เมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในแวดวงคนรักศิลปะคงหนีไม่พ้นเรื่องที่ ชลิต นาคพะวัน ได้รับอุบัติเหตุถูกรถมอเตอร์ไซค์ชนที่หน้าบ้านพักและโรงเรียนสอนศิลปะของเขา ชลิตหมดสติในทันที เข้ารับการผ่าตัดสมองถึงสองรอบ ดามเหล็กไว้ที่ขา ในโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยข้อความให้กำลังใจ หยิบยื่นความช่วยเหลือ ทั้งจากเพื่อนๆ และจากบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่มีอยู่มากมาย ถึงขั้นว่าเมื่อชลิตออกจากโรงพยาบาลได้ไม่กี่วัน ก็มีลูกศิษย์อาสาเป็นเจ้ามือพาเขาขึ้นเครื่องบินชั้นธุรกิจไปตระเวนกิน ตระเวนเที่ยวในต่างประเทศ เพื่อให้กำลังใจ
ไม่ต้องพรรณนาให้มากความไปกว่านี้ ก็คงพอจะรู้ว่า ‘ครูชลิต’ เป็นที่รักและเคารพของลูกศิษย์และผองเพื่อนของเขามากแค่ไหน
ชลิตเริ่มต้นอาชีพสอนศิลปะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 บ้านเก่าสวยคลาสสิคที่ตั้งอยู่ในซอยราชวิถี 2 ของเขาเป็นทั้งบ้านส่วนตัวและโรงเรียนสอนศิลปะ Chalit Art Project & Gallery ที่เปิดประตูต้อนรับคนรักศิลปะทุกวันพฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้า จนถึง 5 โมงเย็น นักเรียนที่เดินทางมาเรียนมีตั้งแต่เด็กประถมไปจนถึงผู้ใหญ่วัยทำงานหลากหลายอาชีพ เช่น พนักงานออฟฟิศ นักธุรกิจ นายธนาคาร ที่มาเรียนเพราะต้องการผ่อนคลายจากการงานในชีวิตประจำวัน สถาปนิก กราฟิกดีไซเนอร์ ที่มาเรียนเพื่อหวังนำเอาศิลปะไปเสริมสร้างความรู้ในวิชาชีพด้านการออกแบบ แพทย์ผ่าตัด ที่มาเรียนเพราะต้องการงานอดิเรกที่สามารถสร้างสมดุลย์ให้กับชีวิตการทำงานที่ต้องแบกรับรับผิดชอบสูง หรืออีกจำนวนไม่น้อยก็มาเรียน เพียงเพราะอยากจะคุยปรึกษาปัญหาชีวิตกับชลิต
“ผมเป็นคนที่มองโลกในแง่สนุกสนาน ผมรู้วิธีการที่จะทำให้คนแฮปปี้ คนส่วนใหญ่บอกว่าพอมาคุยกับผมแล้วจะสบายใจ หลายคนก็เลยชอบมาคุยมาปรึกษาปัญหาชีวิต กับลูกศิษย์ก็เหมือนกัน ผมไม่ได้แค่สอน แต่ผมชอบถาม ชอบคุยเรื่องชีวิตของพวกเขา ลูกศิษย์บางคนมาสารภาพว่า พี่ จริงๆ ที่หนูมาเนี่ย ไม่ได้อยากมาเรียนศิลปะหรืออะไรหรอก แต่อยากมาคุยกับพี่มากกว่า เพราะว่าอกหักมา หรือว่ามีปัญหาชีวิตอะไรทำนองนั้น ผมก็โอเค ก็มาคุยกัน คุยเรื่องธรรมะบ้าง ปรัชญาชีวิตบ้าง แล้วก็ใช้ศิลปะเป็นตัวทำการบำบัดไปในตัว สุดท้ายเขาก็ได้ทั้งความสบายใจ ได้ทำงานอดิเรกที่เพลิดเพลิน แล้วก็ได้งานศิลปะของตัวเองกลับบ้านไป”
นี่คือสิ่งที่ชลิตเรียกว่า ศิลปะบำบัด หรือว่า Art Therapy หนึ่งในลักษณะสำคัญของการเรียนการสอนของ Chalit Art Project & Gallery ที่เขาบอกว่าไม่เหมือนใคร และก็ไม่น่าจะมีที่ไหนเหมือนในประเทศไทย
“ศิลปะสามารถขุดคุ้ยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจของเราออกมาได้ บางคนเก็บเรื่องบางเรื่องไว้ ไม่ได้ระบายออกมา เราก็จะใช้การพูดคุยและศิลปะนี่แหละ ช่วยให้เขาเอามันออกมา เราสามารถเห็นเรื่องราวความรู้สึกของคนผ่านธาตุทางทัศนศิลป์ต่างๆ ที่เขาเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เขาวาดออกมา หรือว่าเทคนิค หรือบางคนที่มีปัญหาในการจัดการชีวิต ก็อาจจะเพราะว่าเขาไม่ได้นำเรื่องที่อยู่ข้างในออกมาตีแผ่ให้มองเห็น ทำความเข้าใจ และวางแผนให้มันซะที มันก็เหมือนกับการทำ mind map พอเอาออกมาแล้ว เราจะได้รู้ว่าเราต้องแก้ไขอะไร ทำอะไร วางแผนชีวิตต่อไปยังไง”
ในการทำศิลปะบำบัด แน่นอนว่าผู้สอนจำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านจิตวิทยาด้วย แม้ว่าชลิตจะไม่ได้เรียนด้านจิตวิทยามาโดยตรง แต่เขาก็มีนิสัยส่วนตัวที่ช่างสังเกต สนใจเรื่องของผู้คน สนใจเรื่องการใช้ชีวิต ชอบอ่านจิตใจคน รวมทั้งชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยา จิตวิญญาณ และปรัชญา เมื่อเริ่มต้นทำศิลปะบำบัด ชลิตบอกว่าจำเป็นต้องนั่งคุยกับลูกศิษย์แต่ละคนเป็นรายบุคคลก่อน โดยผู้เป็นครูหรือผู้ให้การบำบัดต้องมองให้ออกว่านักเรียนแต่ละคนต้องการอะไร รู้สึกอะไรอยู่ข้างใน จากนั้นจึงมาออกแบบวิธีการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนการสอนที่เฉพาะทางของแต่ละคนว่าควรจะเป็นอย่างไร
“อย่างกรณีทั่วๆ ไป เราก็ต้องดูว่าเขาชอบอะไร วาด subject นี้ แล้วสนุกมั้ย มีความสุขมั้ย เทคนิคก็เหมือนกัน อยากใช้เทคนิคอะไร เราก็มีให้ทุกอย่าง มีทุกสี หรืออยากจะทำงานปั้น ก็ได้เหมือนกัน สำหรับเด็กเล็ก เราต้องให้พื้นฐานเขาทุกอย่าง เน้นเรื่องการกระตุ้นจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็ทำให้เขาสนุกกับศิลปะ แต่ถ้าโตหน่อยประมาณ 7 ขวบขึ้นไป ก็ต้องเรียนรู้เรื่องเหตุและผลด้วย เช่น รูปร่างคนผู้หญิง ผู้ชายแตกต่างกันยังไง เรื่อง perspective แต่เรื่องจินตนาการก็ยังต้องมีอยู่ หรือพอจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องมาดูว่าเขาอยากไปทางไหน สถาปนิก อินทีเรีย หรือว่าผู้ใหญ่ที่อยากมาเรียน อยากจะมาเรียนไปเพื่ออะไร
“เรายังมีนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษด้วย ตอนนี้มีอยู่ 5 คน ด้วยกัน สิ่งที่เราทำก็คือพัฒนาให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ มีอาชีพ มีเป้าหมายในชีวิต ซึ่งหลังจากมาเรียนที่นี่แล้ว ทุกคนก็มีพัฒนาการดีขึ้นหมด สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้น เรียนรู้เรื่ององค์ประกอบภาพ เส้น สี ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ ศิลปะที่เขาสร้างสรรค์ออกมาด้วยตัวเขาเอง ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า เมื่อคนเรารู้สึกว่าตัวเองมีค่า เราก็จะรู้สึกว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว แล้วเราก็จะมีความสุข นี่งานหลายชิ้นของเด็กพิเศษก็มีคนมาขอซื้อด้วย เขาก็ยิ่งภูมิใจ”
ภายในระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา ชลิตมีลูกศิษย์ลูกหานับจำนวนไม่ถ้วน เด็กบางคนมาเรียนกับเขาตั้งแต่ 6 ขวบ จนถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย บางคนมาเรียนแล้วหายไป 2-3 ปี ก็วกกลับมาใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าทุกครั้ง พวกเขาก็ได้เจอ ‘ครูชลิต’ สอนศิลปะอยู่ที่บ้าน ในบรรยากาศสบายๆ แบบเดิม นั่นคือคลาสสอนศิลปะที่เป็นกันเอง ไม่มีเวลาแบ่งเป็นคาบเป็นชั่วโมง ใครจะมาตั้งแต่สิบโมงแล้วอยู่จนห้าโมงเย็นก็ได้ ใครจะเอาขนมมานั่งกินกัน เอาไวโอลินมาเล่นให้เพื่อนๆ ฟัง หรือแบ่งเวลาไปนั่งเล่นในสวนเขียวสวยก็ได้เหมือนกัน เรียกว่าโรงเรียนศิลปะแห่งนี้เหมือนบ้านที่มีเพื่อนๆ ต่างวัย ต่างอาชีพ มานั่งเล่นสังสรรค์คุยกันและช่วยกันทำงานศิลปะเสียมากกว่า
“ผมไม่เคยคิดมาก่อนนะว่าจะมาเป็นครู จริงๆ มาเป็นครูได้ยังไงก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน แต่อาจจะเพราะผมเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้ ผมสนใจเรื่องการพัฒนาคน สนใจเรื่องจิตวิญญาณ ปรัชญา แล้วก็มีความสุขกับการให้ เพราะสำหรับผม การให้คือการได้รับ มันทำให้ผู้ให้มีความสุขตั้งแต่เริ่มคิดแล้วว่าอยากจะมอบสิ่งดีๆ บางอย่างให้กับคนอื่น จริงๆ แล้ว 21 ปีที่สอนศิลปะมา มันก็คงมีปัญหาบ้าง แต่ปัญหาสำหรับผมมีไว้ให้เราฝึกปัญญา ผมไม่ได้มองว่าปัญหาเป็นเรื่องน่าเบื่อ เมื่อปัญหาเกิด ก็แก้ไขกันไป ทุกอย่างสำหรับผมก็เลยไม่ใช่ปัญหา”
นอกจากโรงเรียนสอนศิลปะและศิลปะบำบัดที่ชลิตยังคงทำอย่างต่อเนื่องที่ Chalit Art Project & Gallery ในกรุงเทพฯ แล้ว เร็วๆ นี้ ชาวต่างจังหวัดก็จะได้มีโอกาสเรียนศิลปะในหลักสูตรเดียวกันนี้ หลังจากที่ชลิตได้ดำเนินการร่างหลักสูตร และเตรียมส่งต่อให้คนที่สนใจนำหลักสูตรนั้นไปใช้ในโรงเรียนศิลปะตามต่างจังหวัด โดยที่เขาจะแบ่งเวลาเดินทางไปดูแล รวมทั้งส่งครูคนอื่นๆ ไปช่วยสอนด้วย “เร็วๆ นี้ก็จะมีที่โคราชก่อน จากนั้น ก็คิดว่าจะมีโรงเรียนสอนศิลปะที่ใช้หลักสูตรของเราครบทุกภาค เหมือนกับขายแฟรนไชส์” ชลิตว่า แต่หนึ่งในโรงเรียนศิลปะที่กำลังจะเกิดขึ้นในบ้านพักอีกแห่งของเขาก็คือที่ชะอำ “ทุกวันจันทร์ถึงพุธที่ผมไม่มีสอนที่กรุงเทพฯ ผมก็จะไปใช้เวลาส่วนมากที่ชะอำ จริงๆ ผมตั้งใจให้บ้านที่ชะอำเป็นบ้านไว้ทำงานศิลปะของตัวเอง แต่ชอบมีฝรั่งเดินเข้ามาถามว่าสอนศิลปะมั้ย ก็เลยคิดว่า เออ เปิดเป็นโรงเรียนไปด้วยก็น่าจะดี เพราะแถวชะอำ หัวหิน มีฝรั่งที่เกษียณแล้วมาอาศัยอยู่เยอะ ถ้าเขาได้เรียนศิลปะก็น่าจะเป็นการใช้เวลาว่างที่ดีที่มีประโยชน์แก่ตัวเขา”
แผนการอีกอย่างที่น่าจะสำเร็จภายในปีนี้ก็คือ Chalit Art Project & Gallery กำลังจะต่อเติมพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะบนชั้นสอง ส่วนด้านล่างจะเป็นร้านกาแฟ และมีที่นั่งให้คนมานั่งจิบเครื่องดื่มพลางชมหรือสร้างสรรค์งานศิลปะอยู่ในสวน ชลิตยอมรับว่านี่เป็นสิ่งที่เขาอยากทำมานาน แต่ก็ผัดผ่อนมานานเช่นกัน แต่แล้วข้อคิดบางอย่างที่ได้จากการประสบอุบัติเหตุเฉียดตาย ก็ทำให้เขาคิดว่า เขาจะไม่ผัดผ่อนในสิ่งที่อยากทำทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่นอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานศิลปะส่วนตัว โรงเรียนศิลปะ แกลเลอรี่ หรือการดูแลสุขภาพของตัวเอง จะว่าไป อุบัติเหตุครั้งนั้นก็ทำให้เขาเป็นคนมีระเบียบวินัยกับชีวิตมากขึ้น
“มันเปลี่ยนชีวิตเราเหมือนกันนะ หลายด้านเลย เห็นมั้ยจากผมยาว ก็ตัดผมสั้น ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าวันไหนจะไปกินเหล้ากลับมาดึก อีกวันนึงผมก็ต้องตื่นขึ้นมาออกกำลังกายให้ได้ ความคิดเองก็เปลี่ยนไป พอมอเตอร์ไซค์ชน เข้าโรงพยาบาลมันเหมือนมาพัฒนาเราเหมือนกัน ถ้าเรามีแผนงานที่อยากทำ คิดไว้แล้ว วางแผนไว้แล้ว เราก็จะรีบทำ คือคิดแล้วทำเลย ไม่ผัดผ่อนอีกแล้ว ทั้งเรื่องแกลเลอรี่ที่นี่ โรงเรียนศิลปะที่เราเคยอยากทำในต่างจังหวัด งานศิลปะของตัวเองที่อยากทำให้จริงจังมากขึ้น หรือว่าเรื่องสตรีทอารต์ที่กำลังจะมีในหลายๆ ที่ อย่างเช่น สมุย สงขลา คือผมชอบอยู่แล้วเรื่องทำงานเพื่อสังคม แล้วสตรีทอาร์ตมันก็ไปอยู่ในชุมชน สามารถให้ความสุขแก่คนได้ เพราะศิลปะทำให้คนมีความสุข”
ติดตาม ชลิต นาคพะวัน ได้ที่ Facebook: Chalit Nakpawan (ชลิต นาคพะวัน)
Photo: ศวิตา แสงน้ำเพชร