BLIX POP ของเล่นที่ทำให้เด็กๆ ตาบอดสนุกได้อย่างเท่าเทียม

การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นของเด็กๆ แฝงไว้ด้วยหลักในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทำให้เด็กได้ฝึกทักษะการทรงตัวที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวเมื่อเติบโตขึ้น ได้เรียนรู้ทักษะทางสังคมในการแบ่งปันเครื่องเล่นกับเด็กคนอื่นๆ รวมถึงเรื่องที่สำคัญมากที่สุดคือความสนุกสนาน แต่สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น พวกเขาขาดโอกาสทั้งการพัฒนาทักษะด้านร่างกาย สังคม รวมถึงความสนุกที่เท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ เพราะสนามเด็กเล่นที่มีอยู่ตามที่ต่างๆ ล้วนถูกออกแบบมาสำหรับเด็กสายตาปรกติ ซึ่งทำให้เด็กตาบอดเล่นได้ยากและไม่ปลอดภัย

BLIX POP เป็นของเล่นที่ออกแบบเพื่อให้เด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นได้มีโอกาสพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้มีพื้นที่ฝึกทักษะการทรงตัวเหมือนเด็กอื่นๆ มีลักษณะเป็นตัวต่อเพื่อประกอบเป็นสนามเด็กเล่น มีโครงสร้าง 4 แบบ คือ 1) ตัวรองที่ทั้ง 6 ด้านมีร่องและปุ่มนูนเพื่อใช้ต่อเป็นรูปทรงต่างๆ โดยมีแถบแม่เหล็กเป็นตัวยึด 2) ตัวเพิ่มความสูง ที่สามารถต่อชั้นให้สูงขึ้นไปเพื่อเพิ่มความลาดชัด  3) แผ่นหญ้า ให้เสมือนได้เล่นอยู่ภายนอกอาคาร และ 4) พื้นไม้ลวดลายต่างๆ พร้อมความโค้งนูนเพื่อฝึกการทรงตัว โดยทั้งหมดผลิตจากโฟมที่มีความนิ่มและยืดหยุ่นจึงไม่เป็นอันตราย เด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นจะสามารถรับรู้ความแตกต่างของแต่ละชิ้นด้วยการสัมผัส และสามารถยกเข้าออก ถอดประกอบ หรือเปลี่ยนรูปทรงได้ตามต้องการ Blix Pop ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับเด็ก 5-10 ปี ที่ไม่จำกัดการเล่นเฉพาะเด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นเท่านั้น เด็กกลุ่มอื่นๆ ก็สามารถเล่นร่วมกันได้  ของเล่นชุดนี้จึงทั้งพัฒนาทักษะทางร่างกาย สังคม ส่งเสริมจินตนาการ และสร้างความสนุกให้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

การออกแบบ Blix Pop มาจากการศึกษาอย่างจริงจังของ ณัชชา โรจน์วิโรจน์ ที่นำธีสีสในการเรียนมาต่อยอดให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง โดยไปคลุกคลีกับเด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นในโรงเรียนสำหรับคนตาบอด แล้วพบว่าเด็กส่วนใหญ่มีการเดินที่ผิดปกติ เพราะขาดความมั่นใจในทางเดินข้างหน้า ทำให้ไม่กล้าเดินหรือเล่นที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้การทรงตัวมีปัญหา กล้ามเนื้อขาไม่แข็งแรง จึงออกแบบของเล่นให้เด็กได้สนุกกับการเผชิญปัญหา

สำหรับรายได้ของ Blix Pop จะมาจากกิจกรรม CSR ขององค์กรต่างๆ ที่จะซื้อชุดของเล่นเพื่อนำไปบริจาคให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาส โดยมองว่ายังมีความต้องการสินค้าแบบนี้อยู่มาก เช่น ในศูนย์กายภาพเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีความพิการที่ส่วนใหญ่ในศูนย์จะมีเพียงเครื่องมือในการทำกายภาพบำบัด ไม่ใช่ของเล่น แต่ Blix Pop เป็นทั้งเครื่องมือในการพัฒนาทักษะและของเล่นสำหรับเด็ก

เพราะเด็กทุกคนต้องการ ‘ความสนุก’

อ้างอิง:  BLIX POP, SET Social Impact, MGR Online, กรุงเทพธุรกิจ

Tags

Tags: , ,

Bhanond Kumsubha

ภานนท์ เคยฝันอยากทำงานภาคสังคมแต่ถูกคนรอบตัวตั้งคำถามว่า "แล้วจะมีอะไรกิน" เลยเลือกมาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าเป็นจุดลงตัวระหว่าง "การมีกิน" กับ "การได้แบ่งปันกับคนอื่น" วันหนึ่งเมื่อแนวคิด "กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่ตอบโจทย์ของ "การมีกิน" กับ "การแก้ปัญหาสังคม" เริ่มเป็นรูปร่าง จึงอยากมีส่วนช่วยผลักดันให้คนที่มีฝันเหมือนๆ กัน ได้ทำฝันให้เป็นจริง

See all articles