Chid Liberty (ชิด ลิเบอร์ตี) เกิดที่ไลบีเรีย ประเทศฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แต่เนื่องจากสงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรง ครอบครัวของเขาจึงลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ตัวเขาเองก็ยอมรับว่าเขารู้เรื่องแอฟริกาน้อยมาก แต่ก็ตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจที่ทวีปบ้านเกิด หลังจากสำเร็จการศึกษาในสหรัฐอเมริกา
แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ระอุด้วยสงครามภายในประเทศ เผด็จการทหาร โรคระบาด และความยากจน เขาตัดสินใจใช้ธุรกิจเป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก่อตั้งบริษัท Liberty & Justice ที่บอกพันธกิจชัดเจนในชื่อ เลือกเริ่มต้นที่ธุรกิจสิ่งทอเพื่อสร้างงานและโอกาสให้ผู้หญิง และริเริ่มโรงงานแห่งแรกที่ได้รับตรารับรองการค้าที่เป็นธรรมหรือแฟร์เทรดเป็นโรงงานแรกของแอฟริกา
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ชิด ลิเบอร์ตี CEO ของเครือ Liberty & Justice (L&J) ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในวิทยากรและกรรมการตัดสิน Global Social Venture Competition ซึ่งเป็นการแข่งขันธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลก นี่คือการมาประเทศไทยครั้งแรกของเขา และเป็นครั้งแรกของครีเอทีฟมูฟเช่นกันที่ได้พบกับชิด ลิเบอร์ตี
แม้เขาจะเหนื่อยจากการเดินทางไกลจากสหรัฐอเมริกา แต่คำตอบฉะฉานชัดเจนบอกเราว่า L&J มีจุดยืนอย่างชัดเจนทั้งในด้านธุรกิจ สังคม และความเป็นธรรม แม้ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่า ‘สกปรก’ เป็นอันดับสอง
1.ธุรกิจ
Q: คุณมีความรู้หรือประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าหรือแฟชันก่อนมาทำธุรกิจนี้หรือไม่
A: ไม่มีเลยครับ จริงๆ แล้วผมมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีกับการเงินซึ่งอยู่คนละขั้วกับธุรกิจด้านการผลิต ทั้งผมและ Adam Butlein หุ้นส่วนของผมต่างก็ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมแฟชันมาก่อน
Q: เรียกว่าตัดสินใจทำเลย
A: ใช่ครับ เรากระโดดเข้ามาทำธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เราแทบไม่รู้อะไรเลย แน่นอนว่ามันเป็นความคิดที่ไม่ดีนักหรอก (หัวเราะ) เราเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างแต่ก็รู้สึกว่าเราเองก็ได้รับอะไรกลับคืนมา นั่นคือสิ่งยืนยันว่าเรามาถูกทาง
L&J จะแตกต่างจากธุรกิจเพื่อสังคมอื่นๆ เพราะเราไม่ได้คิดค้นอะไรขึ้นมาใหม่ ไม่จำเป็นต้องเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ สร้างนวัตกรรมบนออนไลน์แพลตฟอร์ม หรือผลิตแอพพลิเคชัน สิ่งที่เราทำคือธุรกิจประเภทแรกๆ ที่เกิดขึ้นหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงไม่ยากเท่าไหร่ที่จะทำให้มันเดินหน้าไปได้ แต่ต้องยอมรับว่ามีการแข่งขันสูงมากๆ
Q: ความท้าทายครั้งใหญ่ของ L&J คืออะไร
A: เราเริ่มตั้งธุรกิจเมื่อเดือนเมษายน ปี 2010 ทุ่มเทแรงงานและทรัพยากรเป็นเวลาเกือบสองปีครึ่งเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการผลิตที่เพียงพอตามสัญญาที่เราทำเมื่อปี 2012 กับบริษัท Hagger แต่เราเริ่มผลิตไปได้ไม่นานก็เจอการระบาดของอีโบล่าในไลบีเรียในปี 2014
การระบาดของอีโบลาไม่ใช่เรื่องที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้น เราไม่มีทรัพยากรพอที่จะพร้อมรับมือ และไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรเราก็ไม่อยากปิดโรงงาน เพราะโรงงานก็เหมือนสายพานการผลิต เรามีพนักงานหลายร้อยคน ชิ้นส่วนต่างๆ ที่กำลังถูกขนส่งมายังโรงงาน มันยากที่จะหยุดแล้วเริ่มใหม่ เพราะการเริ่มใหม่แต่ละครั้งจะมีต้นทุนสูงมากๆ
เราไม่อยากปิดโรงงาน แต่เราก็รู้ว่าลูกจ้างของเราอาศัยอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงสูงมาก การเดินทางมาทำงานก็อันตรายมากๆ เราจึงตัดสินใจปิดโรงงานสองสัปดาห์ หลังจากนั้นสามวันไลบีเรียก็ประกาศปิดประเทศภายใต้ภาวะฉุกเฉิน คุณลองคิดดูเองแล้วกันว่าผมต้องโทรหานักลงทุนและลูกค้าเพื่อบอกพวกเขาว่าเราต้องปิดโรงงานอย่างน้อยสามเดือนโดยไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเมื่อไรที่เราจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ นี่ไม่ใช่แค่ความท้าทายครั้งใหญ่ของ L&J แต่เป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดในชีวิตของผม
Q: เรียกได้ว่าไม่ได้อยู่ในแผนธุรกิจ
A: (หัวเราะ) เรื่องการระบาดของอีโบลาไม่ได้อยู่ในการประเมินความเสี่ยงของเราด้วยซ้ำ เพราะไม่เคยมีการระบาดครั้งใหญ่ในไลบีเรีย
Q: แล้วหลังจากผ่านวิกฤติไปได้
A: เราตัดสินใจกลับมาเปิดโรงงาน แต่ลูกค้าของเราไม่สนใจที่จะซื้อเสื้อผ้าจากเราอีกต่อไป ทำให้เราต้องผลิตแบรนด์ของตัวเราเองเพื่อให้ลูกจ้างของเรามีงานทำ จึงเกิดเป็นแบรนด์ชื่อ UNIFORM ซึ่งยอดขายส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา
Q: ปัจจุบัน L&J มีกำไรหรือไม่
A: สามบริษัทของเราเพิ่งมีกำไรเมื่อไตรมาสที่แล้ว และคาดว่าในปีนี้ทั้งเครือ L&J จะเริ่มมีกำไร เรื่องนี้ทำให้ผมตื่นเต้นมาก
สำหรับผม การทำธุรกิจเพื่อสังคมต้องมีกำไร นั่นคือหัวใจของการที่เราทำองค์กรในรูปแบบธุรกิจ ถ้าเราไม่คิดว่าจะมีกำไรตั้งแต่แรก เราก็ควรเลือกที่จะจัดตั้งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร
แต่ผมว่าเราไม่ควรยึดติดกับรูปแบบขององค์กรมากนัก ที่สำคัญคือคุณต้องมีพันธกิจว่าคุณจะทำอะไร และทั้งองค์กรจะต้องขับเคลื่อนด้วยพันธกิจนั้น ถ้าคุณมองว่าต้องการให้องค์กรสร้างงานสร้างรายได้ เป็นธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรของคุณก็ควรจะมีกำไร แต่ผมมองว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ในอนาคตทุกธุรกิจะต้องวัดผลลัพธ์ทางสังคมดังเช่นที่เราวัดผลตอบแทนทางการเงิน เมื่อถึงเวลานั้น ธุรกิจที่ทำเพื่อสังคมจริงๆ จะโดดเด่นขึ้นมาจากธุรกิจทั่วๆ ไป
แต่กว่าจะถึงตอนนั้นคงต้องใช้เวลา เพราะประเด็นเรื่องผลลัพธ์ทางสังคมมันกว้างมาก
2.สังคม
Q: ชื่อแบรนด์ UNIFORM มาจากอะไร
A: หลังจากการระบาดของอีโบลา โรงเรียนทุกแห่งถูกปิดไป 9 เดือน และกว่าจะเปิดได้ก็เกือบปีเพราะต้องใช้เวลาอีก 3 เดือนในการทำความสะอาดพื้นที่ ปีนั้นเด็กหลายพันคนไม่ได้ไปโรงเรียน อีกทั้งโรคอีโบลาก็พรากชีวิตคนในครอบครัวและผู้ที่คอยดูแลเด็กๆ เหล่านั้นไป เราก็ถามตัวเองว่าจะทำยังไงได้บ้างเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น
เราคือหนึ่งในโรงงานที่ตั้งอยู่ใจกลางการระบาดของโรคอีโบลา เราคิดว่าเราสามารถบริจาคชุดนักเรียนได้จึงเกิดเป็นแบรนด์ชื่อ UNIFORM คือการขายเสื้อทุกๆ 1 ตัว เราจะบริจาคชุดนักเรียนให้เด็กชาวไลบีเรีย 1 ชุด ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการให้ทุนการศึกษาแก่เด็ก
เสื้อยืดแบรนด์ UNIFORM (ภาพจาก africafashionguide)
Q: ชุดนักเรียนสำคัญมากขนาดนั้น
A: ผมอาจไม่ค่อยรู้เรื่องแอฟริกามากนัก แต่มีงานวิจัยโดยธนาคารโลกและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด[i]พบว่าชุดนักเรียนเพิ่มอัตราการเข้าเรียนของเด็กถึงร้อยละ 6.2 เพิ่มคะแนนสอบได้ 1 ใน 4 ของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และลดอัตราการท้องในวัยรุ่น นี่คือผลลัพธ์ทางสังคมขนาดใหญ่ที่ธุรกิจเราสร้างขึ้น
Q: L&J มีพนักงานผู้หญิงถึงร้อยละ 90 และให้ลูกจ้างถือหุ้นถึงร้อยละ 49 ทำไมถึงต้องเน้นความสำคัญในการจ้างงานผู้หญิง
A: เหตุผลแรกคือ มีการศึกษาทางสังคมศาสตร์ที่ยืนยันว่าการลงทุนในผู้หญิงจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมด้านสุขภาพและการศึกษาอย่างมหาศาล การศึกษาดังกล่าวยังสอดคล้องกับการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมที่เราจัดทำขึ้น หากเรามองไปที่สถิติของประเทศไลบีเรีย เด็กราวร้อยละ 40 เท่านั้นที่ได้ไปโรงเรียน แต่สำหรับผู้หญิงที่มีงานทำ ลูกๆ ของพวกเธอจะไปโรงเรียนร้อยละ 86 นี่คือความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
เหตุผลข้อที่สอง ต้องเข้าใจก่อนว่าในไลบีเรียสินค้าส่งออกหลักคือยาง เพชร ไม้ และแร่เหล็กซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 97 ของการส่งออกทั้งหมด แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ได้สร้างงานให้กับผู้หญิง เรามองเห็นโอกาสนี้ และคิดว่าการทำงานกับผู้หญิงนอกจากจะช่วยให้เราเข้าถึงตลาดแรงงานขนาดใหญ่แล้ว เรายังสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในระดับมโหฬารอีกด้วย สองเหตุผลนี้ทำให้เราตัดสินใจทำธุรกิจผลิตเสื้อผ้า
Q: กลุ่มผู้หญิงไลบีเรียมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว
A: เรามองเห็นการขับเคลื่อนและการรวมตัวกันของผู้หญิงชาวไลบีเรียอย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อสันติภาพของกลุ่มผู้หญิงในไลบีเรียที่มีจุดประสงค์เพื่อยุติสงครามประชาชนในประเทศ การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังทำให้ Leymah Gbowee ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2011 นอกจากนี้ไลบีเรียยังเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง
Q: อายุเฉลี่ยของลูกจ้างในโรงงานประมาณเท่าไร
A: อายุเฉลี่ยของคนงานในโรงงานของเราจะมากกว่าโรงงานเสื้อผ้าทั่วไป ถ้าคุณไปดูโรงงานผลิตเสื้อผ้าในประเทศจีนหรือประเทศในแถบเอเชีย คนงานส่วนใหญ่จะอายุไม่เกิน 20 ปี ที่คนงานของเรามีอายุมากเพราะกระบวนการคัดเลือกคนที่ผิดพลาดของเราเอง
ผมยังจำได้ดีว่าวันแรกที่เราพาที่ปรึกษาและผู้ฝึกงานเข้ามาพบพนักงานของเรา พวกเขาพูดเลยว่าลูกจ้างของเราแก่เกินไปและสายตาของพวกเธอไม่ดีพอ (หัวเราะ) แต่โชคดีที่เรายังเดินหน้าต่อไป ทุกวันนี้คนงานอายุค่อนข้างมากเหล่านั้นได้สร้างวัฒนธรรมในโรงงานที่น่าประหลาดใจ พวกเธอทำงานหนัก และอยู่ร่วมกันไม่ต่างจากครอบครัว
บรรยากาศในโรงงานของ Liberty & Justice (ภาพจาก africafashionguide)
Q: L&J สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไร
A: เราสร้างผลลัพธ์หลายอย่างมาก ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ที่เราสร้างงานให้ผู้หญิง คือเรามีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสินทรัพย์ให้กับพวกเขา ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้หญิงทั่วโลกในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักไม่ได้รับสิทธิในการครอบครองสินทรัพย์ เนื่องจากสินทรัพย์มักจะถูกส่งต่อให้กับครอบครัวผู้ชาย เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราจึงเริ่มโครงการ เช่น การให้หุ้นสามัญแก่พวกเธอ หรือการสนับสนุนการออมเงินโดยทุกๆ การออม 1 ดอลลาร์เป็นระยะเวลา 1 ปี เราจะสมทบให้อีก 1 ดอลลาร์
นอกจากผลลัพธ์ดังกล่าว ผมยังมองเห็นว่าเราสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม ผู้หญิงที่ทำงานกับเราส่วนใหญ่จะแต่งงานตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปี ทำให้พวกเธอแทบไม่มีอิสระทางด้านเศรษฐกิจ การทำงานที่นี่จะให้อิสระแก่พวกเธอเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งผมมองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการทำให้ใครสักคนสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้
Q: ทำไม L&J ต้องใส่ใจกับการวัดผลลัพธ์ทางสังคมมากถึงขนาดได้ GIIRS[ii] ระดับ 5
A: บางคนอาจบอกว่าเราทุ่มเทกับเรื่องนี้มากเกินไป (หัวเราะ) แต่สำหรับผม ผลลัพธ์ทางสังคมคือสิ่งที่ผมใส่ใจมากที่สุดเพราะเวลาผมตื่นนอนในตอนเช้าผมอยากรู้ว่าเราได้สร้างอะไรให้กับโลกบ้าง เราจึงต้องการผลลัพธ์ต่อชีวิตผู้คนและสังคมที่สามารถแปลงเป็นมูลค่าได้ ดังนั้นเครื่องมืออย่าง GIIRS จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเรา แต่ต้องบอกว่ามันมีหลายเรื่องมากที่จับต้องไม่ได้และเราไม่สามารถแปลงค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ อย่างเช่นช่วงเวลาที่เราเข้าไปที่โรงงานแล้วพนักงานร่วมกันร้องเพลงและทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพวกเขา นี่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ผมเดินหน้าทำงานต่อไป
3.ความเป็นธรรม
Q: ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน คุณมีคำแนะนำไหมว่าถ้าต้องการจะซื้อเสื้อสักตัว เราควรพิจารณาจากอะไร
A: ตอนที่เลือกซื้อเสื้อผ้าสักตัว คุณตั้งสมมติฐานได้เลยว่าสภาพการทำงานของแรงงานที่ผลิตสินค้าให้คุณส่วนใหญ่อยู่ในระดับแย่มาก แม้ว่าคุณจะซื้อของจากร้านราคาแพงก็ตาม มีสารคดีเรื่องหนึ่งชื่อว่า ‘THE TRUE COST’ ซึ่งเป็นสารคดีที่นำเสนอเบื้องหลังของวงการแฟชันที่หลายคนไม่ทราบ สารคดีเรื่องนี้มองว่าแฟชันคืออุตสาหกรรมที่สกปรกที่สุดเป็นอันดับสองรองจากน้ำมัน
ผมแนะนำว่าหากเราจะซื้อเสื้อผ้าสักชิ้น เราอาจเริ่มต้นที่การเลือกสินค้าที่มีตรารับรองอย่างแฟร์เทรด (Fair Trade) หรือถ้าเป็นไปได้ เราควรหาแบรนด์เสื้อผ้าที่มีจริยธรรมฝังอยู่ในดีเอ็นเอขององค์กร หรือแบรนด์ที่มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่ามันยากกว่า แต่ในอีกสิบปีข้างหน้า เราอาจมองเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นกว่านี้
Q: คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดอย่าง Fast Fashion[iii] และการที่หลายคนมองว่าธุรกิจแฟชันไม่ยั่งยืนเพราะสนับสนุนให้คนบริโภค
A: ผมมองว่าคนที่ทำงานในธุรกิจแฟชันแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกยึดแนวคิด Fast Fashion และหลับหูหลับตาทำโดยไม่สนใจว่าใครจะพูดอะไร และกลุ่มที่สองก็ต่อต้านอย่างสุดขั้วและสร้างแนวร่วมที่เรียกว่า Slow Fashion ซึ่งสนับสนุนให้ซื้อเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็นต้องใส่และใส่มันไปเป็นสิบปี ผมมองว่าเทรนด์อย่าง Slow Fashion ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ และทั้งสองแนวคิดต่างก็สุดโต่งในตัวของมันเอง
ผมอยากให้มองความเป็นจริงว่าคนทุกคนต่างอยากให้ตัวเองดูดี เราจึงต้องเติมเต็มความต้องการตรงนี้ คงไม่มีใครอยากให้คู่รักของคุณมารับไปทานข้าวแล้วพูดว่า ‘ที่รัก วันนี้คุณดูเปี่ยมไปด้วยจริยธรรมจริงๆ’ (หัวเราะ) สิ่งที่คุณต้องการคือให้เขาหรือเธอบอกคุณว่าคุณดูดี ดูเซ็กซี่ หรือดูเร่าร้อน
Q: แล้ว L&J ยึดแนวคิดอะไร
A: เราวางตัวเองไว้จุดที่เรียกว่าแฟชันที่เป็นธรรม (Just Fashion) ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างอยู่ตรงกลาง คือต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากให้เสื้อผ้าของเรากลายเป็นขยะ เราจึงพยายามหาทางออกที่ยั่งยืนขึ้น
คำว่าแฟชันที่เป็นธรรมคือการเดินหน้าสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเส้นใย วิถีปฏิบัติในฟาร์มและโรงงาน นำมาผสมกันเพื่อสร้างเป็นกลไกลขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชันให้ยั่งยืนขึ้น ยกตัวอย่างสินค้าของแบรนด์ UNIFORM เราจะออกแบบมาวางขายสองเวอร์ชัน เช่นเสื้อแจ็คเก็ต จะมีทั้งแบบที่ใช้ไนลอนทั่วไป และไนลอนที่รีไซเคิลจากแหจับปลา เราผลิตทั้งสองแบบเพื่อให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจ และสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค
Q: การได้รับตราแฟร์เทรดเป็นการเพิ่มต้นทุนหรือไม่
A: ใช่ครับมันเพิ่มต้นทุน แต่สำหรับบางกรณีสินค้าแฟร์เทรดอาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า เช่นสินค้าของเราที่ได้รับการรับรองแฟร์เทรดแต่ก็สามารถขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าสินค้าจากประเทศจีน ส่วนหนึ่งคือเราไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้าเนื่องจากสินค้าทั้งหมดผลิตในแอฟริกา ทำให้เราสามารถประหยัดภาษีไปได้ประมาณร้อยละ 30 ดังนั้นต่อให้เราเพิ่มค่าแรงร้อยละ 5 – 10 เราก็ยังพอมีช่องทางในการทำกำไร ซึ่งสอดคล้องกับคุณค่าที่องค์กรของเรายึดถือคือการทำให้ห่วงโซ่อุปทานของเราเขียวขึ้น ดีขึ้น เร็วขึ้น และราคาถูก
Q: เราจะทำให้เรื่องแฟร์เทรดกลายเป็นกระแสหลักได้อย่างไร
A: หากจะทำให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพราะนี่เป็นเรื่องของทุกคน เราไม่มีทางทำให้แฟร์เทรดเป็นกระแสหลักได้ถ้าฝ่ายผลิตหรือผู้บริโภคเลือกเดินเพียงลำพัง เราจำเป็นต้องมีบุคคลที่สาม ประกอบกับการดำเนินนโยบาย
การรับรองแฟร์เทรดเองก็มีช่องว่าง เช่นการกำหนดเงื่อนไขว่าเราต้องจ่ายอย่างน้อยเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายในพื้นที่ แต่ถ้าค่าแรงขั้นต่ำมันน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการใช้ดำรงชีพล่ะ การจ่ายแค่นั้นมันก็ดูไม่แฟร์สักเท่าไร การทำเรื่องแฟร์เทรดจึงต้องไปทั้งระบบ ซึ่งผมคิดว่าเกิดขึ้นได้ยากในระบบทุนนิยมเพราะทุนนิยมจะเน้นกำไรในระยะสั้น ในขณะที่ประเด็นการดูแลคนงาน เกษตรกร หรือสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องระยะยาวทั้งสิ้น
Q: ต้องมองให้ไกลกว่ากฎระเบียบ
A: ถูกต้อง เราต้องรู้ด้วยตัวของเราเองว่าความยุติธรรมคืออะไร แค่ไหนถึงเรียกได้ว่าแฟร์ นี่คือเหตุผลที่เราเอาความยุติธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท เพราะสิ่งที่เราต้องการคือการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยุติธรรมขึ้น เรากำลังเคลื่อนเข้าสู่ระบบในอุดมคตินี้อย่างช้าๆ ในขณะที่แนวคิดอย่างทุนนิยมกำลังค่อยๆ ถดถอยลง
โรงงานของ The Liberian Women’s Sewing Project ที่ได้รับการรับรองแฟร์เทรดแห่งแรกในแอฟริกา (ภาพจาก fastcoexist)
Q: มีคำแนะนำคนที่ต้องการทำธุรกิจเพื่อสังคมไหม
A: ลองกระโดดลงไปทำเลย (หัวเราะ) หลายคนมักติดกับดักคือเอาแต่พูด พูดมานานแต่ไม่เห็นจะทำสักที ผมขอยกคำพูดติดปากของ Richard Branson ว่า ‘ช่างหัวมัน ไปลุยเลยดีกว่า’ (Screw it, Let’s Do It) เพราะบทเรียนที่ดีที่สุดคือสิ่งที่คุณได้จากการทำธุรกิจจริงๆ คุณอาจเริ่มง่ายๆ โดยการสร้างตัวต้นแบบ เช่น โรงงานที่มีเครื่องจัก 30 เครื่องในไลบีเรีย วันนี้คุณอาจมีทรัพยากรไม่พอ แต่ในอนาคตอย่างน้อยคุณก็พอจะเห็นภาพและสามารถเปรียบเทียบทางเลือกได้
Richard Branson เคยเล่าเรื่องให้ผมฟัง ซึ่งจริงหรือเปล่าผมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) เขาเล่าว่า มีวันหนึ่งที่เขากำลังรอเครื่องบินเพื่อกลับไปยังเกาะของเขา แต่ทุกสายการบินเอาแต่ยกเลิกเที่ยวบิน เขามองว่านั่นคือสัญญาณบอกให้เขาเริ่มธุรกิจสายการบินของตัวเอง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสายการบิน Virgin
เมื่อคุณเริ่มทำ คุณจะเห็นด้วยตัวของคุณเองนั่นแหละ
ภาพจาก libertyandjustice
หมายเหตุ:
[i] อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://www.povertyactionlab.org/sites/default/files/publications/The%20Impact%20of%20Distributing%20School%20Uniforms.pdf
[ii] GIIRS หรือ Global Impact Investing Rating System คือเครื่องมือสำหรับวัดผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (แต่ไม่สนใจผลลัพธ์ทางการเงิน) คล้ายกับการจัดอันดับกองทุนของ Morning Star หรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Ratings) ของ S&P อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://b-analytics.net/giirs-ratings
[iii] Fast Fashion เป็นแนวคิดปัจจุบันที่พยายามทำให้แฟชันจากงานแคทวอร์คสามารถเข้าสู่สายพานการผลิตและส่งตรงถึงมือผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้เร็วที่สุดและราคาถูกที่สุด โดยมีแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกหลายแบรนด์ยึดแนวคิดนี้ เช่น ZARA, H&M และ Topshop
ภาพ: ปนัดดา เต็มไพบูลย์กุล