การเป็นนักสร้างสรรค์เริ่มต้นที่ตรงไหน? เป็นคำถามที่ดูจะกว้างเกินกว่าใครจะหาคำตอบได้ด้วยตัวเองตามลำพัง งาน Creative Citizen Talk โดยเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์ Creative Citizen โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดขึ้นต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ครั้งที่ 6 แล้วในปีนี้ ภายใต้แนวคิด Health Perspective
Creative Citizen Talk 2019: Health Perspective ปีนี้จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยมีสปีกเกอร์กว่า 10 ท่านจากหลากหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ สื่อสำหรับเด็กและผู้พิการ ไปจนถึงธุรกิจที่มุ่งสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อสังคม และพิเศษขึ้นกว่าทุกปีด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมที่มีมากกว่า 200 คน ตลอดหลายชั่วโมงของการทอล์กจึงเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและคึกคักตลอดทั้งงาน
สุขภาพกายและใจเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ แต่คงจะดีกว่าหากมีใครสักคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างเพื่อสุขภาพของคนอื่น และคงจะดีที่สุดเมื่อเราทุกคนเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะ แล้วร่วมมือคนละเล็กละน้อยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน – เช่นเดียวกับที่สปีกเกอร์ทั้ง 10 และผู้ร่วมงานในครั้งที่ได้ร่วมแบ่งปัน
ศ. ดร. ภญ. จงจิตร อังคทะวานิช
สงฆ์ไทยไกลโรค
“ทุกวันที่เราใส่บาตร เราอธิษฐาน เราอยากให้เราสุขภาพแข็งแรง
แต่อาหารที่เราถวายพระ มันดีต่อสุขภาพพระหรือเปล่า”
จากข้อจำกัดที่พระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารได้ และญาติโยมเองก็ไม่มีเวลาจะลุกขึ้นมาปรุงอาหารสุขภาพสำหรับใส่บาตร ทำให้พระสงฆ์ไทยกว่า 48% กำลังถูกคุกคามด้วยโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือแม้กระทั่งโรคไต ศ. ดร. ภญ. จงจิตร อังคทะวานิช มองเห็นรากของปัญหาสุขภาพที่กำลังคุกคามพระสงฆ์ไทยอยู่ในปัจจุบันนี้ โครงการสงฆ์ไทยไกลโรคจึงเป็นมุมมองสุขภาพเชิงรุกที่มุ่งสร้างความเข้าใจกับทั้งสองฝ่าย คือพระสงฆ์และญาติโยมที่ถวายอาหาร ที่ต่างต้องดูแลและใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการกินอยู่ของพระสงฆ์ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้พระสงฆ์ไทยได้อย่างยั่งยืน
จิระศักดิ์ รุ่งเรืองธัญญา
Creative Volunteer
“อย่าให้ใครมาบอกว่าเราคนเดียวทำไม่ได้หรอก ไม่มีใครมากำหนดได้ว่า
เราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะเราตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าเราจะทำมันหรือไม่”
แค่การลุกออกจากที่นอนไปวิ่ง เพื่อต่อสู้กับอาการป่วยและเพียงอยากมีสุขภาพที่แข็งแรง นำไปสู่การเป็นพลเมืองอาสาสร้างสรรค์ หรือ Creative Volunteer เริ่มต้นที่จุดเล็ก ๆ อย่างการวิ่งเพื่อหาเงินสมทบทุนให้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต่อยอดไปสู่การสร้างแพล็ตฟอร์มที่ให้ทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์ได้ร่วมกัน อย่าง Read for the blind แอปพลิเคชันสำหรับอ่านหนังสือเสียงให้กับคนตาบอด ที่กลายเป็นจุดกึ่งกลางให้ทุกคนได้ร่วมสร้างสังคมแห่งสุขภาวะและเป็นประโยชน์ที่คนตาบอดสามารถใช้ได้จริง
อาริยะ คำภิโล
Jones’ Salad
“เหนือสิ่งอื่นใด กำไรที่เป็นเม็ดเงินหรือกำไรทางธุรกิจ ก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับสิ่งที่เราได้ทำ
แล้วเราได้กำไรทางใจ คือได้ทำคอนเทนต์ดี ๆ ให้กับสังคม”
การ์ตูนคุณลุงพุงป่องที่ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการอย่างจริงจัง จนใครต่อใครเข้าใจว่าเป็นเฟซบุ๊กเพจของหน่วงงานจากกระทรวงสาธารณสุข แท้จริงแล้วคือเฟซบุ๊กแฟนเพจของร้าน Jones’ Salad ร้านสลัดของลุงโจนส์ที่ลุงโจนส์ไม่ได้มาทำเอง แต่เป็นแรงบันดาลใจให้ อาริยะ คำภิโล ได้ผลิตอาหารสุขภาพในราคาเป็นมิตร เพื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้คนเมืองที่จำกัดกำเขี่ยเหลือเกินสำหรับตัวเลือกในการกิน พร้อมยังผลิตคอนเทนต์สุขภาพ แจกจ่ายความรู้ให้กับใครก็ตามที่แวะเวียนมาอ่าน จนปัจจุบัน Jones’ Salad กลายเป็นอีกชื่อที่เราจะนึกถึงเสมอเมื่อเราอยากกินสลัดอร่อย ๆ สักจาน
รวิศ หาญอุตสาหะ
CEO Srichand
“เวลาของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเข็มนาฬิกาของคุณ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณมีพลังทำ
1 เข็มนาฬิกาของคุณที่ผ่านไป 1 ชั่วโมงได้มากแค่ไหน”
ในแวดวงสื่อ หากมีการพูดถึงเรื่อง Time Management หรือ Design Thinking เมื่อใด ร้อยทั้งร้อยเป็นต้องมีชื่อของ รวิศ หาญอุตสาหะ ติดโผไปด้วยทุกครั้ง ในครั้งนี้ก็เช่นกัน คุณรวิศได้ร่วมแบ่งปันเรื่องราวของการก้าวข้ามข้ออ้างที่เบียดบังเวลาในการพัฒนาตัวเอง รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงชีวิตผ่านการวิ่งมาราธอน การออกกำลังกาย และการเรียนรู้สิ่งใหม่จนกลายเป็นนักสื่อสารสุขภาวะอีกคนที่เราจะได้ยินชื่อเสมอ เคล็ดลับของความสำเร็จในการสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ เหล่านี้ได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากับคนอื่นๆ ก็คือ การดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรง เพื่อให้มีพลังในการบริหารแต่ละชั่วโมงให้ผ่านไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง
ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์
Tom Potisit Photography
“คนถามว่ามันจะไปไหนได้ แฟชั่นไม่ควรอยู่กับเรื่องน่าเกลียดน่ากลัว การเปลี่ยนแปลงโลกโดยภาพถ่ายมันยาก มันไม่ยากหรอกครับ ลองใช้ความรู้สึกตัวเองดู ภาพถ่ายสามารถทำอะไรได้มากมาย อาจเป็นอาวุธในการทำร้ายคนอื่นได้ อาจจะสร้างภาพให้คนอื่นรู้สึกดีได้ ภาพถ่ายสุดท้ายในมือถือของคุณเป็นภาพอะไรครับ”
เมื่อช่างภาพแฟชั่นที่มีผลงานจัดจ้านเป็นเอกลักษณ์หันมาสื่อสารเรื่องสุขภาวะ การบริจาคร่างกาย และคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยใช้ภาพถ่ายแฟชั่นเป็นสะพานในการสื่อสาร นับตั้งแต่เรื่องการบริจาคร่างกายเพื่อต่ออายุให้กับผู้ป่วยอีกหลายชีวิต จนถึงเรื่องการตายของวาฬที่ในท้องอัดแน่นไปด้วยขยะพลาสติกจากฝีมือมนุษย์ ท้ายที่สุดแล้ว การสื่อสารให้คนเข้าใจไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว แต่กลับเกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์ไม่รู้จบ โดยเฉพาะการสื่อสารเพื่อให้คน ‘รู้สึก’ มากกว่าแค่ ‘รับรู้’ อย่างเช่นที่ธีระฉัตรทำ
กัมปนาท พนัสนาชี
36Man
“ไม่มีใครอยากป่วยครับ ไม่ว่าโรคซึมเศร้าหรือแค่ไข้หวัดธรรมดา
ในเมื่อไม่มีใครอยากป่วย จงอย่ามองกว่าการป่วยของคนที่เรารักเป็นภาระ”
จากความเจ็บป่วยของคนใกล้ตัวสู่เพลงแร็ปที่เป็นแสงสว่างให้กับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ในยุคที่ความซึมเศร้าเป็นคลื่นลูกใหญ่ โดยเฉพาะกับเด็กและวัยรุ่น เพลงแร็ปของกัมปนาทกลายเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ป่วยได้ง่ายและตรงไปตรงมา ในเพลงความยาวไม่กี่นาที กัมปนาทซ่อนวิธีสังเกตอาการ ซ่อนคำปลอบโยนอย่างเข้าอกเข้าใจ รวมถึงช่องทางในการขอคำปรึกษา ความช่วยเหลือ และการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมไว้ในนั้น ด้วยภาษาง่ายๆ และท่วงทำนองของยุคอย่างเพลงแร็ป ที่ไม่ว่าจะป่วยไม่ป่วยก็สามารถเข้าถึงได้เพียงปลายนิ้วคลิก!
บุญชัย สุขสุริยะโยธิน
ชูใจ กะ กัลยาณมิตร
“เราจำเป็นต้องรู้จริง ๆ ไหมว่าความคิดสร้างสรรค์คืออะไร หรือจริง ๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์มันก็อยู่กับเราตลอดเวลา อยู่กับเราในตอนที่เราคิดจะสร้างอะไรดี ๆ เพื่อคนอื่นและตัวเอง”
จากอาชีพด้านโฆษณาที่ถูกสร้างมาเพื่อจุดประกายความรู้สึกอยากได้อยากมี อยากแก้ปัญหา และความรู้สึกใด ๆ ก็ตามที่หนักแน่นมากพอจะให้ลูกค้าจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการ บุญชัย ภายใต้ชื่อ ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ พลิกแนวคิดไปสู่การเป็นเอเจนซี่ที่สร้างสรรค์เฉพาะงานโฆษณาเชิงบวก ให้คนที่ได้รับสารมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเองมากขึ้น จาก ‘อาชีพสร้างขยะทางอารมณ์’ ก็กลายเป็นอาชีพสร้างสรรค์สังคมและส่งเสริมสุขภาวะได้เพียงแค่เปลี่ยนวิธีคิดเท่านั้นเอง
ธีตา โหตระกิตย์
Steps With Theera
“ความต้องการของพวกเขาเหล่านี้ จริงๆ ไม่ได้ต่างจากความต้องการของคนธรรมดาๆ ทั่วไป
สิ่งที่เขาต้องการก็คือเขาไม่ได้ต้องการจะถูกเรียกว่าเป็นคนพิเศษ”
การก้าวเดินไปพร้อม ๆ กันไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนร่วมทางของเราต้องการการดูแลที่มากเป็นพิเศษ แต่ ธีตา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Steps with Theera กลับมองเห็นสิ่งที่แตกต่างออกไป ‘เด็กพิเศษ’ หรือผู้ป่วยที่มีอาการออทิสซึ่มกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่มีพลังบางอย่างเป็น ‘พิเศษ’ และเมื่อได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้องและเข้าใจ ผู้ป่วยออทิสติกก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากจะเป็นคนธรรมดาที่อยากมีชีวิตแบบธรรมดา ๆ มากเป็นพิเศษ Steps with Theera ไม่ได้เป็นเพียงร้านกาแฟที่มีพนักงานเป็นผู้ป่วยออทิสติกเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่สร้างความคุ้นเคยระหว่างผู้ใช้บริการกับ ‘Trainee’ ที่เป็นผู้ป่วยออทิสติก ให้ต่างฝ่ายต่างมีโอกาสได้ทำความเข้าใจกันและกัน จนกลายเป็นร้านกาแฟธรรมดา ๆ ที่คุณจะรู้สึกพิเศษเสมอเมื่อได้เข้าไปเยือน
ประสาน อิงคนันท์
มนุษย์ต่างวัย
“อีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% แต่ผมคิดว่าจำนวนไม่สำคัญเท่าเรามองผู้สูงวัยอย่างไร สังคมเราแบ่งแยกกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความคิด ศาสนา ความเชื่อ แล้วยังต้องมาแบ่งแยกกันด้วยเรื่องวัยอีกเหรอ บางทีคนสองวัยอาจจะคิดเหมือนกันก็ได้”
จากวิชาชีพสื่อที่ได้เจอะเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ประสาน อิงคนันท์ มองเห็นพลังของผู้สูงอายุที่ยังพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม กลายเป็นเฟซบุ๊กเพจ ‘มนุษย์ต่างวัย’ ที่ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะการทำความรู้จักโลกของผู้สุงอายุใน พ.ศ. นี้เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ตั้งใจจะปรับเปลี่ยนมุมมองที่คนต่างวัยมีต่อกันและกัน เพื่อสร้างสังคมที่เปิดกว้างให้คนทุกวัยได้ใช้ศักยภาพของตัวเองในการสร้างสรรค์สังคมอย่างสูงสุดอีกด้วย
ชีวัน วิสาสะ
นิทานเดินทาง และผู้เขียน ‘อีเล้งเค้งโค้ง’
“นิทานเดินทาง ออกไปเพื่อให้เด็ก ๆ จดจำเอาไว้ว่าวันนี้เด็ก ๆ ได้รับการแบ่งปันหนังสือแล้วหนึ่งเล่ม
เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นไป เด็ก ๆ ก็จะรู้จักแบ่งปัน”
ชีวัน วิสาสะ หรือ ‘ครูชีวิต’ ผู้สร้างหนังสือภาพ หนังสือนิทานสำหรับเด็กมานานเกือบ 30 ปี จนถึงตอนนี้ นิทานของครูชีวันยังคงยึดหลักการว่า ‘นิทานเรื่องนี้ ไม่สอนให้รู้ว่า…’ อยู่เช่นเคย และก้าวสู่การเป็นนิทานเพื่อสังคม อย่าง ‘นิทานเดินทาง’ ที่ตระเวนส่งมอบความสุขผ่านตัวละครให้กับเด็กเล็ก ๆ ในโรงพยาบาลรวมถึงเด็กในชุมชนห่างไกล โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนแม้แต่น้อย นอกจากรอยยิ้มของเด็ก ๆ เท่านั้น
ไม่เพียงแต่ทอล์กดี ๆ ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นเท่านั้น ภายในงานยังมีกิจกรรมที่ให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย อย่างเช่นกระดาษโน้ตใบเล็ก ๆ ที่ผู้ร่วมงานได้รับแจกให้เลือกเขียน แลกเปลี่ยน และบอกเจตจำนงของตัวเองว่าอยากอาสาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมในเรื่องใด ร่วมกับสปีกเกอร์ท่านได้บ้าง พร้อมกับคำถามจากสปีกเกอร์ที่สำรวจผู้ฟัง และให้ผู้ฟังสำรวจภายในใจตัวเองว่าเราอยากเริ่มขยับปรับเปลี่ยนเรื่องใดบ้างนับจากนี้เป็นต้นไป
อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้การแลกเปลี่ยน นั่นก็คือการได้ลงมือทำด้วยตัวเอง แม้กระทั่งกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นของว่างระหว่างกิจกรรมจาก เคี้ยว..เขียว Green Catering ที่ไม่สร้างขยะพลาสติกเพิ่มเลยแม้แต่ชิ้นเดียว พร้อมกับมีทีมงานคอยแนะนำการแยกขยะ แต่ละประเภท และชุดจัดการขยะอาหารสดจาก ผัก Done ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ใช้จริง เพื่อเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ด้วยมือของตนเอง
Creative Citizen Talk 2019: Health Perspective ในปีนี้จึงไม่ได้เป็นกิจกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นช่วงเวลาที่สร้างแรงบันดาลใจและส่งมอบพลังในการเปลี่ยนแปลงให้ทั้งผู้ฟัง สปีกเกอร์ และแน่นอนว่ากับทีมงานด้วย นับว่าเป็นการรวมตัวกันของ ‘นักสร้างสรรค์’ หลายร้อยชีวิต กลายเป็นขุมพลังยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราเชื่อว่าแม้การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ก็มีความหมายกับสังคมเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในที่ที่มี Creative Citizen ผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันอยู่มากมาย
Creative Citizen ที่กำลังบอกเราว่า ทุกคนก็เป็นนักสร้างสรรค์ได้ แค่ลงมือทำ
เรื่อง: เสาวลักษณ์ เชื้อคำ
ภาพ: เอกพล ภารุณ, สุจิตรา นาคะศิริกุล