Dinner For Few: หิวกระหายไม่จบสิ้น กลืนกินทุกสิ่งจนไม่เหลือ

Nassos (Athanassios) Vakalis เป็นนักทำหนังอะนิเมชั่นชาวเอเธนส์ ประเทศกรีซ เขาสนใจในงานด้านการ์ตูนและ กราฟิกอาร์ต เรียบจบด้านศิลปะและอะนิเมชั่นจากสหรัฐอเมริกา คร่ำหวอดอยู่ในสายงานด้านนี้มานาน เริ่มตั้งแต่เป็นนักออกแบบการ์ตูน, กราฟิก ให้กับบริษัทโฆษณาต่างๆ ไปจนถึงการทำหนัง โดยเครดิตจากการเป็นศิลปินเพ้นท์สีให้หนังการ์ตูนสั้นเรื่องแรกคือ  Adam ในปี 1986 จากนั้นก็มีผลงานทั้งในวงการหนังอะนิเมชั่นและซีรีย์ทีวีในหลายบทบาท ทั้งออกแบบตัวละคร ดูแลตัวละครหลักของเรื่อง และในฐานะนักเล่าเรื่อง Story Artist โดยมีผลงานร่วมกับหนังดังอีกมากมายเช่น Spirit: Stallion of the Cimarron (2002), Kung Fu Panda (2008), Puss in Boots (2011) สำหรับเรื่อง Dinner For Few (2014) นี้เป็นผลงานส่วนตัวที่เขาทำเองทั้งด้านเรื่อง การออกแบบตัวละคร และ กำกับฯ ซึ่งกวาดรางวัลมากมายจากหลากหลายสถาบันทั่วโลก

โดยไม่ต้องสงสัยถึงความสวยงามในการออกแบบและเรื่องราวที่ดึงดูดใจ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฉากเดียว ภายในอาคารของโรงแรมพิสดารแห่งหนึ่งที่แม้จะดูมั่นคง ทว่าก็มีรอยแหว่งวิ่นของผนังให้เข้าไปเห็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นภายในนั้น อาหารค่ำของกลุ่มคนที่แต่งตัวภูมิฐานที่ล้วนมีใบหน้าเป็นหมู รวมทั้งเสื้อผ้าเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม ซึ่งต่างกำลังทำกิจกรรมเดียวกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั่นก็คือ ‘การกิน’ ท่ามกลางสายฝนในโทนบรรยากาศขมุกขมัวทว่าแฝงอารมณ์ขันลึกๆ ไว้ภายใต้กิจกรรมที่ไร้แก่นสารของตัวละครทั้งหลาย ราวกับเป็นกลไกของเครื่องจักรที่ทำงานอย่างต่อเนื่องซึ่งนำพามาซึ่งจุดจบที่เหลือเชื่อ นี่เป็นเสมือนการปอกเปลือกให้เห็นธาตุแท้ของการบริโภคและระบบสังคมเศรษฐกิจ การเมือง ที่เกาะกินโลกใบนี้อยู่ อาจดูเกินจริงแต่ในเชิงสัญลักษณ์แล้วมันอาจไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหลังจากดูจบอาจเกิดคำถามไว้ให้ขบคิดว่า ชีวิตเรามีโอกาสหลุดรอดจากวงจรนี้แน่หรือ เราสามารถเลี่ยงกับการเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอุบาทว์นี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่ว่าระบบกลไกใดๆ ก็ตามที่เข้ามาสวมในรูปแบบชีวิตประจำวันของคนเราแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือความเคยชิน ซึ่งเมื่อดำเนินไปแล้วก็ไม่อาจหยุดได้ ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนไปโดยอัตโนมัติ เช่น เกิดมา เรียน ทำงาน ซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่งงาน มีลูก ฯลฯ ทั้งหมดคือกลไกการบริโภคที่เน้นให้เราหาเงินเพื่อสนองตอบระบบให้ดำเนินต่อไป คล้ายเรากลายเป็นกลไกของระบบไปด้วยโดยไม่รู้ตัว ฉากหนึ่งในหนัง ‘ชาลี แชปลิน’ อย่าง Moden Time ก็สะท้อนภาพอะไรทำนองนี้เช่นกัน ความไร้ชีวิตของมนุษย์ภายใต้ระบบ แม้เราจะตลกโปกฮากับท่าทางของตัวละครแต่มันก็คือการหัวเราะเยาะเย้ยชีวิตตัวเองที่กำลังอยู่ในวิถีเดียวกัน Dinner For Few อาจไม่ชวนให้หัวเราะแบบนั้น แต่ในเจตจำนงของการเล่าเรื่องก็กำลังตักเตือนสังคมให้ย้อนมองความจริงและค้นหาการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า และไม่ตกเป็นทาสของระบบที่กำลังตีบตันซึ่งอาจกำลังทำลายตัวเองให้พินาศไปในอนาคต

อ้างอิง: dinnerforfew.comnassosvakalis.comimdb.com

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles