‘วิภาวี คุณาวิชยานนท์’ สานความฝัน สู้ภัยพิบัติ ด้วยการออกแบบ

จุดเริ่มต้นอันมีที่มาจาก ‘ความฝัน’ เหตุการณ์เลวร้ายของน้ำท่วมเมืองที่เห็นทั้งในฝันและชีวิตจริงตั้งแต่ตอนซึนามิเมื่อปี 46 ทำให้ ‘วิภาวี คุณาวิชยานนท์’ เริ่มออกเดินทางเพื่อ ‘หนี’ แต่ท้ายที่สุดเธอก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า การหนีไม่ได้ทำให้สิ่งที่เธอกลัวหมดไป แต่การตั้งมั่นและเผชิญกับมันต่างหาก เป็นวิถีทางที่เธอตัดสินใจเลือกเดิน

หลังจากจบการศึกษาจากคณะครุศิลป์ จุฬาฯ และเดินทางไปเรียนต่อ Fine Arts ที่ The School of the Art institute of Chicago ต่อด้วยด้านออกแบบภายในที่ Rhode Island School of Design และศึกษาต่อด้านสถาปัตย์ที่ Harvard ท้ายที่สุดเธอตัดสินใจกลับมาเมืองไทย และเริ่มศึกษาเกี่ยวกับภัยพิบัติในประเทศและตัดสินใจเข้าเรียนด้าน Disaster Preparedness, Mitigation and Management ที่ Asian Institute of Technology  หนึ่งปีของการศึกษาทำให้เธอรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรที่เป็นประโยชน์เชิงรูปธรรม มากกว่าที่จะจบทุกอย่างลงเพียงแค่ตำราวิชาการที่วางอยู่บนหิ้ง

Q: ทำไมความฝันถึงทำให้เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

A: อาจจะเป็นเพราะว่าเห็นปัญหาอะไรหลายอย่างในกรุงเทพฯ งานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่ามันมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริง มีความรุนแรง ได้เห็นปัญหาสังคมที่มันเสื่อมลงทุกวัน หลายๆ อย่างบวกกัน จึงคิดว่าไหนๆ อยู่ตรงนี้ก็น่าจะทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับที่ที่เราอยู่ บวกกับได้รับแรงบันดาลใจจาก facebook ด้วยว่าคนเรามันมี network มี connection ถ้าเราสามารถสร้างเครือข่ายของคนให้มาช่วยกันได้ตามความถนัดก็คงเป็นเรื่องดี คนในสังคมก็จะได้ใช้ความสามารถของตัวเองมาช่วยกันเติมเต็มกันและกัน จึงเริ่มจากตรงนี้

Q: ทำไมถึงเริ่มจากงานดีไซน์ มันไปเริ่มที่นโยบายรัฐบาล การบริหารจัดการ การศึกษาก็ได้

A: อาจจะเป็นพื้นฐานส่วนตัวตั้งแต่เด็กก็เป็นได้ ชอบศิลปะ ชอบออกแบบ ชอบสถาปัตย์ สาเหตุที่ไปเรียนภัยพิบัติ ไม่เคยคิดว่าจะไปเป็นผู้วางนโยบายหรือผู้จัดการภัยพิบัติเลย แต่อยากจะได้ความรู้ตรงนั้นเพื่อเอามาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นฐานการออกแบบที่เรามี สมัยเรียนเคยไปฝึกงานกับสถาปนิกที่สวิสต์ (Peter Zumthor) ที่ทำงานแพงๆ และเนี้ยบมาก แต่ส่วนตัวเองชอบแบบ low income housing ตอนนั้นคิดว่าอยากให้งานของเรามีประโยชน์กับคนที่ต้องการจริงๆ ก็เลยมองไปที่ชุมชนรายได้น้อย และทำให้เราพบว่า การฝึกงานในที่แบบนั้นทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่สวยงามที่คนเขาว่ามันดูดีมากๆ มันเป็นยังไง เพื่อที่ว่าเวลาเรากลับมาในโลกปกติอย่างประเทศไทย เราจะได้เอาสิ่งที่มีในชีวิตประจำวันมาทำให้มันมีค่ามากขึ้น วิธีการเหล่านั้นจะเอามาใส่สิ่งที่มันบ้านๆ แบบไทยๆ ยังไงได้บ้างและให้มันเกิดประโยชน์ด้วย

Q: จากหลายโปรเจ็กต์ที่ผ่านมา เราได้เห็นงานของ D4D ออกมาเป็นระยะๆ เหมือนกับของที่เอามาใช้มันค่อยๆ ง่ายขึ้น จากช่วงแรกที่หนักไปทางนักออกแบบ ช่วงหลังก็เริ่มมีความหลากหลายเป็นชาวบ้านหรือใครก็ได้ มันเป็นพัฒนาการที่เปิดกว้างมากขึ้นของ D4D ไหม

A: ต้องเริ่มตั้งแต่คำว่า Design for Disaster หลายๆ คนพอเขาฟังคำว่า design บางคนก็งงว่า คุณจะออกแบบสำหรับให้เกิดภัยพิบัติเหรอ หรือบางคนก็จะคิดถึงภาพอะไรที่ต้องดูสวย หรู เก๋ แต่จริงๆ แล้ว คำว่า design ในที่นี้มันหมายถึงความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อรับมือกับภัยพิบัติก็ได้ จะเห็นว่าโปรเจ็กต์แรกๆ อย่างโรงหนังสยาม (นิทรรศการ ‘ประเทศไทยที่รักษ์’ ในงาน Bangkok Design Festival 2010 วันที่ 20-30 พฤษจิกายน 2553) ซึ่งค่อนข้างเป็นเชิงศิลปะและนามธรรม คือการเอาสิ่งที่โดนเผามาปรับเปลี่ยนให้มันดูมีชีวิตใหม่ จึงเชิญดีไซน์เนอร์หลายแขนงมาร่วมงานกัน ด้วยความที่ว่า เราต้องการสร้างความตระหนักก่อนว่า ดีไซน์เนอร์หลายๆ สาขามาช่วยกันได้ เพราะไดอะแกรมที่คิดไว้ตั้งแต่ตอนต้นที่ตั้ง Design for Disaster คิดว่างานออกแบบประกอบไปด้วย สถาปัตย์ ผังเมือง แฟชั่น โปรดัก กราฟิก ก็เลยพยายามจะเชิญดีไซน์เนอร์ในทุกๆ สาขามาร่วมงานกับพวกเราก่อน แล้วพอเริ่มเข้าส่วนโครงการ ‘ต้องรอด’ (20 ตุลาคม 2554 – 29 มกราคม 2555 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ก็ค้นพบว่าเอาเข้าจริงแล้วความคิดสร้างสรรค์มันมีอยู่ในตัวทุกคน แต่ว่าเราจะหยิบมันออกมาใช้ยังไง โดยเฉพาะเวลาภัยพิบัติเกิดขึ้น ยามฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ คนเรามักจะดึงจุดนั้นออกมาได้ ก็เลยเปิดกว้างให้กับทุกคน อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าเขาพึ่งพาตัวเองได้ เพราะนั่นคือสิ่งจำเป็นเวลารับมือกับภัยพิบัติ เราไม่ต้องมาโทษคนโน้นคนนี้หรือโทษรัฐบาล แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะรักษาชีวิตรอดของเราได้อย่างสร้างสรรค์ เราก็จะรอดได้บ้างโดยไม่เดือดร้อนใคร

พอมาถึงโปรเจ็กต์ ‘ไม่ลืมน้ำท่วม’ ที่หัวลำโพง เมื่อวันที่ 7-11 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็จะคล้ายๆ กัน คือเป็นการรวบรวมศิลปะการออกแบบหลายๆ แขนงมาอยู่ในนิทรรศการนี้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับไดอะแกรมที่ร่างไว้ตอนต้น แต่คราวนี้จะต่างตรงที่กลุ่มเป้าหมายที่ให้ดูมากกว่า เราอยากให้คนที่ชมงานเป็นคนธรรมดาจริงๆ เพราะถ้าไปตั้งที่หอศิลป์หรือตั้งในห้าง มันก็จะเป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือ facebook อยู่แล้ว แต่คนที่มาตรงนี้เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง คิดว่ามันจะได้เข้าถึงคนได้หลายๆ แบบ หรือโปรเจ็กต์ที่เคยทำมาในช่วงปีแรก ก็มีโปรเจ็กต์ที่ไปสอนนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ จัดฝึกงานตอนซัมเมอร์เป็นกลุ่มเล็กๆ มีการลงพื้นที่ชุมชนแออัดตึกแดง บางซื่อ ต้องการให้พวกเขาไปเจอกลุ่มคนหลายๆ กลุ่มในสังคม เพราะว่าเราไม่สามารถโฟกัสแค่นักเรียนออกแบบ กลุ่มดีไซน์เนอร์กันเอง แล้วพูดกันเอง คุยกันภาษาตัวเอง มันไม่ใช่ แต่ของเราคือพยายามไปหากลุ่มคนเยอะๆ แล้วพยายามบอกพวกเขาว่าพวกเขาทำได้ พึ่งพาตัวเองได้ หรือของที่เลือกใช้ใน ‘ต้องรอด’ ก็เป็นของที่ทุกคนมีในบ้าน งานออกแบบ 26 อย่างที่เลือกมา เราคิดกันมาอย่างดีแล้วว่า ไม่ว่าจะรวยจะจนยังไงเขาน่าจะมีถังพลาสติก ไม้กวาด ไม้แขวนเสื้อ แล้วสิ่งพวกนี้สามารถเอามาประยุกต์ยังไงได้บ้างเพื่อเอาตัวรอดในยามฉุกเฉิน

Q: เวลาคิดอย่างนี้ คิดอยู่คนเดียวรึเปล่า

A: หลักๆ วีจะคิดอยู่คนเดียว แต่ว่าพอไปถึงส่วนหนึ่งเราก็จะปรึกษาเพื่อนๆ พี่ๆ คือ เวลาที่เขาถามว่า Design for Disaster มีกี่คน ต้องบอกว่าทุกคนมีงานประจำ ทุกคนมีหน้าที่ภาระ อย่างนิทรรศการนี่ใครว่างใครถนัดอะไรก็จะเชิญมาช่วยกัน แต่ถ้าเรื่องของแปลนหรือผังงาน การจัดการทั้งหมด โดยหลักๆ วีก็ต้องจัดการเอง

Q: จากจุดเริ่มต้นทุกอย่างมันเป็นเรื่องใหม่หมดเลย แล้วยังเรื่องการต้องไปขอให้คนอื่นมาร่วมกับเราโดยที่เขาอาจจะยังไม่รู้ว่าเราทำอะไรกันแน่ ตอนนั้นมันยากแค่ไหน

A: ต้องบอกว่าด้วยความที่โปรเจ็กต์แรกคือโรงหนังสยาม บังเอิญว่าตอนนั้นทุกคนมีอารมณ์ร่วมเพราะมันเป็นปัญหาประเทศ เวลาเราไปเชิญดีไซน์เนอร์มาร่วม เขาก็จะยินดีช่วยอย่างไม่คิดอะไรเลย เขาก็แนะนำต่อๆ กันไป คนในวงการออกแบบก็รู้สึกว่ามันเป็นโปรเจ็กต์ที่ดี แล้วเขาสามารถทำอะไรที่มันเป็นประโยชน์เพื่อสังคมด้วย คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น แล้วตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ได้ตั้งโจทย์เกี่ยวกับศูนย์อพยพน้ำท่วม เริ่มมีเพจ D4D เวลาที่ทำก็จะเริ่มไปโพสต์ลง facebook คนก็เริ่มเห็นว่าทำโปรเจ็กต์ไหนอยู่ หลังจากนั้นก็จะมีนิทรรศการร่วมกับ UN habitat เรามีโอกาสได้รู้จักในจังหวะที่เขากำลังจะจัดงานประจำปี และกำลังหาหน่วยงานอิสระในประเทศไทยที่อยากจัดนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับโลกร้อนร่วมกัน ก็ถือว่าเป็นผลงานที่ทำให้เราค่อยๆ สร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น พอเวลาขออะไรต่อๆ ไปคนก็เลยไว้วางใจเรามากขึ้น แต่อีกอันนึงที่ค่อนข้างฟลุกด้วยคือ การไปเป็นครูอาสาที่ชุมชนตึกแดง แล้ววันนั้นมีบรรยายที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์เกี่ยวกับการบริหารจิตอาสาในยามภัยพิบัติ ตอนท้ายเขาให้เสนอว่าใครอยากจะพูดอะไร วีจึงพูดว่า วีทำ Design for Disaster อยู่ ถ้ามีอะไรให้ช่วยบอกได้ คือเราก็ต้องเสนอตัวด้วยว่าเราจะช่วยคน เราไม่ได้ไปเอาอะไรจากคนอื่น พอดีในห้องนั้นมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสถาบันการแพทย์ฉุกฉิน เขาเพิ่งได้ทุนจากองค์การอนามัยโลกมาทำชุดคู่มือความรู้ภัยพิบัติ เขาจึงชวนเราไปช่วยทำ นับเป็นโปรเจ็กต์หนึ่งที่ถือว่าเราค่อยๆ มีผลงาน หลังจากนั้นก็มีมาเรื่อยๆ

Q: สำหรับตัวคุณเอง คิดว่าได้อะไรบ้างจากทั้งหมดที่ทำไป

A: รู้สึกดีที่ได้ทำค่ะ มีหลายคนมาก โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ จะพูดกันว่าเรียนจบมาตั้งสูง ใช้เงินพ่อแม่ไปเรียนมาตั้งเยอะ ทำไมไม่ทำงานที่ได้เงินเยอะๆ โดนแอนตี้เยอะมากเหมือนกันนะ แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วเรารู้สึกว่า ตอนนี้เรามีพลัง เรามีแรง จึงอยากทำสิ่งดีๆ ให้มากที่สุด ไม่อยากทำงานเก็บเงินให้ตัวเอง ถึงวันที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นจริงๆ เงินในบัญชีอาจจะไม่มีความหมายก็ได้ แล้วสูงสุดเลยถ้าเราอายุมากเราอาจจะไม่มีแรงก็ได้ เลยคิดว่า…เอาวะ ทำตามฝันที่เราเชื่อ ถ้าเราทำในสิ่งที่เราเชื่อแล้วมันเป็นสิ่งที่ดี สิ่งดีๆ มันก็จะเกิดขึ้น

Q: เดี๋ยวนี้น่าจะมีคนคิดแบบนี้อยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ง่ายที่เราจะก้าวข้ามออกมาได้ ตอนที่วีก้าวข้ามมันออกมามันยากไหม และสำหรับบางคนที่อยากทำแล้วยังลังเล เขาควรจะทำยังไง

A: ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าวีไม่ได้เป็นคนดีเลิศเลออะไร เวลาทำเพื่อสังคมไม่ได้ต้องการจะสร้างภาพในสังคมว่าเป็นคนดี วีเป็นแค่คนปกติในสังคม และไม่ได้เป็นคนร่ำรวยอะไร เป็นคนปานกลางที่ต้องประหยัดเหมือนคนทั่วไป อาจจะเป็นคนโชคดีที่พ่อแม่เข้าใจแล้วเปิดโอกาสให้ทำสิ่งที่เชื่อ และอาจจะเป็นเพราะว่าตอนนี้ไม่ได้ลำบากอะไรก็เลยก้าวเข้ามาทำได้ แต่วีก็เข้าใจและเชื่อด้วยว่ามีหลายคนที่อยากจะก้าวเข้ามาทำอย่างนี้แต่ว่าก็ต้องมีภาระหน้าที่ ต้องเลี้ยงดูครอบครัว ก็คงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะแบ่งเวลายังไง สำหรับวี  วีพยายามทำให้มันยั่งยืน ค่อยเป็นค่อยไป แค่รู้ว่าตอนที่เราทำ เราทำมันให้ดีที่สุด ทำมันให้เต็มที่แล้ว ก็จะไม่คิดเสียดายหรือเสียใจเลยที่ว่าทำไมตอนนั้นเราไม่ทำให้เต็มที่ วีจะไม่ใช่คนครึ่งๆ กลางๆ ถ้าทำก็ทำเต็มที่ ถ้าไม่ทำก็ไม่ทำเลย

Q: ผลที่ได้กับคนอื่นล่ะ

A: ต้องบอกว่าสังคมไทยต้องค่อยเป็นค่อยไปนะ สิ่งที่วีพยายามทำกับคนอื่นเป็นเรื่องขององค์ความรู้ซึ่งเกี่ยวกับเนื้องาน มันไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่เทรนด์ ต้องค่อยๆ ปลูกฝัง ค่อยๆ ซึมซับ อย่างนิทรรศการที่หัวลำโพงนี้จะเห็นว่าคนนอนอยู่เยอะมาก ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจอีกแบบ ทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยคนเขาก็เคยได้เห็น ได้ผ่านตา แล้วก็ซึมซับเข้าไป ถึงวันหนึ่งในอนาคตเขาอาจจะฉุกคิดได้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเมื่อหลายปีก่อนเขาเคยเห็นอะไรอย่างนี้ที่นี่ ซึ่งอาจจะจุดประกายอะไรของเขาต่อไปก็ได้ เพราะวีเชื่อเสมอว่า ในชีวิตที่ผ่านมา คำพูดบางคำของเพื่อนหรือคำพูดบางคำของอาจารย์เราจำได้ตลอด แล้วมันก็เป็นแรงหรือจุดประกายให้เราเดินต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทั้งบทเรียน แต่…แค่วูบเดียว ภาพวูบเดียว คำพูดคำเดียวสั้นๆ มันก็มีค่า

Q: ตอนนี้มีโครงการใหม่ที่รออยู่ไหม

A: มีค่ะ อย่างนิทรรศการไม่ลืมน้ำท่วมนี่เป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ ซึ่งอยากไปจัดที่สนามบินต่อ คืออยากจัดในที่ชุมชน อยากให้มันผ่านตาแบบซึมซับเข้าไป จนถึงเดือนมิถุนายนก็จะหาที่ที่จะยกนิทรรศการนี้ไปจัดในที่ต่างๆ และกำลังคิดอยู่ว่านักศึกษาปิดเทอมประมาณเดือนพฤษภาคม เราอาจทำเวิร์กช็อปมาช่วยกันประดิษฐ์หรือออกแบบอะไรสักอย่าง ซึ่งตอนนี้มีนักศึกษาปริญญาโทสถาปัตย์ที่ Harvard  ติดต่อเข้ามาฝึกงาน เป็นคนอังกฤษและแม็กซิกัน 3 คน ตอนนี้ก็ช่วยกันเขียน proposal อยู่ว่าจะทำโปรเจ็กต์อะไร ถ้าเขาได้มาก็จะมาช่วยกันทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับน้ำท่วม ตอนนี้กำลังวางแผนกันอยู่ว่าจะทำโปรเจ็กต์ออกมาเป็นลักษณะไหนดี

Q: ตอนนี้ไม่เหนื่อยไม่ท้อใช่ไหม

A: เหนื่อยค่ะ แต่ไม่ท้อ(หัวเราะ) อาจจะต้องหาเวลาพักสักหน่อย ตื่นมาก็ทำงานต่อ ที่ผ่านมามีประสบการณ์อะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้ว่าถ้าไปเยิ่นเย้อจะเป็นการทำร้ายตัวเอง เลยรู้สึกว่าถ้ามันต้องตัดก็ต้องตัด จะเรียกว่ารู้สึกท้อบ้างก็ได้แหละ ให้มันเต็มที่ไปเลยจะได้หาย

Q: กำลังใจที่มีในตอนนี้

A: กำลังใจส่วนใหญ่ก็มาจากพ่อแม่ พูดจริงๆ กำลังใจมันมาตลอดระหว่างทางเรื่อยๆ นะ เห็นคนที่มาดูเขามีความสนใจ มีการตอบสนองกับงาน เราก็มีความสุข หรือย่างตอนจัดงานอื่นๆ ก็มีเหมือนกัน บางคนมาทำอะไรดีๆ ให้เราโดยที่เขาไม่ได้หวังอะไรเลย ก็รู้สึกดีแล้ว คืองานเหนื่อยๆ พวกนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเจอคนที่ดีๆ มาช่วยเรานิดๆหน่อยๆ นั่นก็เป็นกำลังใจให้เราแล้ว เหมือนเป็นเพื่อน วีเชื่ออย่างหนึ่งคือ บางทีวีมองตัวเองเหมือนเป็นอะไรที่มัน transparent ถ้าคุณทำดีก็เท่ากับคุณทำความดีสะสมแต้มไป ไม่เกี่ยวอะไรกับวี เพราะวีเป็นเหมือนเครื่องมือบางอย่างที่อยู่บนโลกนี้เพื่อให้คุณทำความดี คือถ้าอยากทำความดีก็มาช่วยตรงนี้ละกัน แล้วมันจะส่งต่อความดีออกไปด้วย

Q: ฝากอะไรสักนิดสำหรับคนที่อยากทำอะไรให้โลกของเรา หรือโลกรอบตัวเอง ควรจะเริ่มจากอะไรดี

A: คงจะเป็นคำตอบยอดฮิตนะคะ คือให้เริ่มจากตัวเอง (ยิ้ม) เราต้องระลึกไว้เสมอว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนอื่นได้ 100 % แต่เราเปลี่ยนตัวเองให้ทำสิ่งที่ดีได้ แล้วมันอาจจะมีอิทธิพลหรือผลกระทบเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะไปช่วยคนอื่นได้บ้าง ถ้าถามวีว่า Design for Disaster จะไปช่วยคนให้พ้นจากภัยพิบัติไหม มันก็คงจะไม่ขนาดนั้น แต่วีพยายามให้สังคมเห็นว่ายังมีคนที่พยายามทำเพื่อสังคมอยู่นะ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ดี ใครที่อยากจะทำแบบนี้ เขาก็มาช่วยกันทำ ค่อยๆ แผ่วงกว้าง สังคมก็จะค่อยๆ ดีขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญหากเทียบเป็นสามเหลี่ยมชีวิต ซึ่งฐานด้านกว้างล่างสุดคือปัจจัยสี่ เวลามีภัยพิบัติคนเราต้องมีปัจจัยสี่ ซึ่งเราพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำยังไงให้ปัจจัยสี่เกิดขึ้นได้ เช่น เครื่องกรองน้ำ แทนที่จะรอน้ำจากที่อื่น เราก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาออกแบบนวัตกรรม หรือเครื่องผลิตอาหาร เครื่องถนอมอาหาร เครื่องผลิตกระแสไฟ เกิดเป็นนวัตกรรมขึ้นมารองรับปัจจัยสี่ในช่วงที่คนเกิดภัยพิบัติ อันนี้เป็นสิ่งที่ดี ถัดขึ้นมา สามเหลี่ยมขั้นที่สอง คือความรู้และทักษะในการเอาชีวิตรอด คือต่อให้มีเครื่องมืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราไม่มีวิธีรับมือ เช่นคนญี่ปุ่นเขารู้ว่าถ้ามีแผ่นดินไหวเขาจะต้องอยู่ใต้โต๊ะ หรือต้องวิ่งออกไปนอกตึก เราต้องมีความรู้พื้นฐานตรงนั้นในสังคม นี่คือสิ่งที่ Design for Disaster คิดไปไกลๆ ว่าอยากจะทำ และบนสุดที่สำคัญที่สุดเลย คือจิตสำนึกที่ดี เพราะต่อให้มีปัจจัยสี่หรือความรู้ที่ดีแต่ไม่มีจิตสำนึกที่ดีแล้วแก่งแย่งกัน มันก็ไปกันไม่รอด มันก็ต้องช่วยเหลือกัน

ข้อมูลเเพิ่มเติม:
เฟสบุ๊ค: www.facebook.com/DesignForDisasters
เว็บไซต์: www.designfordisasters.org
อีเมล: info@designfordisasters.org
ก่อตั้ง: มกราคม 2553

Photo Credit: Pasin Tamm Auttayatamavitaya
Photo Credit: ภาพบางส่วนจาก www.facebook.com/DesignForDisasters

บันทึก

Tags

Tags: ,

Asira Panaram

อาศิรา พนาราม เป็นนักอ่านมากกว่านักเขียน ชอบฟัง หลงรักข้อมูลอัดแน่น สนใจศิลปะ อาหาร การออกแบบ และงานสร้างสรรค์ต่างๆ เพราะปลื้มตัวอักษรที่เรียงกันเป็นพรืด จึงได้โคจรมายึดงานเขียนเป็นอาชีพ ทำหน้าที่เล่าเรื่องของคนสร้างสรรค์และงานไอเดียบรรเจิด แต่นอกจากเหนือจากหน้าที่อันแสนสนุกและเต็มไปด้วยสาระ เรื่องสยองขวัญเป็นสิ่งที่เธอโปรดปรานอย่างจริงจัง

See all articles