‘Ashoka’ องค์กรเปลี่ยนโลกผู้สร้างสรรค์นวัตกรเพื่อมวลชน

Ashoka ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคมด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง’ Ashoka องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนี้ถูกก่อตั้งขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2523 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาภาคสังคมที่ประชาชนมีความเข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมด้วยตนเอง Ashoka ขยายงานไปในประเทศต่างๆ โดยเริ่มทำงานในเมืองไทยเมื่อปี 2532 และจดทะเบียนเป็นมูลนิธิตามกฎหมายเมื่อปี 2547 วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณสินี จักรธรานนท์ ผู้อำนวยการ Ashoka Thailand หรือมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) ถึงที่มาที่ไป แนวคิด ตลอดจนเส้นทางการแสวงหา ‘ผู้ประกอบการสังคม’ และการสร้างเครือข่ายของคนเหล่านี้ในการแก้ไขปัญหาสังคมเชิงโครงสร้าง ด้วยนวัตกรรมสังคมที่สร้างสรรค์

Q: ก่อนที่เราจะมาเรียนรู้เรื่องราวขององค์กรอย่าง Ashoka เราอยากจะถามถึงภูมิหลังของคุณสินีเรื่องการศึกษาและการทำงาน ตลอดจนความสนใจในเรื่องกิจกรรมทางสังคม?

A: พี่เรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นคนรุ่นโบราณ รุ่น 14 และ 6 ตุลาฯ ที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย เติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย จากสมัยที่ประเทศไทยยังปกครองด้วยรัฐบาลทหารและพัฒนามาถึงยุคประชาธิปไตย กิจกรรมที่ทำสมัยเป็นนักศึกษาเป็นงานอาสาสมัคร ออกค่ายพัฒนาชุมชน ชมรมบริการโลหิต สอนหนังสือในสลัม เรื่อยไปจนถึงการเข้าไปทำงานกับชุมชนในชนบท สิ่งที่ทำเหล่านี้เป็นความรักความชอบอยู่ในสายเลือดเลยทีเดียว ประกอบกับวิชาที่เรียนมา ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ปรัชญา หรือศิลปการละครที่คณะอักษรศาสตร์ ช่วยให้เรามีมุมมองที่กว้าง สนใจชีวิตผู้คน และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม พี่มีโอกาสได้ทำงานกับเด็ก ผู้หญิง ผู้อพยพชาวอินโดจีน และกลุ่มคนต่างๆ ที่ด้อยโอกาส ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงเรื่องการพัฒนาอาชีพและการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

Q: แล้วองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Ashoka มีที่มาที่ไป แนวคิด และจุดประสงค์อย่างไร?

A: Ashoka เป็นองค์กรที่พยายามเปลี่ยนโลก เริ่มจากผู้ก่อตั้งคือ Bill Drayton ที่เป็นทั้งนักคิด นักเคลื่อนไหวทางสังคม และนักวิชาการ เขาเคยทำงานกับองค์กรภาครัฐ และภาคธุรกิจ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรม Bill เรียนเศรษฐศาสตร์และปรัชญาที่มหาวิทยาลัย Oxford จบกฎหมายจาก Yale และเรียนบริหารธุรกิจที่ Harvard เขาสร้าง Ashoka จากความคิดที่ว่า ในขณะที่โลกซีกหนึ่งคือภาคธุรกิจมีทรัพยากรมากมายและมีความเข้มแข็ง โลกอีกซีกหนึ่งคือภาคสังคมยังอ่อนแอและต้องการการดูแล ทำอย่างไรเราจึงจะใช้ทรัพยากร เช่น ทุน ความรู้ เครื่องมือ และเทคโนโลยีแบบที่ภาคธุรกิจมีมาแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม ที่สำคัญต้องมีคนที่มีลักษณะเหมือน ‘ผู้ประกอบการ’ คือมีวิสัยทัศน์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่น มีทักษะในบริหารจัดการ และเป็นคนดี มาเป็นผู้นำการแก้ไขปัญหา จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นระบบ กระทบโครงสร้างของปัญหา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสังคมดีขึ้น Bill จึงเริ่มค้นหาคนที่มีลักษณะดังกล่าวที่เขาเรียกว่า ‘ผู้ประกอบการสังคม’ โดยเริ่มจากอินเดีย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Ashoka อันเป็นพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้หันเหจากการทำสงครามมาพัฒนาสวัสดิการสังคม Bill เชื่อว่าอินเดียเป็นประเทศใหญ่ที่มีปัญหาสังคมซับซ้อน และมีผู้นำที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนจำนวนมาก เขามองหาคนที่มีแนวคิดใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ผู้นำที่ต่อสู้แบบหัวชนฝาหรือเป็นผู้มีอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นเขาเดินทางต่อไปประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา เพื่อค้นหาและสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการสังคมที่กำลังแก้ไขปัญหาสังคมที่ซับซ้อนในชุมชนของตน ความคิดเรื่อง ‘การประกอบการสังคม’ ของ Bill Drayton ได้รับการยกย่อง เขาได้รับรางวัลจากมูลนิธิ Catherine T. McArthur และนำเงินที่ได้ไปพัฒนา Ashoka ซึ่งเริ่มจากองค์กรเล็กๆ มีคนทำงาน 3-4 คน มาเป็นองค์กรระดับโลกที่ทำงานใน 70 กว่าประเทศและมีผู้ประกอบการสังคมในเครือข่ายกว่า 3,000 คน

Q: เชื่อแน่ว่าจนถึงตอนนี้ อาจยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักกับคำว่า Social Enterprise หรือ กิจการเพื่อสังคม อยากให้คุณคุณสินีช่วยขยายความคำคำนี้ให้เข้าใจมากขึ้นหน่อยได้ไหม?

A: Social Enterprise ในความเข้าใจของพี่คือการนำโมเดลธุรกิจมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนขององค์กร หรือเป็นธุรกิจที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสังคม ที่มีผลกำไร และสามารถนำผลกำไรนั้นมาพัฒนาธุรกิจต่อไปอย่างมั่นคง Ashoka ลงทุนและสนับสนุนคนที่เรียกว่าผู้ประกอบการสังคมที่แก้ไขปัญหาสังคมด้วยรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็น Social Enterprise หรือ ‘กิจการเพื่อสังคม’ แต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีปัญหาสังคมเชิงโครงสร้างที่สำคัญ เช่น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ไม่มีตลาดทางธุรกิจที่ชัดเจน จึงไม่สามารถพัฒนาแนวคิดหลักเป็นธุรกิจได้ นอกจากการขายสินค้าจากชุมชน เช่น อาหาร ผ้าทอ หัตกรรม ฯลฯ เป็นการหารายได้มาทำงาน

Q: แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการสังคมเหล่านี้เข้มแข็งมากพอที่จะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในสังคม?

A: Ashoka เชื่อว่าความคิดที่สร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาแบบกัดไม่ปล่อยของพวกเขาแต่ละคน บวกกับความร่วมมือของคนประเภทเดียวกันที่กำลังแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ในเครือข่ายที่ Ashoka พยายามสร้าง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้เข้มแข็งและพัฒนางานของตนให้กว้างไกล

Q: แล้วบทบาทหน้าที่ของ Ashoka คืออะไร?

A: Ashoka เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่อง ‘การประกอบการสังคม’ (Social Entrepreneurship) ด้วยการค้นหาผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur) ที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือ ’นวัตกรรมสังคม’ เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างเครือข่ายของคนเหล่านี้ การทำงานของ Ashoka มี 3 ระดับ คือ 1. สนับสนุนผู้ประกอบการสังคม ด้านเงิน ข่าวสารข้อมูล และเครือข่าย 2. ส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการสังคมที่ทำงานในประเด็นที่ต่างกัน เพื่อให้มีความเข้มแข็งและสามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการสังคมที่เป็นสมาชิก Ashoka แก้ไขปัญหา 5 ประเด็น คือ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สิทธิมนุษยชน สุขภาพ และเศรษฐกิจ และ 3. สร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคธุรกิจ ภาคสังคมและภาครัฐ เพื่อสร้างกลไกสนับสนุน เช่น กองทุน เครื่องมือ ความรู้ และเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ประกอบการสังคมและภาคประชาชนเข้มแข็ง

หลังจากทำงานตามแนวคิดนี้มา 30 กว่าปี Ashoka เห็นว่าปัญาสังคมในโลกทวีความรุนแรงและรวดเร็วขึ้น เราไม่สามารถรอให้ผู้ประกอบการสังคมเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสังคมแต่เพียงอย่างเดียว เราจำเป็นจะต้องสร้างระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนทุกคนในโลก เกิดแรงบันดาลใจ มีพลัง มีทักษะและความสามารถในการเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคม (Changemakers) ได้ วิสัยทัศน์ของ Ashoka คือ Everyone A Changemaker หรือ ‘ทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง’

Q: วิธีการทำงานของ Ashoka เริ่มต้นจากอะไร ถ้าสมมติว่ามีใครสักคนที่สนใจจะทำงานเกี่ยวกับสังคม เขาสามารถเดินเข้าไปหาและขอคำปรึกษาเลยได้ไหม?

A: งานหลักของ Ashoka Thailand คือการสนับสนุนผู้ประกอบการสังคมหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Ashoka Fellow ตามที่กล่าวมาแล้ว ในแต่ละปีเราจะเปิดรับการเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น Ashoka Fellow และจัดกระบวนการพิจารณาคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเข้ามาเป็นสมาชิก เรายังจัดกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกในรูปแบบต่างๆ ตลอดปี เช่น การประชุมประจำปี การเสวนา การพัฒนาทักษะ และโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสมาชิก ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมี School of Changemakers ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำโครงการเพื่อสังคมในประเด็นที่ตนเองสนใจ โดยอาจใช้โมเดล Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคมมาสร้างรายได้ โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาคจากองค์กรทุนเพียงอย่างเดียว หรือไม่ใช้ก็ได้ โครงการนี้เปิดรับทุกคนที่สนใจ รวมทั้งคนที่ต้องการเป็นอาสาสมัครมาช่วยงาน เป็นโค้ชช่วยคนรุ่นใหม่พัฒนาโครงการเพื่อสังคม เป็นวิทยากรในการฝึกอบรม หรือต้องการสนับสนุนงานของเราในรูปแบบที่ตนเองสนใจ ติดตามงานของเราได้ทาง Ashoka Thailand Facebook และ www.thailand.ashoka.org และ www.schoolofchangemakers.com

Q: ตอนนี้ Ashoka มีพนักงานและสมาชิกประมาณกี่คน?

A: ตอนนี้เรามีสมาชิกที่เรียกว่า Ashoka Fellow ประมาณ 100 คน มีผู้เข้าร่วมโครงการ School of Changemakers หลายร้อยคน และมีคนทำงานในองค์กร 7 คน ซึ่งนับว่าไม่มาก แต่เรามีอาสาสมัครและทำงานร่วมกับพันธมิตรหลากหลายองค์กร รวมทั้งมหาวิทยาลัย องค์กรภาคสังคม องค์กรภาคธุรกิจ และองค์กรรัฐ เพราะฉะนั้นหลายโครงการจะทำงานในลักษณะของความร่วมมือ ช่วยกันคิด และแบ่งงานกันทำ เรียนรู้และพัฒนางานร่วมกัน

Q: ด้วยประสบการณ์ทำงานในภาคสังคมมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณสินีเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยบ้าง?

A: มองจากมุมของงานที่พี่ทำ ในด้านหนึ่งโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัญหาสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ ทำให้เกิดความเชื่อมโยง ทำให้โลกแคบลง ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้คนในโลกสามารถรับรู้ปัญหาสังคมและผลกระทบที่มีต่อตนเองได้รวดเร็วขึ้น เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ สงคราม ตอนที่เราเป็นเด็กไม่รวดเร็วอย่างนี้นะคะ ดังนั้นปฏิกริยาตอบโต้ และการรับมือดู เหมือนจะมีมากขึ้น พี่เห็นว่าสังคมไทยมีคนที่ให้ความสนใจและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี มองจากด้านบวก social network เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เป็นเครี่องมือที่มีประโยชน์ในการส่งต่อข่าวสารและการระดมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ทำให้คนเล็กๆ ในสังคมสามารถร่วมมือกันลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาการแก้ไขปัญหาของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว จึงอยากเรียกร้องเชิญชวนให้คนที่สนใจแต่ยังไม่ได้ลงมือทำเข้ามาพูดคุย หาโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยการทำงานกับเรา เรารักที่จะทำงานกับคนในส่วนต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ที่มองโลกในแง่ดี และเชื่อมั่นว่าสังคมไทยยังมีทางออกที่ก้าวหน้า

Q: หลังจากที่คุณสินีและ Ashoka มีโอกาสได้ทำงานกับผู้ประกอบการสังคมในประเทศไทย มองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งอะไรบ้าง และควรจะเสริมและสนับสนุนด้านไหนบ้าง?

A: เป็นคำถามที่ดีมาก เราต้องคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา บทบาทของผู้ประกอบการสังคมที่ Ashoka ทำงานด้วย คือการแก้ไขปัญหาสังคมที่ซับซ้อน ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมทุกด้าน เช่น ด้านการศึกษา สิทธิในการเข้าถึงกฎหมาย และสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่างๆ เราเรียนรู้จากการทำงานและประสบการณ์ของ Ashoka Fellows ในประเทศไทยและทั่วโลกว่า เราจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือเพื่อนำเอาแนวคิด ทรัพยากร ความรู้ และเครื่องมือใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยคนในแต่ละภาคส่วนมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นจึงต้องสร้างการยอมรับหลากหลาย ต้องพัฒนาภาษาและวิธีการในการสื่อสารของคนที่แตกต่าง และที่สำคัญต้องสร้างความไว้เนื้อเชี่อใจของคนในแต่ละภาคส่วน การสร้างการเปลี่ยนแปลงจึงจะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เข้มแข็ง และมีพลัง เรายังต้องการผู้นำที่ใจกว้างและมีทักษะในการประสานรอบทิศมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสังคมทุกคนยังทำงานหนัก ยังต้องการการยอมรับ กำลังใจ และการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งเงินทุนและความร่วมมือจากคนในสังคม ตลอดจนองค์กรภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

Q: อะไรคือความสุขของการทำงานด้านสังคมที่ทำให้คุณสินียังคงสานต่อมาจนถึงทุกวันนี้?

A: เพื่อนร่วมรุ่นจากคณะอักษรศาสตร์ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ เพราะเขาสามารถไปทำงานที่ได้เงินมากกว่า มีอาชีพที่มั่นคง สำหรับพี่ ในความไม่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ กลับมีความมั่นคงทางจิตใจ เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุขและอยู่ได้ พี่โชคดีที่ครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ สามีทำงานภาคธุรกิจบอกพี่ว่า ‘ทำไปเถอะ งานที่เธอทำเป็นสิ่งที่ดี’

ภาพ: Ashoka Thailand Facebookwww.thailand.ashoka.org , Ketsiree Wongwan

บันทึก

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles