‘ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา’ กับงานสถาปัตยกรรมเพื่อสังคมและการออกแบบเพื่อแก้ปัญหา

ในอดีต เวทีสถาปัตยกรรมระดับโลกล้วนถูกนำเสนอด้วยกระแสหลักจากยุโรปและอเมริกามานาน อาจจะมีเอเชียบ้างประปรายแต่ก็ดูจะยังวนเวียนอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นหลัก จนเมื่อเทรนด์โลกขยับมาทางเอเชียมากขึ้นในช่วงหลายปีหลังมานี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และงานออกแบบ ดังจะเห็นได้จากความคึกคักของโลกฝั่งตะวันออกทุกวันนี้ และกับรางวัล The ar+d  Awards for Emerging  Architecture 2011 งานประกวดสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมระดับโลก ซึ่ง ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา’ เป็นคนไทยคนแรกที่คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอบครอง จากผลงานการออกแบบสถาบันกันตนา

ปัจจุบัน อ.บุญเสริม เป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมให้กับ Bangkok Project Company Limited และด้วยผลงานการออกแบบสถาบันกันตนาที่คว้ารางวัลระดับโลกในข้างต้นนี้เอง อ.บุญเสริมบอกว่า ‘อิฐที่ไม่ได้เป็นแค่อิฐ แต่อิฐอยากเป็นสถาปัตยกรรม’ ในความคิดของเขานั้นเป็นอย่างไร ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย

Q: ปรัชญาในการทำงานของอาจารย์คืออะไร?

A: อุดมการณ์ของผมคือไม่รับใช้นายทุน ผมไม่ขายวิญญาณให้กับนายทุน มันเกินเวลาที่ผมจะไปทำอย่างนั้นแล้ว ผมว่างานพวกนั้นไม่เห็นยากอะไรเลย แค่ออกแบบตามคู่มือที่ลูกค้ากำหนดมา ช่วงหลังผมเลยหันมามองในเรื่อง social design หรือการออกแบบเพื่อสังคม แต่ไม่ใช่การออกแบบชุมชนนะครับ มันไม่เหมือนกัน social design จะมองภาพกว้าง และอุดมคติของผมคือต้องการเอางานออกแบบไปแก้ปัญหาของกลุ่มคนที่ถูกลืมในสังคม อย่างเช่นบ้านของคนเป็นอัลไซเมอร์ งานนี้เรากำลังพูดถึงคนแก่ ซึ่งคนที่แก่แล้วก่อนเขาจะตายนี่เราจะทำยังไง คนที่เป็นอัลไซเมอร์จะเป็นช่วงที่หนักที่สุด คนที่หนักไม่ใช่คนที่เป็น แต่เป็นลูกหลานของคนที่เป็น ค่ายาเดือนเป็นหมื่นเลยนะ มันเลยเป็นคำถามว่าทำไมเราไม่คิดจะหาวิธีป้องกัน ผมเลยศึกษาและหาวิธีที่ตนเองสนใจ ซึ่งก็คือการออกแบบสถาปัตยกรรม แล้วก็ทดลองมาแก้ปัญหาดูว่ามันใช้ได้หรือไม่ งาน social design ของผมจะไปเน้นหนักที่ผู้คน การออกแบบสถาปัตยกรรมเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาเราพูดถึงเรื่องอนุรักษ์พลังงานกันมาก หรือ 5 ปีที่ผ่านมาเราพูดถึง sustainable design แต่จากนี้ต่อไปผมเชื่อว่าเราจะพูดถึงผู้คน ผมเชื่อว่างานออกแบบอาจจะแก้ปัญหาได้น้อยมาก แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อย่างงานบ้านคนเป็นอัลไซเมอร์ก็ทำเป็นการวิจัยด้วย โดยได้ข้อมูลจากสถาบันประสาทวิทยา

Q: แล้วแนวคิดในการออกแบบสถาบันกันตนาคืออะไร?

A: จุดเริ่มต้นมันมาจากโปรแกรม ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ร่างโปรแกรม และตัวสถาปนิกเองก็ไม่ได้ทำแค่รับโจทย์มา ผมมีทัศนคติว่าสถาบันกันตนาเป็นโรงเรียนศิลปะ ตัวผมเองจบศิลปากรมาก็เลยอินกับเรื่องแบบนี้ ผมพยายามทำให้กันตนามีอัตลักษณ์ทางศิลปะมาก ทางลูกค้า คุณจาฤกษ์ กัลป์จาฤกษ์ ก็ต้องการผลิตอนิเมเตอร์ และฟิล์มเมคเกอร์รุ่นใหม่ๆ ที่มีความเป็นคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนอย่างก้านกล้วย ผมก็รับแนวคิดตรงนั้นมาจากคุณจาฤกษ์ แล้วก็เริ่มทำการออกแบบโปรแกรม ลงไปถึงช่วยร่างหลักสูตร ลงไปถึงรายวิชาเลย

Q: ทำไมถึงใช้อิฐมอญแทนการใช้อิฐมวลเบาหรืออื่นๆ และให้ชาวบ้านในชุมชนมาช่วยกันผลิตอิฐมอญถึง 6 แสนก้อนเพื่อเป็นวัสดุในการสร้างสถาบันกันตนา? 

A: ตัวรูปแบบนั้นผมตั้งใจจะใช้อิฐตั้งแต่แรก และทางเจ้าของโครงการก็อยากลองวัสดุอื่นๆดู อิฐมันราคาถูกแต่ก็ใช้เวลาเยอะ ผมเลยกลับไปเสนอว่าอิฐราคาถูกถ้ามันมีรูปแบบการเรียงที่ถูกต้อง หากมีการวางแผนที่ดีแล้วการใช้อิฐก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งทางลูกค้าก็เห็นด้วย เราเลยไปค้นคว้าว่าในเมืองไทยมีการทำอิฐที่ไหนบ้าง แล้วก็พบว่ามีมีโรงอิฐอยู่ที่อยุธยาตรงช่วงรอยต่อระหว่างอยุธยากับอ่างทอง เราก็ไปเดินหากัน ปรากฏว่ามีอยู่โรงอิฐหนึ่งชื่อว่า ‘โรงงานทำอิฐ บบก. อุตสาหกรรม’ ซึ่งแต่เดิมเขาเลิกผลิตไปแล้ว แต่ยังมีบล็อกอยู่ เมื่อก่อนโรงอิฐนี้เขาผลิตอิฐโบราณเพื่อซ่อมโบราณสถาน พอเราได้เข้าไปพูดคุย เขาก็ตกลงรับทำตรงนี้ ตอนแรกเขาคิดว่าไม่เยอะเท่าไหร่แต่พอเห็นแบบเขาก็ตกใจ เขาบอกว่า มันไม่ใช่แค่ 6 แสนก้อนตามแบบนะ มันต้องมีส่วนที่แตกหักด้วย จริงๆ แล้วน่าจะประมาณ 8 แสนก้อน เพราะเวลาขนมาทีก็จะเทลงมา แล้วจะมีส่วนที่แตกหักจนน่าเสียดาย ตอนแรกเราคิดจะใช้ดินตรงกันตนาทำอิฐด้วยเพราะมีส่วนที่ถูกขุดออกมาเยอะ ปรากฏว่าบางส่วนใช้ได้ บางส่วนมีปัญหา เพราะดินที่ได้บางตัวเป็นดินที่ผสมสารเคมีจากปุ๋ยที่ใส่ในดิน เวลาเผาออกมาจะเป็นคราบขาวๆ ฉะนั้น ดินที่ใช้ต้องเป็นดินป่าหรือดินบริสุทธิ์ ถ้าเป็นดินจากที่นาก็ต้องผ่านการทำนามาเป็นสิบปีถึงจะทำอิฐได้ ชุมชนที่ทำอิฐตรงนี้ก็น่าจะทำสืบทอดกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ตอนที่เราไปถึงเขาจะเลิกทำกันแล้วนะ เพราะเจเนเรชั่นนี้เขาไม่เอาแล้ว คือเจ้าของเขาก็ไม่เดือดร้อน แต่คนที่เดือดร้อนคือชาวบ้านที่เราเห็นในวิดีโอ ทางรุ่นพ่อเขาก็บอกว่า พอลูกตัดสินใจมาสานต่อนี่เขาก็ดีใจมากเลย ตัวที่ดินของโรงอิฐก็ถูกติดต่อขอซื้อเป็นโกดังเก็บสินค้าไปแล้ว

Q: หลังจากที่อาจารย์ใช้อิฐกับงานนี้ แล้วได้เผยแพร่ออกไป ตรงนี้เป็นการส่งเสริมและทำให้เกิดการใช้ภูมิปัญญาเกิดการสร้างงานและสืบสานต่ออย่างไรบ้าง?

A: หลังจากนั้นแล้วทางโรงงานเขาก็ได้งานเพิ่มนะ พวกอิฐก้อนใหญ่ที่เขาเคยทำ พอไม่มีคนใช้ไม่มีคนสั่งทำ เขาก็ทำกระเบื้องหลังคาวัดแทน เขาพูดกับผมตามตรงนะว่ามันขาดทุน แต่ทำยังไงได้เพราะเขาต้องเลี้ยงคน เขาก็เลยไปทำรีสอร์ตของเขาเองที่อยุธยา เพื่อเอารายได้ตรงโน้นมาโปะตรงนี้ ทางเขาเองก็ไม่อยากเลิกเพราะเสียดาย แต่โรงอิฐแถวนั้นเลิกไปหลายโรงแล้ว เท่าที่ไปสำรวจดูตอนน้ำท่วมก็เลิกไปเยอะ ทุกอย่างเสียหายหมด ทั้งเตาเผาต้องซ่อมใหม่หมด ด้วยจังหวะพอดีที่สถาบันกันตนาได้รางวัล AR Awards แล้วทางเขาก็เอาไปทำโบรชัวร์ จากโรงอิฐธรรมดาเลยกลายเป็นของโอท็อปไปเลย ตอนนี้เขาได้รางวัลโอท็อป 4 ดาว เพราะอิฐอ่างทองนี่ขึ้นชื่อที่สุดแล้ว แต่ชื่อเสียงมันหายไปเพราะเขาไม่ได้ทำอิฐอีกแล้ว เพราะเราเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นกัน

Q: มีอย่างอื่นอีกไหมนอกจากการทำอิฐที่ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม?

A: ก็มีเรื่องงานฝีมือ มีช่างหลายคนที่เป็นช่างก่ออิฐ แต่พอมาร่วมงานกัน มีวิศวกรมาช่วยดูเรื่องการเสริมโครง พอจบงานนี้เขาก็กลายเป็นผู้ชำนาญการก่ออิฐ ตัวผมเองไม่ได้มองช่างในฐานะกรรมกร ผมรู้ว่าหลายคนมองช่างด้วยสายตาของกรรมกร แต่ผมมองช่างในฐานะศิลปินเหมือนว่าเขาเป็นคนทำประติมากรรมให้เรา เราอาจจะเป็นแค่คนร่าง แค่คนฝัน แต่ประติมากรต้องเป็นคนทำฝันเราให้เป็นจริง ฝันของเขากับของเราต้องเป็นฝันเดียวกัน ทีแรกผมท้อไปหลายรอบแล้ว แต่เขาก็พยายามนะ

Q: ตอนลงพื้นที่ไปโรงอิฐ มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง?

A: อุปสรรคคงเป็นเรื่องอากาศ แต่เรื่องฝีมือหายห่วง อย่างที่เห็นในวิดีโอนะครับ เขาทำงานเร็วมากแล้วก็ทุ่มเท ทั้งที่มีคนอยู่ไม่มาก ไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำถ้ารวมเด็กๆ ซึ่งพวกนั้นก็มาช่วยหมด เรื่องคนผมว่าพร้อม ถ้าจะมีปัญหาก็คงเป็นเรื่องของฟ้าฝนที่ไม่อำนวยสักเท่าไหร่ อิฐพวกนี้พอปั้นเสร็จต้องไปผึ่งแดดให้น้ำระเหยออกไปตามธรรมชาติ ผึ่งเสร็จไว้อาทิตย์หนึ่งจึงจะเอาเข้าเตาได้ ถ้าปั้นเสร็จแล้วเอาเข้าเตาเลยอิฐจะแตก

Q: คนที่เป็นสถาปนิก ศิลปิน ช่าง กรรมกร หรืออาจารย์ สามารถเปลี่ยนสังคมได้อย่างไรด้วยวิชาชีพของเขา?

A: อย่างแรกในเรื่องเปลี่ยนสังคม ผมว่ามันเปลี่ยนความเชื่อมั่นของช่างเอง จากเดิมที่เขาไม่มั่นใจว่าจะทำได้เลย จนทำอะไรเป็นแล้วมั่นใจจนกลายเป็นผู้ชำนาญการ ตรงนี้ผมว่าผมสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความเชื่อมั่นให้กับเขา ให้แรงบันดาลใจจากคนที่ไม่เป็นอะไรเลย ผมยังเคยคิดว่าถ้าหาคนมาช่วยเขียนแบบยาก เราน่าจะฝึกมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาเขียนแบบ ผมได้แนวคิดแบบนี้จากเพื่อนที่เป็นคนสิงคโปร์ ซึ่งปรกติเราจะจะรู้จักว่าคนสิงคโปร์เป็นคนที่มีการศึกษา แต่เพื่อนคนนี้แค่จบมัธยม ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย แต่ความที่เป็นคนมีวิญญาณเซลแมนสูง เลยทำทุกอย่าง เขาบอกว่าเอาคนจบปริญญาตรีมาฝึก ฝึกเสร็จแล้วพวกนี้ก็ไป ไม่มีความทะเยอทะยานในการทำงานเลย เขาเลยฝึกแม่บ้านทำความสะอาดมาเป็นเซลฯ ปรากฏว่าเขาประสบความสำเร็จมาก เขาเลยเป็นหัวหน้าทีมขายอันดับหนึ่ง ปัญหาของคนเราจริงๆ แล้วคือ การขาดโอกาส ถ้าเรามอบโอกาสให้คนพวกนี้นะเขารักตายเลย

Q: นอกจากการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้วอาจารย์ทำอะไรอย่างอื่นที่แตกต่างจากนี้บ้างอีกหรือไม่?

A: ผมมีงานอาร์ตบ้างนิดหน่อย ก็หาเวลาทำบ้าง วาดรูปบ้าง หลักๆ ผมมีงานวิชาการ งานเขียนหนังสือ ส่วนใหญ่ผมไม่ได้ข้ามไปฟิลด์อื่น อย่างงานอื่นที่ทำนอกจากสถาบันกันตนาก็มีงานออกแบบโรงพยาบาลสนามสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัย งานนี้ผมทำกับสภากาชาดไทยโดยที่ไม่มีใครมาจ้าง ผมคิดอะไรได้ผมก็ทำ พอผมทำเสร็จก็เอาไปเสนอสภากาชาดไทย เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติซึ่งมันเกิดตลอดปีตั้งแต่เหนือจรดใต้ เราเพิ่งตื่นตัวตอนน้ำท่วมใหญ่ แต่จริงๆ แล้วทางใต้นี่ท่วมตลอดแต่ไม่มีใครสนใจ ผมก็เลยเริ่มทำโรงพยาบาลสนาม จากเวอร์ชั่นแบบชั่วคราวกางเต็นท์ เป้าประสงค์หลักของคนที่เข้ามาโรงพยาบาลสนามคือบรรเทาทุกข์ ผมเลยออกแบบให้ดูผ่อนคลายขึ้น ให้ดูเหมือนอยู่ในสวรรค์ท่ามกลางนรก รูปแบบที่ใช้ก็เป็นผ้าใบธรรมดาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความร้อนจากหลังคา แล้วใช้แผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ขนาด 1×1 ฟุตมาประกบเข้าตรงกลางช่วยสะท้อนความร้อน แล้วก็วางแบบสุ่มไป เวลามองมาก็จะเหมือนอยู่ใต้ร่มไม้ จากแบบนี้ก็มีเวอร์ชั่นกึ่งถาวรที่ใช้วัสดุเป็นไม้อัดทำให้มันดูน่าสนใจ หลังจากที่สภากาชาดไทยเข้าไปใช้แล้วก็ไม่ได้รื้อถอน มันเลยกลายเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์มอบให้กับชุมชนไปเพราะลงทุนไม่มาก งานของผมไม่แพง ใครทำก็ได้ ไม่ได้หวงวิชา ไม่มีลิขสิทธิ์ ใครเอาไปทำแล้วมีประโยชน์ก็ทำเลย สนับสนุนให้ก็อปปี้เยอะๆ

บันทึก

บันทึก

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles

Next Read