Art Moves Festival คือเทศกาลงานแสดงศิลปะบนพื้นที่สาธารณะในเมืองทอรูน ประเทศโปแลนด์ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายปี จากแนวคิดที่จะนำเอางานศิลปะให้มาใกล้ชิดชุมชน และเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองที่เคยเห็นบิลบอร์ดเป็นเพียงสื่อโฆษณาให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการนำเสนอผลงานศิลปะ ซึ่งการแสดงงานลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยม มีแนวโน้มจะเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก เช่น เตหะราน, เม็กซิโก, ปารีส, ลอสแอนเจลิส, นิวยอร์ค รวมทั้งที่เมืองทอรูนนี้ด้วย ทางผู้จัดเชื่อมั่นว่ากิจกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีเพื่อขับเคลื่อนสังคม และในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 11 แล้ว
แต่ละปีทางคณะผู้จัดงานจะเปิดหัวเรื่องในประเด็นที่แตกต่างกันไป เชื้อเชิญศิลปินนานาชาติให้นำเสนอผลงานของตนเข้าประกวด ศิลปะบนบิลบอร์ดนั้นเป็นการต่อต้านงานสื่อโฆษณาสินค้าและการตลาด ปฏิเสธแนวคิดสังคมบริโภคเปิดพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ รวมถึงเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สังคม แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนกระแสบริโภคของโลกได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนลงได้ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะดึงคนให้เข้ามามองปัญหาต่างๆ ร่วมกัน เช่น หัวข้อของปีที่แล้วว่าด้วย “Involvement and responsibility. Can each of us co-create a better world?” มีศิลปินนานาชาติ 442 คน จาก 61 ประเทศ เช่น ยูเครน, สหรัฐฯ, จีน, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, อังกฤษ, อิหร่าน, อิตาลี ฯลฯ ร่วมส่งผลงานมากมาย 800 ชิ้น และผลงานของศิลปินที่ได้รับรางวัลชนะเลิศปีก่อนนั้นคือ Alessandro Di Sessa ด้วยการออกแบบฟ้อนท์สื่อสารความหมายซ้อนคำที่ขยายภาพได้อย่างมีคุณค่า ส่วนเทศกาลประจำปีนี้จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2561 นี้เป็นต้นไป มีศิลปิน 562 คน จาก 76 ประเทศทั่วโลกร่วมส่งผลงานจำนวน 1,024 ชิ้นงานเข้าประกวด โดยทางผู้จัดงานตั้งหัวข้อใหม่ว่า “Who governs our lives: we ourselves, other people or algorithms?” ซึ่งได้ประกาศผลผู้ชนะรางวัลเรียบร้อยแล้วได้แก่ Ying Hsiu, Chen i Hsiang, Chen จาก ไต้หวัน
เป็นเรื่องที่น่าคิด ภายใต้โลกปัจจุบัน ชีวิตที่เรามักเข้าใจว่าเราออกแบบชีวิตเราเอง, เพื่อนบ้าน, สังคมของเราอยู่นั้น..มันใช่แน่หรือ, ชีวิตเรามีอิสระมากน้อยแค่ไหนหรือเราอยู่ภายใต้การควบคุมของใครอื่น บางทีอาจเป็นกลไกของระบบใดสักอย่าง, โปรแกรมและเทคโนโลยีที่กำลังสอดแนมเข้ามาในชีวิตคอยสอดส่องกำกับพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว ทั้งหมดนั้นคงไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจน งานสร้างสรรค์เชิงศิลปะจึงทำหน้าที่เสมือนกระตุ้นให้เราฉุกคิดในประเด็นที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน แม้อาจกำลังตกเป็นเหยื่อของระบบใดๆ ที่จ้องคอยจะเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลาก็ตาม