ข้ามถนนอย่างมีศิลปะกับโปรเจ็กต์ ‘ศิลปะ พา ข้าม’ ที่ทำให้การข้ามถนนสนุกยิ่งขึ้น

ใครผ่านไปแถวสยามสแควร์ซอย 1-3 น่าจะสะดุดตากับทางเดินข้ามถนนที่ไม่ได้ใช้แค่สีสันสดใส แต่ยังเป็นลวดลายตัวการ์ตูนเหมาะกับวัยใสที่มักมาเตร็ดเตร่กันอยู่ในละแวกนั้น จริงๆ แล้ว ทางเดินข้ามถนนที่เปลี่ยนจากทางม้าลายธรรมดาสีขาวดำเป็นลวดลายและสีสันอื่นๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะเราเห็นในต่างประเทศทำกันมาหลายที่แล้ว แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งก็ทำออกมาได้น่าสนใจไม่เบา

โปรเจ็กต์นี้มีชื่อว่า ‘ศิลปะพาข้าม’ ผลงานของคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บมจ.ทีอีโอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยจุดเริ่มต้นความคิดนั้นไม่ต่างจากในต่างประเทศนักที่ต้องการนำเอาศิลปะมาปรับปรุงทางเดินข้ามถนนเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสังเกตเห็นทางข้ามนี้ได้ชัดเจน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนด้านความปลอดภัย เพราะเมื่อทางข้ามเห็นได้ชัด สวยงามน่าใช้ คนเดินถนนก็ย่อมต้องอยากมาใช้ทางข้ามนี้ แถมผู้ขับขี่รถที่แล่นผ่านไปมาก็ยังสังเกตเห็นจุดที่ควรลดความเร็วได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นไปได้มากว่าน่าจะช่วยลดอุบัติเหตุ (ถ้าไม่ไปเซลฟี่กันอยู่บนทางข้ามนั้นจนเพลิน)

นอกจากศิลปะบนทางข้ามในสยามแสควร์ที่มีงานออกแบบอยู่ในคอนเซ็ปต์ “สนามเด็กเล่นของเมือง” จากการร่วมมือกับศิลปิน 2choey แล้ว ทีมงานก็ยังสรรสร้าง “ศิลปะพาข้าม”​ ขึ้นมาอีกแห่ง คือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยคราวนี้ผลงานออกแบบทางข้ามที่เป็นลายคีย์บอร์ดสีขาวฟ้าบนเปียโน และมีสัตว์ประหลาดน่ารักน่าชังโผล่ออกมา เป็นฝีมือของนักศึกษาธรรมศาสตร์เอง ซึ่งก็แน่นอนว่าพวกเขาไม่ลืมที่จะใส่สีให้สัตว์ประหลาดเหล่านั้นอยู่ในโทนเหลืองแดงอันเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยอันน่าภาคภูมิใจของพวกเขา

อ้างอิง: Facebook: Healthy Space Forum, www.pmcu.co.th

Tunyaporn Hongtong

ธันยพร หงษ์ทอง นักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ อดีต Arts & Feature Editor ของ Esquire (Thailand), Travel Editor/Feature Editor ของ Wallpaper* (Thailand) และ Co-Editor ของ art4d magazine ที่ผ่านมา ธันยพรยังมีผลงานวรรณกรรมตีพิมพ์ออกมา 2 เล่ม คือ 'ระหว่างทางกลับบ้าน' (ตุลาคม 2558) และ 'อาจารย์หมา' (กันยายน 2560) และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บอนไซ (Bonsai Books)

See all articles