เดนมาร์กห่วง วัยรุ่นหมดไฟจน Burn Out วอนผู้ใหญ่เร่งฮีลใจก่อนแหลกสลาย

เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย… เป็นวัยรุ่นมันหนัก… เพราะวัยรุ่นยุคนี้ต้องแบกรับความคาดหวังของผู้ใหญ่ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการถูกผลักดัน การแข่งขันเรื่องการเรียน และการดิ้นรนเพื่อที่จะเป็นวัยรุ่นในอุดมคติตามสังคมกำหนด พวกเขาหลายคนกำลังรู้สึกเหมือน “หมดไฟ” ไปต่อไม่ไหวแล้ว เหนื่อย ท้อ พอแล้ว หมดแรงที่จะพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย ซึ่งผู้ใหญ่อาจดูไม่ออกหรือไม่เข้าใจถึงสภาวะที่วัยรุ่นกำลังประสบอยู่

แต่เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19  ที่มีการปิดสถานศึกษา การเปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์และกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้การใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นหายไป วัยรุ่นมีปัญหาทางอารมณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนของปัญหามากขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ประกาศ Burnout Syndrome เป็นภาวะทางสุขภาพที่ต้องได้รับการดูแลรักษา และเป็นปัญหาที่มีมากขึ้นในสังคมคนเมืองและวัยรุ่นยุคใหม่ โดยพบว่าวัยรุ่นที่มีอายุน้อยกว่า 22 ปี มีโอกาสเข้าสู่ภาวะหมดไฟมากที่สุด แม้แต่ประเทศที่ทีมีความเจริญ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างประเทศเดนมาร์ก ก็พบว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนเดนมาร์คอยู่ในภาวะหมดไฟ เป็นภาวะแห่งชาติที่ต้องฮีลใจให้เยาวชนสามารถรับมือกับความเครียดและความซับซ้อนทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นในชีวิตได้

วันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสุขภาพจิตแห่งชาติ ช่อง P3 Mission โดย Danish Broadcasting Corp. ร่วมมือกับกลุ่มการศึกษาเยาวชน โรงเรียน และเอเจนซี่โฆษณา Uncle Grey ริเริ่มโครงการที่จะเรียกร้องให้ทุกคนในประเทศ เห็นความสำคัญในปัญหาการหมดไฟของวัยรุ่นและหาทางช่วยเหลือเยาวชนในขณะเดียวกัน โดยใช้หุ่นขี้ผึ้ง Burn Out สัญลักษณ์ที่ใช้แสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อความเบื่อหน่ายท้อแท้สิ้นหวังและหมดแรงกำลังแผดเผา เหมือนชีวิตกำลังถูกละลายหายไป หุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนซึ่งเปรียบเสมือนวัยรุ่นคนหนึ่งนี้ ถูกจุดไฟแล้วหลอมละลายช้าๆในตู้กระจก โดยมีข้อความกำกับว่า “การนิ่งเฉยจะทำให้วัยรุ่นหมดไฟ” ซึ่งหุ่นขี้ผึ้งนี้จะใช้เวลาประมาณสองเดือนในการเผาไหม้หมด

หุ่นขี้ผึ้ง Burn Out ถูกจัดตั้งในหลายจุดรอบเมืองโคเปนเฮเกน และถูกถ่ายทอดลงในช่อง P3 กลายเป็นการจุดกระแสสังคมเพื่อให้มีการพูดถึงปัญหาและร่วมหาทางช่วยเหลือให้เยาวชนสามารถรับมือกับภาวะอารมณ์และความเครียดได้โดยไม่ต้องเผชิญอย่างลำพัง ภายใต้สถานการณ์การปรับตัวที่ยากลำบากของโลกวิถีใหม่นี้  วัยรุ่นบางคนอาจพบว่าไม่สามารถรับมือกับความท้าทายได้ อาจมีอารมณ์ที่อ่อนไหวและตัดสินใจที่จะยอมแพ้ ตกอยู่ในสภาวะทิ้งตัว  ไม่ยินดียินร้าย รู้สึกหมดพลัง ซึมเศร้า มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถของตนเอง

สภาวะหมดไฟนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ครอบครัว พ่อแม่ หรือผู้ใกล้ชิดจำเป็นจะต้องคอยสังเกต ใส่ใจพวกเขาและคอยให้กำลังใจ สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเติบโตและความสำเร็จของวัยรุ่น ให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาทักษะและความสามารถต่างๆ อย่างเช่นการเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น กีฬา เพลง เต้นรำ หรืองานอาสาต่างๆ เพื่อให้วัยรุ่นของเรา ยังคงมีแรงบันดาลใจ มีความฝันมุ่งสู่ความสำเร็จ และเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้

อ้างอิง: Ads of The WorldFamous Campaign

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles