CHAR CO-Tile: ภูมิปัญญา ‘ถ่าน’ สู่ผลิตภัณฑ์ตกแต่งดีไซน์สวย สร้างงานสร้างอาชีพ

 

เมื่อพูดถึงถ่าน หลายคนคงนึกไปถึงประโยชน์ใช้สอยในเรื่องเชื้อเพลิง แต่ถ่านยังมีประโยชน์อีกมาก ทั้งในเรื่องการปรับคุณภาพน้ำ การดูดซับความชื้นและกลิ่นคาว อย่างที่เราเห็นการนำถ่านมาไว้ในตู้เย็นเพื่อดูดซับกลิ่นคาว หรือการดูดกลิ่นอับในตู้เสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติที่ว่านี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านการสร้างสรรค์ผลงานของ นภดล สังวาลเพ็ชร ที่เกี่ยวเนื่องกับถ่านมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ผลงานในชื่อ ‘ถ่าน’ ที่เขาเลือกตีความผลผลิตทางธรรมชาติชนิดนี้ออกมาเป็นงานศิลปะ รวมถึงนวัตกรรมล่าสุดอย่างกระเบื้องถ่านงานนี้ด้วย

เพราะสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินกับถ่านมาตั้งแต่เด็ก ทั้งจากธุรกิจของครอบครัว ไปจนถึงการเป็นวัสดุหาง่ายในชุมชน นภดลจึงเลือกผสมผสานลักษณะเด่นของถ่านมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริงและเกิดประโยชน์สูงสุด กระเบื้องถ่าน หรือ CHAR CO- Tile นั้นถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน เช่น แจกัน โคมไฟ ที่รองแก้ว การเป็นวัสดุสำหรับตกแต่งอาคารอย่างการเป็นกระเบื้องตกแต่งผนัง โดย CHAR CO- Tile แต่ละแผ่นจะมีลวดลายที่แตกต่างกัน ซึ่งนับเป็นอีกจุดเด่นนอกเหนือไปจากการช่วยดูดกลิ่นอับและซับความชื้นได้ดี และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการหยิบเอาภูมิปัญญาของคนไทยโบราณอย่างการยาชันเรือที่เป็นการนำชันมาอุดรอยรั่วของเรือเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการทนแดด ทนฝน มาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยให้ข้อจำกัดที่เคยมีของถ่าน ไม่ว่าจะเป็นรอยดำที่มักเปื้อนมือหรือเสื้อผ้าขณะใช้งาน รวมถึงความเปราะของเนื้อถ่านนั้นหมดไป

CHAR CO- Tile นับเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีตามธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี พร้อมๆ ไปกับการสร้างอาชีพให้แก่คนในท้องถิ่นด้วยการรักษาชุมชนคนเผาถ่านให้ดำเนินได้ต่อไป ขณะที่อัตลักษณ์ของชุมชน ตลอดจนคุณค่าของวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ยังสามารถเดินคู่ขนานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างพอดีด้วย

อ้างอิง: TCDC, Facebook: InnovativeCraftAward

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles