Creative Citizen Talk 2023: Creative Impact 2

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักออกแบบสายไหนหรือกำลังทำอะไรอยู่ เราเชื่อว่าคุณสามารถลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงจากการทำในสิ่งที่คุณถนัดได้ เพียงแค่คุณเริ่มที่จะลุกขึ้นมาทำโดยมีแรงบันดาลใจกับความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวจุดประกายและนำพาให้ทุกอย่างดำเนินไป

Creative Citizen Talk 2023 ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ในรอบ 11 ปี ในธีม Creative Impact 2 โดยปีนี้มีผู้มาร่วมฟังอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งคนรุ่นใหม่ นักออกแบบ คนทำงานภาคสังคมสิ่งแวดล้อมและภาคธุรกิจ สิ่งที่น่าสนใจก็คือช่วงอายุของผู้เข้าฟังในปีนี้ที่มีตั้งแต่รุ่นนักเรียนนักศึกษาไปจนถึงรุ่นใหญ่วัย 60 บวก ซึ่งทุกคนตั้งใจมาฟังกันตั้งแต่เริ่มจนจบถึงผู้บรรยายคนสุดท้าย อีกทั้งหลังการบรรยายก็ยังมีการร่วมพูดคุย ทำความรู้จัก และ networking กับผู้บรรยายกันต่ออย่างครึกครื้น เรียกว่าได้แชร์ประสบการณ์กันอย่างอิ่มใจทั้งผู้ฟัง ผู้บรรยาย และผู้จัดงาน

ความพิเศษที่ต้องพูดถึงของปีนี้คือ จุดเด่นของผู้บรรยายทั้ง 10 ท่านที่มีแนวทาง กระบวนการ และผลงานที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ เรียกว่ามีทีเด็ดเฉพาะตัวที่ไม่เป็นรองใคร เมื่อถึงคิวการบรรยาย ก็มีเรื่องราวดีๆ ที่ให้แรงบันดาลใจโดนๆ มากระตุ้นให้ผู้ฟังตื่นตัวไปได้ตลอด 5 ชั่วโมงของงานทอล์กครั้งนี้

เริ่มจากคุณจ๋า ยศสินี ณ นคร ผู้จัดละคร ‘มาตาลดา’ ละครน้ำดีแห่งปีที่ใครๆ ก็พูดถึง เราได้เห็นอีกแง่มุมของนักทำละครที่เล่าถึงจุดเปลี่ยนในการทำบทละคร การเข้าถึง ‘Why’ หรือเหตุผลในการดำเนินชีวิตของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งสะท้อนกลับมาสู่ผู้ชมที่ได้เห็น ‘คน’ ในละคร ก่อนจะกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองถึง ‘Why’ หรือเหตุผลที่เราแต่ละคนดำเนินชีวิตอยู่อย่างลึกซึ้งกินใจ

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ครีเอทีฟรุ่นใหญ่ที่ใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์กลับไปเติมเต็มเสน่ห์ให้กับเมืองบ้านเกิด ทำให้มีโปรเจ็กต์เพื่อพัฒนา ผลิตภัณฑ์ ย่าน และเมือง ‘จันทบุรี’ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนชวนให้คนเมืองจันท์หยิบจับเอาของเดิมที่เคยดีอยู่แล้ว มาเขย่าและจัดทรงกันใหม่แบบวงกว้าง พูดได้ว่าถ้าไม่ได้ไปยลเมืองจันท์ตอนนี้คุณจะพลาดอะไรดีๆ ไปหลายอย่างเลยทีเดียว

ภาคภูมิ โกเมศโสภา ผู้ร่วมก่อตั้ง Reviv Community กลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ 40 คนจากหลายประเทศที่ร่วมกันปั้นทีมอาสา ผลักดัน ‘การซ่อม’ เพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความคุ้มค่าและสิทธิที่เราควรมีในฐานะผู้บริโภค ที่จะไม่ปล่อยให้ตลาดหรือผู้ผลิตสร้างสินค้าที่ ‘ถูกออกแบบให้ซื้อใหม่ตลอดเวลา’ และปลุกจิตสำนึกเรื่องการใช้ข้าวของอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้การค้นหาร้านซ่อมเป็นเรื่องง่ายอย่าง WonWon

คำรน สุทธิ สถาปนิกเจ้าของบริษัท Eco Architect ที่ให้นิยามการออกแบบสถาปัตยกรรมของเขาว่าเป็น ‘บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ’ เราได้เห็นงานออกแบบสวยๆ มีบรรยากาศที่อิงกับบริบทของเมืองและผู้คนรายรอบ ภายใต้กระบวนการออกแบบที่จัดให้ธรรมชาติเป็นปัจจัยหลักของความอยู่สบาย จรรโลงใจ และปลุกจิตสำนึกเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดี

จิราภรณ์ กมลรังสรรค์ ตัวแทนจาก Soul Connect Fest 2023 กิจกรรมที่ทำให้ประเด็น ‘สุขภาวะทางปัญญา’ เข้าถึงง่าย โดนใจคนรุ่นใหม่ ภายใต้การทำงานร่วมของภาคี 60 หน่วยงาน แม้จะน่าปวดหัวเหมือนจับปูใส่กระด้ง แต่เป้าหมายก็นำพาให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกลับมาจูนกันจนกลายเป็นพลังแห่งการส่งต่อ ‘ความเข้าใจและมองเห็นหัวใจของตนเองและผู้อื่น’ ที่ได้รับกันไปอย่างเต็มตื้นชื่นใจทั้งผู้จัด สตาฟ และผู้มาร่วมงาน

นครินทร์ ยาโน ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าปักมือดีไซน์เก๋ Yano ที่มาเล่าถึง ‘วงจรแห่งความสุข’ ที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งเกิดขึ้นในการทำงานของเขา และยังส่งต่อไปยังผู้คนมากมาย ทั้งชาวบ้านหรือคนทำงาน ไปจนถึงลูกค้าและตัวเขาเอง เชื่อว่าพลังของเขาที่เห็นได้ในทุกชุดและทุกคำพูดจะทำให้คุณต้องประทับใจจนอยากกลับไปทำอะไรดีๆ ให้กับคนรอบตัว

สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้บริหารไฟแรงจาก Tellscore ที่รักในการทำงานเพื่อสังคมและมี ‘ความสุข’ ในการเติมเต็มหัวใจด้วยการ ‘แบ่งปัน’ แม้เวลาจะมีน้อยแต่ใจที่อยากทำเพื่อผู้อื่นก็ทำให้เธอสร้างสมการจับเอาสิ่งที่ถนัดของ Tellscore อย่างการเป็นตัวกลางของ Brand และ Influencer มาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อสังคม พร้อมไปกับการชวนคนอื่นมาเท่ด้วยการทำเรื่องดีๆ ไปด้วยกัน

กัญญจันทร์ สะสม คนรุ่นใหม่สายโซเชียลที่ใช้สื่อและงานออกแบบแนวป๊อปเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงผู้คน ชวนคนมาเรียนรู้เรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อ Genderation สื่อยุคใหม่ที่เข้าใจและเข้าถึงผู้คนด้วยประเด็นโดนๆ ทำให้เรื่องเพศและการทำความเข้าใจแต่ละเพศที่เคยเป็นเรื่องพูดยากให้กลายเป็นเรื่องสบายๆ ที่คุยกันได้อยางเปิดอกและร่วมสมัย

ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล ผู้ก่อตั้ง MOHo Studio สตูดิโอออกแบบงานกระดาษที่ทำตั้งแต่โครงสร้างใหญ่ๆ ไปจนถึงงานชิ้นเล็กอย่างนามบัตร การเดินทางของ MOHo ทำให้เราเห็นงานกระดาษสร้างสรรค์ที่คาดไม่ถึงหลายๆ งาน และรวมไปถึงความจริงจังในการก้าวไปสู่การจัดการงานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืนที่เข้มข้นขึ้นในทุกก้าวของเขาอย่างน่าสนใจ

ยศพล บุญสม จาก We! Park เป็นผู้บรรยายท่านแรกที่มาร่วมทอล์กกับเราเป็นครั้งที่ 2 หลังจากมาเปิดตัวโครงการ We! Park เมื่อ 3 ปีก่อน ปีนี้เราได้มาอัพเดทความคืบหน้าและมาดูกันว่า impact ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กที่กระจายไปในทุกที่ว่างของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ มีแนวทางและการทำงานอย่างไรถึงได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมขนาดนี้

ความคึกคักและบรรยากาศที่ตื่นตัวของผู้บรรยายและผู้เข้าฟังในปีนี้ เป็นอีกความภูมิใจของผู้จัดงาน ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้บรรยายทั้ง 10 ท่านค่อนข้างมีพลังและมีเรื่องราวที่ดึงดูด คนที่มาฟังส่วนใหญ่ก็เข้ามาเพราะมีความสนใจและอยากฟังภาพรวมของงานทั้งหมดจริงๆ ถือว่างานนี้ตอบโจทย์และ impact มากสมชื่อธีมงาน Creative Impact

ต้องขอขอบทุกๆ คน ทั้งผู้มาร่วมงาน ทีมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอบคุณผู้บรรยายทุกท่านที่สละเวลาก่อนการทอล์กล่วงหน้าเป็นเดือน เพื่อเตรียมตัวในการจัดเรียงเนื้อหาและซ้อมกันไปคนละ 2 – 3 รอบ เพื่อคัดเอาแต่เนื้อเน้นๆ มาร้อยเรียงลำดับให้เข้าใจได้ง่ายและเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังมากที่สุด ซึ่งเสียงจากคนฟังก็บอกว่าชอบมาก ยิ่งได้ฟังถึงจุดเปลี่ยนของหลายๆ คน รวมถึง learning curve ของแต่ละคนว่าระหว่างทางของการเติบโตนั้นต้องประสบปัญหาอะไร หรือมีชุดเทคนิคอะไรที่ทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เห็นความตั้งใจและความสร้างสรรค์ในการออกแบบและจัดการจนประสบความสำเร็จในงานที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของทุกคน

หวังว่างานทอล์กครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ทำให้พวกเราได้เห็นว่า การสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยความคิดสร้างสรรค์อาจไม่ใช่เรื่องยาก เราอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าเวลามาถึงแล้วหรือยัง แต่ทอล์กครั้งนี้จะช่วยให้เราได้รับรู้ว่า ไม่ว่าจุดเริ่มต้นจะมาถึงหรือไม่ ความฝันของคุณ ความตั้งใจดีของคุณ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และต้องมีการกระทำที่ผลักดันให้มันเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม และเมื่อถึงวันหนึ่งมันจะผลิดอกออกผลให้คุณได้เห็นร่วมไปกับผู้คนที่ได้ชื่นชมมันไปพร้อมกับคุณ

และสำหรับคนที่อยากได้แรงบันดาลใจเพิ่มเติม สามารถติดตามดูคลิปอื่นๆ ที่ผ่านมาจาก 130 speaker ของเราได้ที่ www.youtube.com/c/CreativeCitizen

Tags

Creative Citizen

Creative Citizen เครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์

See all articles

Next Read