อพาร์ทเม้นท์ขนาดย่อมแบ่งพื้นที่จำกัดของการอยู่อาศัยร่วมกันแบบมากประโยชน์

ที่อยู่อาศัยในประเทศที่มีประชากรเยอะ แต่พื้นที่ปลูกบ้านได้น้อยอย่างญี่ปุ่น ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาบ้านในพื้นที่แคบในรูปแบบต่างๆ มากมาย ให้เราได้ศึกษาถึงการการจัดการพื้นที่ให้คุ้มค่าสมราคาความแพงของที่ดินในแบบญี่ปุ่น ซึ่งทำให้บ้านพื้นที่น้อยมีความน่าสนใจในมุมมองของคนต่างชาติให้ทึ่งได้เสมอ

ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการแก้ปัญหาสำหรับ collective housing คืออาคารที่พักอาศัยรวมรูปแบบหนึ่ง ที่แบ่งปันการใช้พื้นที่ร่วมกันในผู้อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน งานนี้เป็นอพาร์ทเมนท์ขยาดย่อม ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟคะยะชิมะที่ออกแบบโดยอยู่ร่วมกันกับต้นซินนามอนอายุกว่า 700 ปี และศาลเจ้าชินโต โจทย์นี้ได้ถูกรับมาสร้างสรรค์โดยสำนักงานสถาปนิกท้องถิ่นในโอซาก้า SPACESPACE

D-Apartment หลังนี้มีที่ตั้งโดยรอบเป็นแบบชุมชนเมืองใหญ่ที่รายล้อมด้วยที่พักอาศัยต่างๆ ทางทิศเหนือของงานอยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟที่มีความจอแจ ทิศตะวันออกติดถนนทางเข้าที่มีขนาดเล็กประจันหน้ากับอาคารสำนักงาน 1 ชั้น ทิศใต้มีแดดที่ส่องเข้ามาหลายเดือนต่อปี ข้อคิดคำนึงจากสิ่งที่รายล้อมที่ตั้ง เป็นสิ่งที่สถาปนิกนำมาแปลงเป็นคำตอบสำหรับงานนี้จากรูปแบบเดิมๆ สำหรับรูปแบบทั่วไปของอพาร์ทเมนท์สำหรับ 1 ครอบครัวในญี่ปุ่นจะมีขนาด 20-30 ตารางเมตร ถูกวางในระบบพิกัด 4×8 เมตร การออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่จำเป็นถูกสวมลงในพื้นที่ราว 32 ตารางเมตร ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยใช้งาน มันอาจจะรองรับความต้องการพื้นฐานที่ครบสำหรับชีวิตประจำวัน แต่มันก็มีขนาดเล็กมาก มีผนังที่สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกให้พื้นที่ภายในได้หายใจน้อย

แต่กับงานนี้ สถาปนิกได้ตีความการออกแบบพื้นที่ใหม่ด้วยการมองว่าในพื้นที่เท่าเดิม สามารถเพิ่มมูลค่าของมันได้ด้วยการออกแบบอย่างไรได้บ้าง แปลนห้องรูปแบบเดิมจากที่มีขนาด 4×8 เมตร กลายเป็นห้องที่มีขนาดแคบยาวด้วยขนาด 2×16 เมตร เป็นห้องใหม่มีขนาด 32 ตารางเมตรเท่าเดิม แต่เมื่อเพิ่มเส้นรอบรูปของห้องที่มากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะเปิดหน้าต่างสู่ภายนอกได้มากขึ้น แต่การที่จะเปิดสู่ภายนอกก็เป็นรับเอามุมมองที่ไม่ต้องการเข้ามายังภายในห้อง สถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการมองใหม่ จับแปลนที่มีขนาดแคบยาวมาดัดโค้งส่วนปลาย เติมคอร์ทเข้าไปยังพื้นที่ส่วนกลางอพาร์ทเมนท์ ทำให้สามารถดึงแสงเข้ามาภายในห้องได้มากขึ้น พร้อมไปกับการเกิดพื้นที่ส่วนกลางของอพาร์ทเมนท์อีกด้วย ทำให้รูปแปลนเป็นตัว D ซึ่งคือที่มาของชื่องานนี้นั้นเอง

งานออกแบบน่าสนใจก็เริ่มจากการตีโจทย์ที่น่าสนใจ การหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ทำให้งานออกแบบมีคำตอบมากมายไม่สิ้นสุดจริงๆ

อ้างอิง: www.spacspac.comwww.archdaily.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles