ในฐานะเป็นชาวพุทธเคยนึกถามตัวเองบ้างไหมว่าเราเข้าใจหลักธรรมคำสอนหรือบทสวดในศาสนาดีแค่ไหน ภาษาบาลีที่ทั้งท่องได้หรือไม่ได้บ้าง แท้จริงแล้วมีนัยสำคัญอย่างไร สำหรับคนที่สนใจใฝ่รู้ การสืบหาที่มาและความหมายคงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่สำหรับคนทั่วไปล่ะพวกเขามีทางเลือกอย่างไร ‘Bothi Theater’ อาจเป็นคำตอบที่ดีสำหรับทางเลือกนั้น
กิจกรรมสร้างสรรค์นี้เป็นการร่วมมือของหลายองค์กรคือ WHY_NOT Social Enterprise, Awakening Creative, Another day Another Render, Art of Hongtae, Korky และ WHAT_IF ตั้งใจจะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้สังคม เพื่อเชื้อเชิญผู้คนเข้าวัด ด้วยสโลแกนที่ว่า “โพธิเธียร์เตอร์ แก่นเดิม เปลือกใหม่ของพุทธศาสน์”, มหรสพดิจิทัลอาร์ตจัดเสื้อผ้าใหม่ เพื่อ’วัด’ เข้าใจ ‘คนยุคใหม่’ เข้าถึง แน่นอนว่าวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้ห่างจากวัดออกไปทุกที ถ้าไม่ใช่งานพิธีกรรมสำคัญ คนก็ไม่ค่อยสนใจจะเข้าวัดกันเท่าไหร่ และโดยเฉพาะบทสวดมนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งดูจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากด้วยกำแพงภาษา การแสดงดิจิทัลอาร์ตนี้จึงเข้ามาเป็นตัวเชื่อมดึงให้ผู้คนสนใจเข้าวัด พร้อมกับการได้สัมผัสนัยของบทสวดในรูปแบบทันสมัย ตื่นตา น่าสนใจ ซึ่งประสบการณ์นี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขากลับไปค้นหาที่มาและความหมายของบทสวดนี้อีกครั้ง
ทีมงานได้หยิบเอาบทสวด “ชัยมงคลคาถา” หรือ “พาหุงมหากา” มาใช้ในเล่าเรื่องแบ่งออกเป็น ฉากต่างๆ ว่าด้วยการเอาชนะมารของพระพุทธองค์ซึ่งมีหลายตอนที่เราอาจไม่รู้มาก่อน เพราะที่คุ้นเคยมักเป็นเพียงช่วงแรกของบทสวดที่ว่าด้วยการต่อสู้กับพญามารก่อนตรัสรู้เท่านั้น ที่มักเห็นเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ในส่วนอื่นๆ ของบทสวดที่นำมาแสดงเป็นดิจิทัลอาร์ตนี้ประกอบไปด้วย การต่อสู้กับยักษ์อาฬวกะ, พระเทวทัต, องคุลีมาล, ข้อกล่าวหาของหญิงจิญจมาณวิกา, คนเจ้าโวหารสัจจะกะนิครนถ์, พญานาคนันโทปนันทะ, ผกาพรหม ผู้สำคัญตนว่าเป็นผู้รู้ และบทสรุปของชัยชนะนี้เป็นข้อเตือนสติให้เราย้อนมองและเอาชนะจิตใจตัวเอง งานแสดงดิจิทัลอาร์ตนี้ใช้เวลา 30 นาทีภายในพระอุโบสถของวัดสุทธิวรารามที่มีพระประธานปางมารวิชัยเป็นศูนย์กลางของบรรยากาศ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานอย่างลงตัวไปกับภาพเคลื่อนไหวรอบผนังทั้งสามด้าน 180 องศา กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามดึงดูดผู้สนใจให้มาชมกันมากมาย
ศิลปะเพื่อชุมชนแนวใหม่นี้สำเร็จขึ้นได้โดยมี ธวัชชัย แสงธรรมชัย จาก Why Not เป็นหัวหน้าโครงการ และ ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ จาก Another day Another render เป็นผู้กำกับฯ ศิลป์ และรวมถึงทางวัดที่เอื้อเฟื้อสถานที่, ค่าไฟ, ค่าแอร์ จัดแสดงให้เข้าชมฟรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย งานเริ่มมาตั้งแต่ 18 พฤษภาคม 2562 และได้ขยายรอบแสดงไปจนถึง 23 มิถุนายน 2562 นี้ และหากมีเวลาก็น่าจะไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับปรากฏการณ์ทางพุทธศิลป์ดิจิทัลอาร์ตนี้สักครั้ง
อ้างอิง: www.eventpop.me, www.instagram.com, Facebook: Bodhi Theater