‘เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา’ ปรัชญาศาสนาสอดแทรกในทุกอณูของชิ้นงาน

ปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลายๆ คนมักจะส่ายหัวหลีกเลี่ยงการเดินทาง แม้กระทั่งคนท้องถิ่นบางคนก็เลือกที่จะย้ายถิ่นฐานจากปัตตานีไปเผชิญชีวิตในที่ที่เขาคิดว่าจะปลอดภัยกว่าแต่คุณเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา (เอ็ม) ตัดสินใจเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อสร้างโรงงานผลิตเซรามิกภายใต้แบรนด์ ‘เบญจเมธา’ ธุรกิจครอบครัวที่สมาชิกทุกท่านมีความเสมอภาค ผ่านปรัชญาแนวทางการออกแบบที่นำหลักคำสอนของศาสนาอิสลามมาถ่ายทอดลงบนชิ้นงานได้อย่างลงตัว

Q : ก่อนจะก้าวมาเป็น เซรามิคเบญจเมธา คุณเอ็ม ทำอะไรมาก่อน

A : ผมจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม สาเหตุหลักที่เลือกเรียนสาขานี้ เพราะส่วนตัวชอบแนวคิดการทำงานที่ต้องใช้สมองทั้งสองด้าน ทั้งในส่วนของงานเชิงสร้างสรรค์ และการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ฟุ้งไปกับการทำงานมากนัก หลังจากจบการศึกษาก็เดินทางไปศึกษาต่อด้านศิลปะประยุกต์ที่ L’Ecole des Beaux-Arts de Versailles และจบด้านออกแบบเฟอร์นิเจอร์ จาก L’Ecole nationale supérieure des Arts-Décoratifs de Paris ประเทศฝรั่งเศส กลับมาทำงานเป็นนักออกแบบอิสระให้กับ พี่เป้ (อุดม อุดมศรีอนันต์) Planet 2001 ในขณะที่ทำงานก็มีโอกาสได้เริ่มสัมผัสกับงานเซรามิก แล้วรู้สึกหลงใหลในศาสตร์ทางด้านนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยมีพื้นฐานทางด้านนี้มาก่อน แต่เมื่อใจชอบก็ไม่สายเกินไปที่จะเลือกทางเดินเส้นนี้ โดยตัดสินใจถอยหลังให้กับเมืองกรุงมุ่งหน้าสู่ปัตตานี แผ่นดินบ้านเกิด สร้างโรงงานเซรามิคแห่งแรกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

Q : อะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของคุณ

A : เชคริฎอ อะหมัด สมะดี ผู้รู้นักวิชาการ ท่านเป็นครูผู้ถ่ายทอดความรู้ศาสนาที่ถูกต้อง และเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงานศิลปะภายใต้หลักการและกรอบศีลธรรมของศาสนาอิสลาม อีกท่านคือครูปัทม์ แก้วงอก ครูผู้ถ่ายทอดวิชางานปั้นเซรามิกสไตล์ญี่ปุ่นและสุนทรีย์ในศาสตร์เซรามิกคนแรก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเดินในเส้นทางสายนี้ รวมไปถึงครอบครัวอันเปรียบเสมือนพลังที่ช่วยผลักดันให้เกิดงานเซรามิกบนพื้นที่ที่ไม่มีใครรู้จักงานด้านนี้มาก่อน

Q : เบญจเมธา มีแนวคิดในการทำงานอย่างไร

A : ครอบครัวผมเป็นมุสลิม ในช่วงต้นผมก็ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความหมายของอิสลามเป็นอย่างไร จนกระทั่งได้มีโอกาสศึกษาอย่างจริงจังจึงได้พบว่า หลักคำสอนที่แท้จริงที่มีหนึ่งเดียว รายงานคำสอนที่มีข้อพิสุทธ์ที่มาของหลักฐานความรู้ทั้งหมด ที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากความต้องการกิเลสของมนุษย์มากมาย ผนวกกับการทำงานศิลปะเชิงปรัชญาควบคู่กับหลักคำสอนของอัลอิสลามที่กล่าวว่า มนุษย์คนแรก “อดัม” มีต้นกำเนิดมาจากดิน สิ่งมีชีวิตต่างๆพืชผักผลไม้น้ำฝนก็มาจากดิน ตอนสิ้นชีวิตทุกอย่างก็จะกลับคืนย่อยสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินทั้งหมด ทั้งหมดจึงก่อเกิดเป็นสโลแกนของการทำงานของครอบครัวเบญจเมธาว่า “มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน”

ถ้าเราพิจารณาให้ดีจะรู้ว่าดินในแต่ละท้องที่ก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เปรียบเสมือนสิ่งต่างๆบนโลกใบนี้มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน “ไม่มีอะไรจะสมบูรณ์แบบที่สุดในโลกใบนี้ บางครั้งสิ่งต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นได้ถูกออกแบบไว้เพื่อพึ่งพาอาศัย ซึ่งกันและกัน” แนวคิดในเชิงปรัชญาทางด้านศาสนาเหล่านี้จึงถูกสะท้อนลงบนชิ้นงาน เช่น รอยแตกบนตัวผลิตภัณฑ์ ที่หลายท่านอาจจะคิดว่าเป็นของเสียมีตำหนิ แต่ผมกลับมองว่านั้นคือความงามจากความไม่สมบูรณ์ ”  และรอยแตกบนตัวชิ้นงานนี่แหละที่ทำหน้าที่ส่งสารถึงหลักแนวคิดปรัชญาของศาสนากลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงเอาสัจธรรมของความไม่สมบูรณ์มาเป็นหัวใจหลักในการทำงานและละเอียดอ่อนกับการสังเกตสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาเป็นแรงบันดาลใจ นับตั้งแต่ปลายก้นหอยถึงจักรวาล

Q : เคยคิดหรือไม่ว่า งานตัวเองจะมีชื่อเสียงโด่งดังในระยะเวลาอันสั้น

A : ส่วนตัวผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายหลักไว้ที่รางวัลระดับชาติที่จะต้องคว้ามาให้ได้ สำหรับผมแล้วแม้ว่าคุณจะดังระดับชาติหรือไต่ขึ้นไปถึงระดับโลก แต่ถ้าข้างบ้านคุณ หรือผู้คนที่อาศัยอยู่ในตรอกซอกซอยเดียวกับคุณ ไม่รู้จักว่าคุณคือใคร ผมว่าชื่อเสียงนั้นก็ไร้ความหมาย สิ่งสำคัญคือ “เราต้องรู้จักการให้ก่อนที่เราจะมี” มีวลีหนึ่งในศาสนาสอนว่า ให้มือขวาโดยที่มือข้างซ้ายไม่รับรู้ คือการให้อย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีใครรู้ ปราศจากการโอ้อวด แต่ถ้าไม่มีอะไรเลย การส่งเพียงแค่รอยยิ้มก็เพียงพอแล้ว เพราะท่านศาสนฑูตมูฮัมมัดได้กล่าวว่า “การยิ้มมันคือการให้” เพียงแค่เราเริ่มส่งหนึ่งรอยยิ้ม เราก็สามารถสร้างมิตรภาพที่ดีได้

ดังนั้นเป้าหมายหลักของผมก็คือ การขับเคลื่อนครอบครัวและชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ เพราะนั่นคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ไม่ได้มุ่งหวังผลลัพธ์เพียงแค่ตัวคุณหรือครอบครัวเท่านั้น แต่เพื่อเพื่อนๆ ที่อยู่รายล้อมรอบตัว เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีชีวิตที่ดีขึ้นควบคู่ไปกับเราด้วย โดยใช้อัตลักษณ์จากบ้านเกิดนี่แหละ แต่ก่อนที่เราจะรู้ว่า ‘บ้านตัวเองมีคุณค่า’ เราจำเป็นต้อง ‘เดินทาง’ เพื่อให้รู้ว่าข้างนอกเป็นอย่างไร และนั่นจะเป็นจุดที่ทำให้เราเห็นคุณค่าจากบ้านเกิดมากที่สุด

Q : ทราบข่าวว่า เบญจเมธา เปิดโอกาสฝึกฝีมือให้กับคนท้องถิ่น อันเป็นหัวใจหลักที่สำคัญของการถ่ายทอดความรู้สู่คนในชุมชน คุณเอ็มมีแนวทางในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมอย่างไร และมีแนวทางในการพัฒนาอย่างไร

A : จริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นคนเลือกนะครับ แต่จะมีคนในท้องถิ่นช่วยกันแนะนำเด็กเข้ามาฝึกหัด โดยเราจะมองเด็กที่มี ‘ศีลธรรม’ มาเข้าโครงการก่อน เพราะเด็กที่มีศีลธรรมจะเป็นเด็กที่สะอาด เชื่อฟัง ห่างไกลยาเสพติด และปลอดภัยที่สุด เพราะโรงงานผมถือได้ว่าเป็น White Factory ที่ปราศจากอบายมุขทั้งหมด

เด็กที่รับเข้ามาขณะนี้ เคยเป็นคนขับรถตู้ คนขายรองเท้า ขายโรตี และบางท่านจบปริญญาตรีทางด้านศาสนามาโดยตรง จะเห็นได้ว่าแต่ละคนไม่ได้จบงานออกแบบเซรามิคมาเลย แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะผมเองก็ไม่ได้จบโดยตรงทางด้านนี้ แต่ข้อดีของมันคือ ทุกคนจะมีอิสระในการขึ้นรูปทรงโดยปราศจากกรอบแนวคิด โดยมีผมคอยดูอยู่ห่างๆ เราจะต้องวางตนเป็นผู้ไม่รู้ เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้ให้เป็นผู้รู้มากขึ้น และการเริ่มคิดถึงผู้อื่นจะทำให้ ความรู้ต่างๆ จะไหลมาเอง

ผมเองก็ไม่ได้มีศักยภาพพอที่จะรับเด็กเข้ามาเป็นสิบๆ คน แต่ผมมุ่งมั่นที่จะปั้นเด็ก 4-5 คนนี่แหละให้เป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดี เพื่อให้เขาสามารถนำองค์ความรู้ไปส่งต่อสืบสานให้กับลูกๆ หลานๆ และคนใกล้เคียงได้ อันจะเป็นการถ่ายทอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่สำคัญศาสนาสอนให้เราเป็นผู้ให้ โดยเราต้องรู้จักการให้ก่อนที่จะมี ‘ให้มือขวาโดยที่มือซ้ายยังไม่รู้’ อันเป็นการให้โดยที่ตัวเองไม่รู้ว่าให้ ลองคิดดูง่ายๆ ครับ เพียงแค่เราเริ่มส่่งหนึ่งรอยยิ้ม เราก็สามารถสร้างมิตรภาพที่ดีได้

นอกจากนี้เราทุกคนต้องถูกปลูกฝังให้กล้าที่จะ ‘ตักเตือน’ โดยที่ทุกคนไม่ว่าจะทำหน้าที่ใดก็สามารถช่วยกันตักเตือนได้ คุยกันได้ เพราะการตักเตือนผู้อื่นก็เปรียบเสมือนกับการตักเตือนตัวเองไปในตัวด้วย เพราะเมื่อเราบอกให้เขาอย่าทำแบบนั้น ก็เป็นการตอกย้ำให้เราอย่าทำอย่างนั้นด้วยเช่นกัน

Q : อยากให้คุณเอ็มช่วยฝากแนวคิดในการทำงานให้กับคนรุ่นใหม่ที่ยังเต็มไปด้วยความฝันและความมุ่งมั่นที่เต็มร้อยหน่อยครับ

A : เราต้องรู้ว่าตัวเองมาจากไหน ตัวตนที่แท้จริงคือใคร และกำลังจะเดินทางไปทางไหน เราจะได้ไม่ลืมตน ถ้าเราทำได้ เราก็สามารถสร้างอัตลักษณ์ให้เกิดขึ้นกับตัวเราได้ อย่าลืมว่าทุกคนล้วนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน การทำงานก็คือการเดินทางบนเส้นชีวิต ทุกคนมีโอกาสที่จะพลัดหลง และเมื่อเราเห็นว่าใครหลงทางก็ต้องบอกให้เขารู้ตัว ยิ่งคนทำงานผ่านประสบการณ์มามากก็ควรที่จะช่วยกันดู ช่วยกันบอก และจงทำงานด้วยความซื่อสัตย์ อย่าลืมว่า ความเท็จย่อมหายไปเสมอ และจะหลงเหลือแต่เพียงความจริง เท่านั้น

และนี่คือบทสัมภาษณ์ที่คำถามทั้ง 10 ข้อซึ่งผมได้เตรียมไว้ถูกนำมาใช้เพียงข้อแรกข้อเดียว สำหรับผมแล้วมันคงไม่ใช่การนั่งสัมภาษณ์เหมือนที่เคย แต่กลายเป็นบทสนทนาที่คุณเอ็มได้แลกเปลี่ยน แบ่งปันแนวคิด จนกลายมาเป็นบทความที่ส่งต่อถึงคุณผู้อ่านในครั้งนี้

Photo Credit: Pasin Tamm Auttayatamavitaya, Benjametha

บันทึก

บันทึก

Suwit Wongrujirawanich

See all articles