่วงแรกไปเรื่อยๆ ถามว่าได้ไหม ก็ได้แต่ก็จะเหนื่อยมาก เพราะงานแต่ละส่วนก็จะมีรายละเอียดที่เป็นความรู้เฉพาะทาง เป็นเรื่องความถนัด ซึ่งถ้าทำคนเดียวต้องใช้เวลาเยอะและบางอย่างเราไม่ได้เชี่ยวชาญเท่าคนที่ร่ำเรียนมาสายตรง ซึ่งการจะหาคนเก่งๆ มาร่วมงานก็ยากเหมือนกัน ผมว่าหางานมันก็เหมือนหาแฟน ตัวเขาเองก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีสำหรับเขา ตรงนั้นเราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือการทำงานในส่วนของเราให้มีคุณภาพมากที่สุด เราต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง สร้างคอนเท้นต์ที่ดีและมีประโยชน์เพื่อที่ว่าอย่างน้อยสิ่งนี้อาจจะดึงดูดให้คนเหล่านี้สนใจมาทำงานกับเรา และคนที่เหมาะสมเมื่อมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม นั่นคือทรัพยากรที่มีค่าที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน”





ภาพ: Zuphachai Laokunrak, Facebook: JonesSaladThailand
อ้างอิง: Facebook: JonesSaladThailand

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles