ข้ามทางรถไฟอย่างไรให้ปลอดภัยกว่าเดิม? การรถไฟนิวซีแลนด์มีคำตอบที่คุณต้องว้าว!

เมื่อปีกลายการรถไฟนิวซีแลนด์ปล่อยของฉลองสัปดาห์ Rail Safety Week ด้วยแคมเปญสุดครีเอทีฟ Conscious Crossing โดยแนวคิดการออกแบบง่ายๆ นี้ได้รับเสียงชื่นชมจากชาวเมืองกีวี่เป็นอย่างมาก ด้วยว่ามันสามารถจะเตือนสติให้ชาวเมืองข้ามทางรถไฟกันอย่างปลอดภัยขึ้นจริงๆ

Conscious Crossing เป็นผลงานความคิดของบริษัทโฆษณา Clemenger BBDO จะว่าไปแล้วมันก็คือปฏิบัติการทดลองอันหนึ่งที่ ‘เล่น’ กับพฤติกรรมความเคยชินของมนุษย์ โดยที่ทีมนักออกแบบได้ลองติดตั้งชุดรั้วกั้นแบบหมุนได้ (movable gates) ไว้ ณ บริเวณจุดข้ามทางรถไฟในเมือง (ที่ค่อนข้างอันตรายเพราะไม่มีระบบสัญญาณเตือน) ส่งผลให้ทั้งคนเดินถนนรวมถึงนักปั่นทั้งหลายที่ข้ามทางรถไฟนี้เป็นประจำ ต้องรวบรวมสติกันเป็นพิเศษเพื่อจะข้ามทางรถไฟนี้ในรูปแบบที่แปลกใหม่ทุกๆ วัน

เมแกน เดรตัน ผู้จัดการมูลนิธิ TrackSAFE NZ กล่าวถึงไอเดียนี้ว่า “ทุกครั้งที่คุณข้ามทางรถไฟในระดับถนน…นั่นคือคุณกำลังเสี่ยงชีวิตนะ แต่เพราะความเคยชินมันทำให้คุณเฉยชาต่ออันตรายตรงหน้า คุณเลยไม่ระแวดระวังถึงขบวนรถไฟที่อาจจะวิ่งผ่านมาจากด้านใดด้านหนึ่งก็ได้ แต่ Conscious Crossing สามารถจะพลิกพฤติกรรมเสี่ยงตรงนี้ได้จริง คุณไม่สามารถเดินเหม่อฟังเพลงหรือก้มหน้าเล่นมือถือขณะข้ามทางรถไฟได้อีกต่อไป”  ซึ่งก็ตรงกับผลการวิจัยที่สนับสนุนว่า สมองของมนุษย์นั้นจะตื่นตัวกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีกว่าเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ผิดปกติไปจากความเคยชิน

เราเชื่อเหลือเกินว่านวัตกรรมความคิดที่เรียบง่ายและราคาประหยัดอย่าง Conscious Crossing นี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นที่เหมาะจะประยุกต์ใช้ในประเทศที่การรถไฟไม่ค่อยมีสตางค์ เพราะตัวระบบรั้วกั้นหมุนได้นี้มิได้ต้องการเทคโนโลยีไฮโซหรือพลังงานไฟฟ้าใดๆ ที่สำคัญเราทุกคนสามารถเปลี่ยนเลย์เอาท์การหมุนได้สารพัดวิธี ซึ่งมากพอที่จะทำให้สมองของเพื่อนร่วมโลกต้องชะงักทุกครั้งที่ข้ามทางรถไฟแน่นอน

จะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมสังคมแบบ ‘ร่วมด้วยช่วยกัน’ ก็คงไม่ผิดนะ ชอบ ชอบ!


อ้างอิง
theinspirationroom.com
campaignbrief.com
dandad.org

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles

Next Read