Children Village กำเนิดใหม่ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดินแดนบราซิล

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นคือสถาปัตยกรรมที่ถูกพัฒนา ปรับเปลี่ยนจากกาลเวลา เป็นไปตามปากท้องของผู้คนในแต่ละถิ่นฐานจนมีรูปแบบที่สอดคล้องกับถิ่นฐานนั้น พวกมันไม่ได้ผ่านการออกแบบจากสถาปนิกในระบบ แต่จากการขัดเกลาจนมีรูปแบบที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เป็นสิ่งที่สถาปนิกสามารถเรียนรู้จากมันได้เช่นกัน

และควรสมควรเรียนรู้อย่างจริงจังด้วย

ในเมืองป่าฝนที่อากาศร้อนชื้นทางเหนือของบราซิล มีโรงเรียนกานัวเนอที่รองรับเด็กกว่า 540 คน จากที่ห่างไกลของบราซิลมารวมกันแบบเรียนประจำ นอกจากพื้นที่ส่วนห้องเรียนแล้ว ส่วนที่น่าสนใจคือส่วนที่เรียกว่า ‘หมู่บ้านเด็ก’ ที่เรียกอาคารนี้ว่าหมู่บ้านเด็กเพราะเป็นพื้นที่พักสำหรับเด็กชายหญิงที่มาเรียนโรงเรียนนี้ แต่อยู่ในที่ห่างไกลจนมาอยู่หอพักของโรงเรียน อาคารนี้รองรับกิจกรรม หอพักที่ชั้น 1 พื้นที่ส่วนรวมที่ชั้น 2 แต่ส่วนที่แตกต่างจากหอพักทั่วไปจนสะดุดตาคือความโปร่งเบา แลดูระบายอากาศได้ดี ดูมีความกลมกลืนของวัสดุไปทั้งอาคาร มันดูสวยงามแบบเรียบง่าย ในราคาจับต้องได้

งานนี้เป็นการออกแบบร่วมกันของ 2 สำนักงานสถาปนิกบราซิลเลียน Aleph Zero และ Rosenbaum เป็นสถาปัตยกรรมจากแนวคิดว่า สถาปัตยกรรมคือเครื่องมือสำหรับเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยการสร้างพื้นที่บ้านที่แม้จะไกลบ้านให้อบอุ่น พวกเขาเริ่มการออกแบบด้วยการให้เหล่านักเรียนที่ใช้อาคารนี้มามีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย ผลการออกแบบจึงมีรูปแบบการวางผังที่มีการแยกส่วนชัดเจนเป็น 2 ส่วน คือส่วนหมู่บ้านนักเรียนชายและหญิง แต่ละหมู่บ้านจะประกอบด้วยเรือนพักที่วางผังล้อมลานอยู่ตรงกลาง ทำให้สามารถมาใช้ลานกลางได้สะดวก เสิรมสร้างปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนในหอพักสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง ส่วนพื้นที่ชั้น 2 เป็นห้องทำกิจกรรมหมู่แบบต่างๆ ในหลายรูปแบบ แต่อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน

การออกแบบมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบเมืองร้อนที่มีฝน มันถูกแสดงออกด้วยชายคาที่ยื่นกว้างสำหรับบังแดดฝน ให้มีภาวะน่าสบาย ตัวอาคารถูกวางให้มีระยะเว้นว่าง ให้แต่ละหน่วยมีพื้นที่ระบายอากาศได้ดี การมีคอร์ตกลางที่ปลูกต้นไม้ช่วยทั้งเพิ่มร่มเงา และยังสร้างบรรยากาศที่ดี วัสดุที่ใช้สามารถหาได้ในท้องถิ่นในบราซิล ช่วยในเรื่องความยั่งยืนเช่น ผนังดินที่ออกแบบการก่อผนังให้มีส่วนทึบ ส่วนโปร่งเพื่อการระบายอากาศที่ดี ไม้ที่ออกแบบเป็นทั้งผนัง ระเบียง ที่เป็นระแนวโปร่ง ทำให้ระบายอากาศดี พร้อมกับลดแสงที่เข้ามาในอาคาร และสำหรับส่วนโครงสร้างได้เลือกใช้ไม้ลามิเนต ที่ประกบกันจนสามารถเป็นโครงสร้างได้ โดยใช้ที่เสา โครงหลังคา ‘จันทัน แป’  ทำให้ลดการใช้ไม้ใหญ่ แต่เพิ่มประสิทธิภาพของเศษไม้จนทำหน้าที่แทนไม้ใหญ่ได้

ของดี ไม่จำเป็นต้องราคาแพง ไม่จำเป็นต้องใหม่จนแปลกปลอม แต่มันสามารถเริ่มต้นจากความง่ายรอบตัวเรา

อ้างอิง: www.alephzero.arq.brwww.dezeen.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles