ดีไซเนอร์ไทยแปลงโฉมรถเข็นซูเปอร์ฯ เป็นวีลแชร์ราคาประหยัด

โปรเจ็กต์แปลงร่างวีลแชร์จากรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตนี้มีชื่อว่า ‘Cart Wheel Chair’ เป็นผลงานไอเดียบรรเจิดของกลุ่มนักออกแบบ/คนโฆษณาไทยที่มีอุดมการณ์อยาก ‘ให้’ บางสิ่งบางอย่างคืนแก่สังคม นวัตกรรมไทยประดิษฐ์ซีรีย์นี้ดัดแปลงขึ้นจากรถเข็นซื้อของที่เราใช้กันทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยทีมดีไซเนอร์ได้นำรถเข็นที่ไม่ใช้แล้วมาตัด ต่อ แต่ง เติมใหม่ ให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้พิการ ผู้ป่วย หรือผู้สูงวัยในสังคมไทย โดยมุ่งเป้าไปที่ครอบครัวซึ่งไม่มีกำลังทรัพย์พอจะซื้อรถวีลแชร์ราคาสูงๆ ในท้องตลาดได้

อภิชัย  อินทัตสิงห์ แกนนำของกลุ่มเล่าว่าผลลัพธ์และพลังความร่วมมือจากสังคมภายใต้โครงการนี้ ได้รับฟีดแบคที่เกินความคาดหมายไปมาก หากมองย้อนกลับไปเมื่อราวปีเศษๆ จุดเริ่มต้นของโครงการเกิดขึ้นจากไอเดียเล็กๆ ที่ทีมงานต่อยอดมาจากโจทย์งานโฆษณาอันหนึ่งของลูกค้าแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยในช่วงแรกเริ่มดีไซเนอร์ได้ลองนำรถเข็นเก่ามาสำรวจความเป็นไปได้ในสองรูปแบบ หนึ่งคือการพัฒนาเป็นรถเข็นแบบแมนนวลที่ผู้ใช้สามารถใช้งานเองได้ และสามารถช่วยเหลือตัวเองในการเคลื่อนที่โดยไม่ต้องมีคนช่วยเข็น จุดนี้จะทำให้ผู้ป่วยหรือคนชรารู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง เพราะไม่ต้องคอยพึ่งพาคนอื่นตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

ส่วนแนวทางที่สองคือรถเข็นสำหรับการเคลื่อนย้ายที่ต้องอาศัยผู้ช่วยเข็น (ซึ่งก็น่าจะหมายถึงสมาชิกในครอบครัวนั่นเอง) โดยดีไซน์ในรูปแบบนี้ทีมงานมุ่งเน้นไปที่ความสะดวกในการเข็น และน้ำหนักตัวรถที่เบาที่สุดเท่าที่จะทำได้

“พวกเราเชื่อว่าดีไซน์ประยุกต์เช่นนี้มันเหมาะกับผู้พิการ ผู้ป่วย หรือคนสูงอายุที่เขาเดือดร้อนจริงๆ เพราะมันไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรมากมาย ขั้นตอนการผลิตก็ไม่ได้ยุ่งยาก แรกเริ่มเดิมทีพวกเราลองทำขึ้นมาคันเดียวก่อน ออกทุนซื้อรถเข็นเก่ามาดัดแปลงลองผิดลองถูกกันเอง ดูว่าชิ้นส่วนไหนจะดัดแปลงไปเป็นอะไรได้บ้าง ใช้เวลาไม่นานก็สำเร็จเป็นวีลแชร์คันแรก” อภิชัยย้อนเล่าถึงแนวคิดตั้งต้น

จวบจนปัจจุบัน กระบวนการและขั้นตอนการผลิตวีลแชร์หนึ่งคันของทีมก็ได้พัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ มีการแต่งเติมอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อความสะดวกในการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ตะกร้าใส่ของ เบาะรองนั่ง และเบรคมือ เป็นต้น “ขั้นตอนทั้งหมดก็ไม่ยากครับ เริ่มจากติดต่อขอซื้อซากรถเข็นจากเซียงกงหรือโกดังของเก่า นำมาตัดต่อชิ้นส่วนต่างๆ กันในเวิร์คช็อป ทำที่พักเท้า ทำตระกร้าด้านหลัง ทำพับแขนด้านข้าง ติดเบรคมือ แล้วก็เก็บรายละเอียดงานสี ลบเหลี่ยมคมต่างๆ ให้เรียบร้อย สุดท้ายก็ติดเบาะรองนั่งและรองพักแขน เราทดสอบกันแล้วว่ารถแต่ละคันรองรับน้ำหนักได้ประมาณ 150 กิโลกรัม”

อภิชัยบอกว่าต้นทุนในการผลิตรถเข็นหนึ่งคันนั้นอยู่ที่ประมาณ 600 – 1,200 บาท (แล้วแต่สภาพ) ซึ่งสมมติถ้าต้นทุนแรกอยู่ที่ 600 บาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทั้งหมดแล้วก็จะตกไม่เกิน 800 บาทต่อคันเท่านั้น ซึ่งถือเป็นราคาที่ประหยัดมากหากเทียบกับราคารถเข็นผู้ป่วยในท้องตลาดที่ขายกันอยู่ราว 3,000 บาทขึ้นไป  ทุกวันนี้ดีมานด์ของวีลแชร์ไทยประดิษฐ์นี้มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทางทีมงานจึงต้องจัดคิวรับออร์เดอร์ออนไลน์ให้เป็นระบบระเบียบ

สำหรับผู้ที่ต้องการรับรถเข็นฟรี สามาถเข้าไปกรอกข้อมูลได้ที่ www.kzyagency24hr.com/cartwheelchair
ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook: Cart-Wheel-Chair-Donate

Tags

Tags: , ,

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles