‘บ้านกุ๊กไก่’ ให้คนและไก่ได้ใช้พื้นที่ร่วมกันในสวนหลังบ้าน

การออกแบบคือการแก้ปัญหา อยู่ที่ว่าจะมีมุมมองต่อปัญหานั้นอย่างไรเท่านั้น หากทำความเข้าใจถึงโจทย์ก็สามารถพลิกแพลงหาคำตอบได้หลากหลายเลยทีเดียว เช่นกับอีกคำตอบว่าด้วยเรื่องคนกับสัตว์ที่ประเทศเวียดนาม เมื่อครอบครัวหนึ่งบ้านต้องการย้ายบ้านไปยังชนบทนอกเมือง และต้องการพื้นที่ให้ลูกของพวกเขาได้เรียนรู้ธรรมชาติในสวนหลังบ้านไปด้วย สถาปนิกที่นอกจากออกแบบบ้านให้ครอบครัวนี้แล้ว ยังให้คำตอบพื้นที่นี้ด้วย

TROPICAL SPACE สำนักงานสถาปนิกจากนครโฮจิมินห์ได้ออกแบบพื้นที่เลี้ยงไก่ให้กับครอบครัวนี้ เพื่อให้เด็กๆ สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ของพวกเขาได้อย่างสะดวก และให้พื้นที่การเลี้ยงไก่นี้ตอบโจทย์ที่มีความเชื่อมโยงกับตัวบ้านและสวน พวกเขาไม่ต้องการเลี้ยงไก่แบบทั่วไปที่นิยมเลี้ยงแบบขังไก่ไว้ในที่แคบ จึงเปลี่ยนวิธีการสร้างพื้นที่การเลี้ยงใหม่ให้เป็นกรงที่ตอบสนองกับพฤติกรรมของเหล่าไก่ทั้งหลาย คำถามจึงเริ่มจากที่ว่าไก่ต้องการอะไรบ้าง ซึ่งไก่ต้องการพื้นที่โล่ง ระบายอากาศดี พื้นที่กินน้ำ พื้นที่สำหรับนอน ที่ฟักไข่ ลานคุ้ยดิน พื้นที่กว้างสำหรับวิ่งเล่น

จากพฤติกรรมของไก่ กลายเป็นสถาปัตยกรรมของคนและไก่ ประกอบรูปขึ้นด้วยแผงตาข่ายโลหะเป็นผนังกรงขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 10 เมตร ระยะทั้งหมดมาจากความพอดีในการใช้งานของไก่ที่ต้องการบินในระยะไม่สูงนักตอนกลางคืน การออกแบบพื้นเป็นพื้นลาดด้วยซีเมนต์ให้สามารถระบายน้ำได้ดี และเว้นพื้นที่ดินให้สำหรับไก่ได้คุ้ยดินตามนิสัย

ส่วนที่น่าสนใจสำหรับงานนี้คือการผสานสัดส่วนของคนและไก่เข้าด้วยกัน ตรงแผ่นซีเมนต์เป็นพื้นสำหรับให้ไก่นอน กลายเป็นที่นั่งสำหรับเด็กไปในคราวเดียวกันเพื่อเด็กเข้ามาใช้ร่วมกันกับไก่  นอกจากนี้ยังเป็นที่บังแดดภายในกรงด้วย

ในระยะยาว ได้คาดว่าเหล่าพืชสวนครัวที่เป็นไม้เลื้อยอย่างเช่น บวบ จะเลื้อยเข้ามาปกคลุมแผงกรงนี้ให้กลายเป็นที่บังแดด เกิดร่มเงาร่วมกันไปทั้งคนและสัตว์ร่วมกันที่สวนบ้านนี้ต่อไป

อ้างอิง: khonggiannhietdoi.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles

Next Read