CASACO บ้านไม้เก่าที่กลายเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับกิจกรรมในชุมชนบนเขา

สถาปัตยกรรมก็เหมือนสังขารมนุษย์ ล้วนต้องมีการปรุงแต่งให้เข้ากับกาลเวลา สถาปัตยกรรมที่ดีจึงประกอบไปด้วยกาลเทศะที่ดีในตัวของมันเอง ถ้าสังขารไม่ดี ก็ต้องทำการปรุงแต่งให้รับใช้กับสังคมที่มันตั้งอยู่

ในหมู่บ้านบนเขาแห่งหนึ่งในเมืองโยะโกะฮะมะ จังหวัดคะนะงะวะ หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในย่านชุมชนบนเขา มีบ้านหลังไม้เก่าในชุมชนที่ถูกปรุงสังขารให้ไปกับกิจกรรมใหม่ของชุมได้น่าสนใจ เรียบง่าย แต่มากด้วยกระบวนการคิด ที่ขอแนะนำในคราวนี้คือ CASACO ออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิกในท้องที่โยะโกะฮะมะคือ Tomito Architecture ที่รับหน้าที่ปลุกชีวิตบ้านเก่านี้

สถาปนิกออกแบบโดยรวมหลากโปรแกรมเข้าด้วยกัน ทั้ง เกสต์เฮาส์ ร้านกาแฟ แชร์เฮาส์ (บ้านที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางรวมกันในหลายครอบครัว) เพื่อให้บ้านที่เปิดรับหลายครอบครัวให้เข้ามามีกิจกรรมร่วมกันในชุมชนนี้ ให้บ้านไม้ 2 ชั้น อายุ 65 ปี มีชีวิตใหม่อีกครั้ง

การออกแบบพื้นที่ ใช้ให้ชั้นล่างเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดโล่งต่อเนื่องไปยังพื้นที่โล่งใต้ชายคาหน้าบ้านที่รองรับกิจกรรมหลายอย่าง เนื่องด้วยเป็นพื้นที่เปิดไปยังถนนด้านหน้า ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของพื้นที่ภายนอกและภายใน รองรับกิจกรรมในชุมชนได้ดี และยังออกแบบโดยรื้อพื้นกระดานชั้น 2 ออก เผยให้เห็นโครงสร้างตงไม้เดิมก่อเกิดการไหลเวียนของที่ว่างพร้อมกิจกรรมจากชั้น 1 สู่ชั้น 2 ที่เป็นพื้นที่พักแบบโฮมเสตย์สำหรับนักเรียนต่างชาติ

ช่วงกลางวันมันกลายเป็นพื้นที่รวมกันของเหล่าแม่บ้านที่มารวมตัวกันทำกิจกรรมระหว่างรอลูกเลิกเรียนในยามกลางวัน เป็นพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยวมีประสบการณ์ร่วมกันกับคนในท้องถิ่น หรือสามารถกลายเป็นพื้นที่กิจกรรมในชุมชนตามวาระที่ผู้คนจะเข้าไปร่วมกับสถาปัตยกรรมเอง

นิยามของคำว่าแบ่งปัน ได้ถูกตีความสู่สถาปัตยกรรมหลายรูปแบบ มันไม่จำเป็นต้องเป็นของเลิศหรู แต่มันสามารถทำให้ดีได้ด้วยกระบวนการคิดอย่างหนัก เพื่อให้เรียบง่ายที่สุดเท่านั้นเอง

อ้างอิง: tomitodannnao, ja 104. PUBLIC SPACE.2015 – 2016.Publisher:The Japan Architect

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles