ร.ร. พอดี พอดี บ้านหนองบัว รองรับแผ่นดินไหว สร้างง่าย ราคาถูก ด้วยวัสดุท้องถิ่น

สถาปัตยกรรมเป็นส่วนสำคัญให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอย่างสะดวกสบาย มีความมั่นคงทางจิตใจ แต่เมื่อสถาปัตยกรรมไม่มั่นคง ตัวมันเองก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการกำเนิดมันได้ อย่างกรณีที่เกิดภัยพิบัติ เช่นแผ่นดินไหว สถาปัตยกรรมได้พังทลายลง ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปรกติได้ แต่ถ้าหากเรามีสถาปัตยกรรมที่เตรียมพร้อมรองรับภัยพิบัติ สามารถทำในรูปแบบไหนได้บ้าง

‘โรงเรียน พอดี พอดี บ้านหนองบัว’ เป็น 1 ใน 9 โครงการที่ตอบสนองการแก้ปัญหาจากแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงรายเมื่อปี 2557 โดยทาง D4D หรือ Design for Disasters เป็นกลุ่มที่เข้าไปทำการช่วยเหลือ พร้อมกับการเชิญทีมสถาปนิกให้ความช่วยเหลือทางการออกแบบสถาปัตยกรรม พร้อมกับความช่วยเหลือจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่นงานโรงเรียนบ้านห้วยส้านยาวที่ทางเว็บเคยเสนอไปก่อนนี้ โดยโรงเรียน พอดี พอดี บ้านหนองบัว ได้ทีมสถาปนิกจาก Junsekino Architect and Design รับหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรม

สถาปนิกตีโจทย์จากความต้องการที่ทางโรงเรียนรองรับเด็กอายุ 5-10 ขวบ ต้องการพื้นที่ใช้สอยหลักคือห้องเรียนจำนวน 4 ห้อง แต่ละห้องขนาด 48 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่ส่วนรวมไว้ทำกิจกรรมร่วมกัน การออกแบบพื้นที่ภายในจึงเป็นห้องเรียนที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยในวันหน้าได้ง่ายตามกิจกรรมการเรียนการสอนระหว่างครูและนักเรียน ผนังถูกออกแบบให้มีจังหวะทึบสลับโปร่งหลายส่วนจากผนังระแนง  เพื่อการระบายอากาศที่ดี ลดการใช้เครื่องกลในการระบายอากาศ

จากนั้นนำโจทย์มาออกแบบภายใต้เงื่อนไขที่ต้องรองรับปัญหาแผ่นดินไหว ด้วยการใช้โครงสร้างเป็นเหล็กที่ออกแบบให้ไม่เกร็งตัว หรือ non-rigid structure เพื่อให้โครงสร้างสามารถไหวตัวได้เมื่อมีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ไม่เกิดความวิบัติต่ออาคาร

สำหรับเงื่อนไขด้านวัสดุ นอกจากการใช้โครงสร้างเหล็กที่ขาส่งง่าย สามารถสร้างได้รวดเร็วเพราะเป็นระบบแห้ง การใช้วัสดุอื่นๆ ก็สำคัญเช่นกัน แนวคิดเรื่องการประสานทางพิกัดถูกนำมาใช้กับผนังแผ่นซีเมนต์ให้มีเศษวัสดุน้อยที่สุด เมื่อต้องมีส่วนเหลือจริงๆ มันก็ถูกออกแบบให้เป็นชั้นเก็บของ พื้นที่ภายในโรงเรียนมีแสงสว่างเข้าถึงอย่างเพียงพอจากการดึงแสงธรรมชาติเข้ามาด้วยผนังโพลีคาร์บอเนตแบบขุ่นและหลังคาลอนโปร่งแสงตรงกลาง ทำให้โรงเรียนไม่มีซอกมืดให้เกิดความหดหู่สำหรับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังออกแบบด้วยการใช้วัสดุท้องถิ่นอย่างไผ่เข้ามาประกอบ เพราะหาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาถูก ช่างในท้องถิ่นสามารถสร้างได้

งานซีรีย์โรงเรียน พอดี พอดี เป็นงานที่น่าสนใจทุกชิ้น มีการแก้ปัญหาที่ต่างกันไปตามการตีโจทย์ของสถาปนิก คุณภาพสามารถพาไปถึงระดับนานาชาติได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งใดๆ  คือสถาปัตยกรรมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ได้อย่างไร โรงเรียน พอดี พอดี บ้านหนองบัว เป็นคำตอบที่สามารถเห็นได้ด้วยตัวเราแล้ว

 

อ้างอิง: www.junsekino.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles