‘Viewing Half-Earth through Taichung’s Ecology’ ขอคืนพื้นที่ครึ่งหนึ่งบนโลกให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นได้อยู่ตามธรรมชาติจะได้ไหม?

ในงาน Taichung World Flower Expo 2019 ในเมืองไถชุง ไต้หวัน ที่เพิ่งผ่านไป มีพาวิลเลียนหนึ่งที่นำเสนอเรื่องราวของธรรมชาติและระบบนิเวศน์ในเขต Dajia River แม่น้ำสายหลักของเมืองไถชุง ได้อย่างมีความรู้ข้อมูลครบถ้วน แถมยังสวยงาม ทันสมัย และน่าสนใจอีกด้วย นั่นคือ พาวิลเลียนที่ชื่อ Discovery Pavilion

Cogitoimage International ผู้รับผิดชอบงานออกแบบในนิทรรศการบนพื้นที่กว่า 31,861 ตารางฟุต แบ่งพื้นที่ภายในพาวิลเลียนออกเป็น 9 นิทรรศการย่อย แต่ละนิทรรศการให้ภาพของภูมิประเทศ พืชพันธุ์ต้นไม้ และสัตว์ป่าที่พบตามพื้นที่ต่างๆ ไล่เรียงความสูงตั้งแต่พื้นที่ชุ่มน้ำ Gaomei ที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำ Dajia ขึ้นไปจนถึงยอดเขาสูง 3,886 เมตรเหนือน้ำทะเลที่มีหิมะปกคลุม โดยในการนำเสนอทั้งหมด Cogitoimage เลือกใช้มัลติมีเดียหลากหลาย ตั้งแต่ บทกวี งานฝีมือ ไปจนถึงนิวมีเดียจำพวก VDO installation ที่ให้แสงสีตระการตา โดยพวกเขากล่าวว่าสาเหตุที่เลือกใช้สื่อหลากหลายในการนำเสนอครั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์จากการรับรู้ที่หลากหลายเหมือนกับความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่า ที่มีให้เห็นในพื้นที่ใหญ่อันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้

นิทรรศการของ Discovery Pavilion ครั้งนี้ใช้ชื่อธีมว่า ‘Viewing Half-Earth through Taichung’s Ecology’ โดยนอกจากจะเป็นการส่งเสริมความตระหนักรู้ในเรื่องความสมบูรณ์และหลากหลายทางชีววิทยาแล้ว คำว่า ‘Half-Earth’ ที่นำมาใช้ก็ยังมีความหมายลึกซึ้ง คือเป็นคำที่นำมาจากแนวคิดของ Edward Wilson บิดาแห่งความหลากหลายทางชีววิทยา ที่เรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนคืนพื้นที่ครึ่งหนึ่งบนโลกให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้อาศัยอยู่กันตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์และพืชพันธุ์เหล่านั้นต้องสูญพันธุ์ไป Wilson ยังบอกอีกว่าแนวคิด ‘Half-Earth’ มีความหมายแฝงอีกสองนัย คือ หนึ่ง-มนุษย์ควรตระหนักว่าเราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่อาศัยอยู่บนโลก แต่ยังมีสัตว์พันธุ์อื่นๆ อีกมากที่มีสิทธิในการอยู่บนโลกนี้เหมือนเรา และสอง-ดังนั้นเราจึงควรอนุรักษ์พื้นที่ให้เพื่อนร่วมโลกของเราได้อยู่อาศัยกันมากกว่านี้ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ

นิทรรศการ ‘Viewing Half-Earth through Taichung’s Ecology’ นี้เพิ่งจบไปเมื่อปลายเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งบอกได้คำเดียวเลยว่าใครพลาดไปก็น่าเสียดายมากๆ แต่มันคงจะน่าเสียดายอย่างที่ไม่น่าให้อภัยกว่านี้ หากเรายังคงไม่เล็งเห็นความสำคัญของธรรมชาติและระบบนิเวศน์ จนปล่อยให้ถึงวันที่เราต้องจ้องตากับเจ้า leopard cat ผ่านทางจอภาพมัลติมีเดียขนาดใหญ่ หรือยืนมองแซลมอนว่ายไปมาบนจอ แทนที่จะได้เห็นสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ด้วยตาของเราเองจริงๆ

อ้างอิง: aasarchitecture.cominhabitat.com
Photo courtesy of Te-Fan Wang

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles

Next Read