การออกแบบเมืองใหญ่ในหลายมุมของโลกก็อาจจะมีข้อผิดพลาดจนเกิดซอกลืมของเมืองที่มีการใช้สอยยากจนถูกทิ้งร้างหลงลืมไป และที่โครงการ Chengdu Waterline Park เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ก็เช่นกัน แต่เมื่อการออกแบบคือการแก้ปัญหา ความน่าสนใจจึงอยู่ที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน
Lab D+H คือสถาปนิกผู้ออกแบบที่ได้รับโจทย์ที่ต้องแก้ไขปัญหาจากสถานที่ที่ไม่มีความน่าสนใจ ซึ่งเป็นร่องน้ำที่มีลักษณะแคบยาว ส่วนที่กว้างที่สุดก็มีระยะแค่ 40 เมตร แต่มีความยาวกว่า 1.50 กิโลเมตร ซอกของเมืองแห่งนี้รายล้อมด้วยอาคารพักอาศัย แม้ว่าเริ่มต้นโจทย์ด้วยข้อจำกัดที่มากมายแต่นักออกแบบกลับมองเห็นจุดเด่นที่จะนำมาใช้งานได้คือ ‘น้ำ’
พื้นที่แคบยาวเหล่านี้ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกันด้วยสวนน้ำ ด้วยลักษณะของที่ตั้งสวนสาธารณะนี้มีความสูงต่ำที่ไม่เท่ากัน สถาปนิกจึงได้จัดวางในแต่ละส่วนให้มีความสัมพันธ์กันด้วยทิศทางการไหลของสายน้ำ โดยที่ความยาวจะถูกแบ่งออกเป็นจุดกิจกรรมต่างๆ เป็นระยะ ทำให้ระยะห่างดูไม่ยาวจนเกินไป สามารถเข้าถึงทุกส่วนได้ด้วยการเดิน พร้อมกับการกระจายผู้คนไปในส่วนต่างๆ ให้ใช้งานพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ทำให้แม้ที่ตั้งจะมีความยาว แต่ก็มีกิจกรรมการใช้งานตลอดเส้นทาง
สถาปนิกเล็งเห็นโอกาสจากภูมิประเทศจากทะเลสาบหลู ที่ระดับน้ำขึ้นลงไปตามฤดูกาล การออกแบบช่องทางน้ำด้วยการสร้างความลึกและควบคุมการไหลของน้ำที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถควบคุมความสัมพันธ์ของน้ำทั้งหมดในเวลาและพื้นที่ที่แตกต่างกัน เพื่อรองรับกิจกรรมเป็นพื้นที่สาธารณะของผู้อยู่อาศัยโดยรอบได้ และในฤดูฝนที่มีในตกหนัก พื้นที่สวนที่เป็นหญ้าคลุมดินสามารถเป็นรองรับน้ำให้ซึมสู่ใต้ดินได้ ร่องน้ำกลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำของเมืองที่ช่วยชะลอน้ำไม่ให้ท่วม ส่งน้ำลงไปเก็บยังถังเก็บน้ำใต้ดิน แบ่งน้ำออกเป็นส่วนที่นำกลับไปใช้ในสวนสาธารณะอีกครั้ง และส่วนที่เกินก็จะทยอยระบายสู่ทะเลสาบในที่สุด
แม้ว่าโครงการนี้จะมีที่ตั้งลักษณะแคบยาว ไม่เอื้อต่อการเกิดพื้นที่สาธารณะ แต่เมื่อมองกลับกันมันสามารถที่จะแก้โจทย์ด้วยการออกแบบเป็นจุดกิจกรรมต่างๆ ให้เชื่อมโยงกัน ทำให้พื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างของเมืองกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง เพราะนี่คือความสำคัญของการออกแบบ
แปลและเรียบเรียงจาก: www.archdaily.com
ที่มา: dhscape.com, www.arch2o.com