‘ดิสสกร กุนธร’ เล่นสนุก มีความสุข ได้สาระกับ ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’

เพราะการเล่นไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่ส่งผลโดยตรงให้เด็กๆ ได้รับทั้งความสุข สนุก รวมทั้งอิสระทางความคิด ทันทีที่พวกเขามีทัศนคติที่ดีกับการเรียนรู้ สนามเด็กเล่นจะกลายเป็นก้าวแรกที่จะทำให้การเดินทางหลังจากนั้นของเด็กๆ มีโอกาสได้ค้นพบตัวเอง และส่งเสริมให้การเรียนรู้ด้านอื่นของชีวิต อันรวมไปถึงการศึกษาที่จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปด้วย

อาจารย์ดิสสกร กุนธร หรือลุงดิสของเด็กๆ คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความคิดที่ว่านี้ และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ พื้นที่ที่เด็กๆ จะได้ปีนต้นไม้ กินขนม รับลมเย็นๆ พร้อมไปกับการเรียนรู้ธรรมชาติผ่านกิจกรรมตามช่วงวัย ซึ่งการพูดคุยกว่า 5 ชั่วโมงในวันนั้น ได้เปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อสนามเด็กเล่นไปอย่างสิ้นเชิง ประกายในดวงตาที่ฉายให้เห็นถึงความใส่ใจ มุ่งมั่น แต่อ่อนโยนและเมตตานั้น ก็ทำให้เรารู้สึกอิจฉาเด็กๆ ไม่น้อยกับโอกาสที่พวกเขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขภายในสนามเด็กเล่นในแบบที่ควรจะเป็น

แหล่งเรียนรู้การเล่นตามรอยพระยุคลบาท

“ผมเริ่มต้นทำโครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญานี้ประมาณสัก 10 กว่าปีมาแล้ว จุดเริ่มต้นจริงๆ เกิดขึ้นที่โรงเรียนประถมสาธิตประสานมิตร ที่ตอนนั้นภาครัฐต้องการที่จะออกแบบโรงเรียนที่จะผลิตเด็กที่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง โดยโรงเรียนแบบใหม่นี้ชื่อว่า ‘ฉันทะศึกษา’ ที่นอกจากจะเน้นไปที่การสอนให้เด็กกล้าคิดกล้าทำแล้ว เด็กๆ ต้องเป็นคนดี มีความสุข และมีความภาคภูมิใจในตัวเองด้วย ก็เลยเกิดโปรเจ็กต์สนามเด็กเล่นเพื่อพัฒนาการศึกษาขึ้น โดยรูปแบบสนามเด็กเล่นนี้ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งสมเด็จย่าท่านทรงมีความรู้และเข้าใจในหลักการอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างลึกซึ้งมาก ทรงนำองค์ความรู้มาปฏิบัติอบรมเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้งยังสอดคล้องไปกับหลักการพัฒนาสมอง ทุกๆ อย่างที่พระองค์ทำให้พระโอรสและพระธิดาเล่น เป็นสิ่งที่พอดี ทั้งการเล่นกับธรรมชาติ การอยู่กับต้นไม้ น้ำ ยอมให้เลอะเทอะ ยอมเสียเวลา นั่นเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะชีวิตของเด็กต้องให้เวลาเขาเต็มที่ 100% ซึ่งสมเด็จย่าในสมัยที่ท่านเริ่มเลี้ยงพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้ความคิดมาจากนักจิตวิทยาชาวสวิสและเยอรมันที่ให้อยู่กับธรรมชาติ ไม่ใช่เทคโนโลยี”

สร้างรอยทางที่นำไปสู่ความสุข

“การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ แต่ละช่วงวัยก็จะมีการรับรู้ที่แตกต่างกัน ในช่วงวัยก่อน 3 ขวบ สิ่งที่ลูกทำพร้อมกับพ่อแม่จะเป็นสิ่งที่เขาจดจำ พ่อแม่ทำอะไร ลูกจะเป็นเหมือนเงา เพราะฉะนั้น คนที่เป็นพ่อแม่ เราต้องเตรียมเงาของตัวเองให้ดีเพื่อให้เขาทำตาม เช่น อยากให้ลูกเก็บบ้าน แม่ก็ต้องถือไม้กวาด แล้วมีไม้กวาดเล็กๆ ให้ลูกกวาดไปด้วยกัน แม่อยากให้ลูกกินผัก แม่ก็ต้องกินผัก แล้วลูกก็จะกินตาม ถ้าทำสำเร็จลูกก็จะกินผักไปตลอดชีวิต ในช่วงต้น แม่จะต้องอยู่ ถ้าแม่อารมณ์ดีเสมอ ลูกจะเป็นเด็กน่ารักอารมณ์ดี แม่พูดเพราะลูกก็พูดเพราะ แม่พูดเบาลูกก็พูดเบา ถ้าแม่มีความสุข แม่ร้องเพลง ลูกก็จะมีความสุขไปด้วย ซึ่งการฝึกต้องฝึกก่อน 3 ขวบ เพราะเมื่อ 4-6 ขวบ จะเป็นวัยที่เขาจะมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง จะไม่เป็นเงาพ่อแม่แล้ว เริ่มหยิบกิ่งไม้และจินตนาการว่าเป็นคทาวิเศษ ผจญภัย มีการไปพบสมบัติ มีการอ่านแผนที่ อย่างนี้เป็นต้น”

กิจกรรมและโครงสร้างที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับช่วงวัย

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญานั้น จะยึดเอาธรรมชาติเป็นสำคัญ โดยพื้นที่สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจะเป็นการเรียนรู้ที่มีพื้นฐานมาจากการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในจิตใจเพื่อเปิดสมอง ความอยากรู้อยากเห็นอยากทำ

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจะถูกออกแบบการเล่นให้สอดคล้องไปในแต่ละช่วงวัยสำหรับวัย ตั้งแต่ 1-3, 3-5, 5-7, 7-11 ขวบ ในวัย 1-3 ขวบ อย่างแรก เขาต้องรู้จักวิธีช่วยตัวเขาเองก่อน ทั้งวิธีการเดินและการทรงตัว เนื่องจากเขาจะพัฒนาสมองยังน้อยอยู่ รวมทั้งเรื่องน้ำในหูให้ทำงานได้ดี เราจึงออกแบบพื้นที่ให้เขาได้ฝึกการทรงตัว ที่มีทั้งพื้นเอียงบ้าง ฝืดบ้าง ลื่นบ้าง ให้เขาปีนป่าย ทรงตัว เล่นน้ำ ดิน ทราย โคลน ต้นไม้ใบหญ้า สาหร่าย และแสงแดด

ส่วนเด็กช่วง 3-5 ขวบ ก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง อุปกรณ์ต่างๆ จะสลับซับซ้อนขึ้น การออกแบบส่วนนี้ก็จะเอื้อทักษะของเด็กมีการพัฒนาทางกาย ใจ และด้านจินตนาการมากขึ้น ของเล่นก็จะเป็นของเล่นปลายเปิดเพื่อกระตุ้นและเปิดให้เด็กๆ ใช้จินตนาการ เช่น เด็กผู้หญิงก็จะฝันอยากเป็นเจ้าหญิง เป็นนางฟ้า แต่งตัวสวยๆ ส่วนผู้ชายก็ฝันเป็นปีเตอร์แพน เหาะเหินเดินอากาศได้ ขี่เรือโจรสลัด แต่อุปกรณ์ที่เรามี ไม่ใช่การยกทุกอย่างแล้วเป็นเจ้าหญิงหรือปีเตอร์แพนได้เลย เราจะเอามาแค่บางส่วนเพื่อให้เขาได้คิดต่อ แล้วเราจะทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์คอยดูว่าเขาตกลงจะเล่นอะไร จากนั้นเราจะจุดประกายเริ่มต้นให้เขาคิดต่อไปเรื่อยๆ

ขณะที่เด็กวัย 5-10 ขวบ เขาจะทำจินตนาการให้กลายเป็นของจริงแล้ว เช่น เขาต้องมาทำของเล่นเอง ซึ่งเราจะเตรียมอุปกรณ์ให้ และฝึกให้เขาใช้เลื่อย ตอกตะปู การเจาะด้วยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งบางอย่างที่ยังอันตรายอยู่ เราในฐานะผู้ดูแลก็จะช่วยผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งถ้าเขาโตขึ้นอีกนิดหนึ่ง เราก็จะให้ฝึกเขาฝึกเจาะด้วยตัวเอง แผลนี่ต้องมีอยู่แล้ว เราต้องฝึกเล่นจากของที่ผู้ใหญ่มีอยู่จริง มีดเนี่ย มีความคมและอันตราย ซึ่งถ้าเราเลือกใช้ทำอาหาร เราก็จะได้อาหาร แต่ถ้าเราเอาไปใช้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นก็ทำได้เช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องให้เขาเรียนรู้การใช้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้เราจะสอนให้เขาหุงต้มอาหารให้ได้พอสมควร เริ่มด้วยการทำขนมที่เราจะทำให้เขาเห็น แล้วเขาก็จะอยากเลียนแบบ อยากลองทำดู พอทำได้และกินได้ ความมั่นใจจะเกิดขึ้นว่าฉันไม่ตายแล้วนะ เพราะฉันสามารถทำของกินได้เอง เรื่องนี้สำคัญนะ เพราะถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขามั่นใจว่าไม่มีอะไรในโลกที่เขาทำไม่ได้ เขาก็จะกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถทำอะไรก็ได้ และสามารถพัฒนาจนกระทั่งเกิดความแม่นยำ ความชำนาญ และเกิดอาชีพ ซึ่งการวางรากฐานลักษณะนี้ แล้วปล่อยให้เขาคิดต่อด้วยคิดวิธีใหม่ๆ ของตัวเอง ต่อไปเขาก็จะสามารถนำทักษะต่างๆ ในชีวิต ไปดูแลชีวิตตัวเองและสร้างสิ่งดีๆ ให้ประเทศได้ต่อไป”


เปลี่ยนบ้านให้เป็นสนามทดลองสร้างปัญญา บ่มเพาะด้านจิตใจ เรียนรู้จากธรรมชาติ

“ที่จริงผมทำสนามเด็กเล่น โดยเริ่มจากที่บ้านตัวเองมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว และเปิดให้เด็กๆ มาทดลองเล่นในนี้ โดยเฉพาะเล่นน้ำ เราจะมีบ่อที่เป็นน้ำตก เป็นน้ำตื้น และเป็นน้ำแช่ แล้วก็มีโซนสำหรับเด็กเล็กๆ เวลาเด็กๆ ได้อยู่กับธรรมชาติ เขาจะมีความสุข พอมีความสุขสมองข้างในก็จะเปิด ซึ่งเราสังเกตได้จากแววตา ทีนี้พอสมองเขาเปิดแล้ว เราจะปลูกฝังอะไรก็ได้แล้ว สิ่งที่เราพยายามใส่เข้าไปคือเรื่องความกตัญญู ศาสนา สอนการอ่านแผนที่ แทรกเรื่องประวัติศาสตร์ ปรัชญา การสอนให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเอง เลี้ยงชีวิตตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องการทำอาหารที่เราจะเน้นเยอะ การดูแลบ้าน จัดกระเป๋าเดินทาง แต่เหล่านี้ เราจะสอดแทรกความรู้ โดยที่จะสอนทุกๆ อย่างไปพร้อมกัน โดยไม่ได้แบ่งเป็นวิชา แต่เราจะมีการพัฒนาทุกวิชาแบบพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงตรัสว่าทุกวิชาคือวิชาเดียว เราสามารถใช้น้ำเพียงหยดเดียวพัฒนาไปจนกลายเป็นโลกทั้งใบ น้ำหยดเดียวที่จะเกี่ยวข้องกับโลกทั้งใบ หรือว่าข้าวเม็ดหนึ่งจะเกี่ยวพันกับชีวิตเราทั้งหมด”

สนามเด็กเล่นกับกิจกรรมที่แตกต่างไปตามบริบทแวดล้อม

ในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาสักแห่ง ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง นอกเหนือไปจากเรื่องความปลอดภัย รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ต้องมีลมโกรก มีต้นไม้ใหญ่อย่างน้อยหนึ่งต้น อยู่ในระแวกชุมชน และมีคนดูแลได้ตลอดแล้ว ในส่วนของกิจกรรมก็ยังต้องออกแบบให้สอดคล้องไปกับบริบทแวดล้อมด้วย

“สำหรับสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจะมีหลากหลายและผันแปรไปตามสถานที่ตั้ง หลักๆ คือเราพยายามสอนให้เด็กเข้าใจทั้งธรรมชาติและสังคมที่เขาอยู่ ณ เวลานั้น ซึ่งสนามเด็กเล่นแต่ละแห่ง ก็จะมีกิจกรรมที่ต่างกันไป การออกแบบกิจกรรมก็ต้องให้ถูกกับบริบทที่เด็กๆ สามารถนำไปใช้งานได้ด้วย เขาจะได้เรียนรู้ธรรมชาติของเขาในบริเวณบ้านและเมืองว่ามีอะไรที่เป็นจุดเด่น เช่น เป็นพื้นที่ชาวประมง ก็จะมีเรื่องการจับปลา ถักแห ถักอวน ถนนสายนี้ขายอะไร ทำไมถึงขาย หรือตรงนี้มีต้นไม้นะ ต้นนี้กินได้ไหม มีประโยชน์แบบไหนบ้าง เป็นต้น”

เมื่อของเล่นปลายปิดตามสมัยนิยมถูกท้าทายด้วยของเล่นปลายเปิดแบบธรรมชาติ

“ของเล่นจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ open-ended กับ closed-ended นะครับ ซึ่งของเล่นที่เราเห็นโดยทั่วๆ ไป คือของปลายปิด เป็นของเล่นที่ซื้อสำเร็จรูปและเล่นได้ตามที่ผู้ผลิตคิดและกำหนด เมื่อเด็กเล่นบ่อยๆ เขาจะเริ่มเบื่อก็ต้องไปหาอย่างอื่นที่ตื่นเต้นกว่า จนเด็กติดของเล่นและการเล่น ตลอดจนจินตนาการเชื่อมโยงก็จะหายไป รอแต่การซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง และตกเป็นทาสของของเล่นในที่สุด แต่ของเล่นปลายเปิด จะเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถนำมาดัดแปลงได้ตามจินตนาการ นี่คือข้อดีและเราใช้ของเล่นลักษณะนี้ในสนามเด็กเล่น เช่น กิ่งไม้ที่สามารถเป็นได้ตั้งแต่หอก ไปจนถึงไม้กายสิทธิ์ หรือกองทราย จะคิดว่าเป็นภูเขาหรือจะขุดลงไปเป็นบ่อน้ำก็ได้ ของเล่นปลายเปิดจะขึ้นอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก ไม่ใช่คนขาย ซึ่งข้อดีของการเล่นของเล่นแบบนี้ เราจะได้นักคิด นักจินตนาการ นักประดิษฐ์มากมายไม่มีที่สิ้นสุด”

การเล่นให้อะไรมากกว่าที่เราคิด

“การเล่นมีประโยชน์มากนะ เพราะนอกจากเด็กๆ ได้เรียนรู้ความเป็นไปของธรรมชาติ คลายเครียด รวมทั้งนำไปสู่พัฒนาการของสมองอย่างเต็มที่แล้ว ยังทำให้เขาได้ล้างสารพิษคอร์ติซอล รวมถึงสร้างสารแห่งความสุข ตลอดจนให้ประสบการณ์และพัฒนาการด้านต่างๆ ตั้งแต่การฝึกทักษะในการเข้าสังคมและสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การลงมือทำ การช่วยเหลือตัวเอง รู้จักอดทนอดกลั้น รวมทั้งเอื้อเฟื้อต่อคนอื่นด้วย และที่นี่ยังฝึกให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง อารมณ์ดี มีความมั่นคงทางจิตใจว่าเขาจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมั่นคง เขาสามารถช่วยเหลือชีวิตของตัวเองได้ทุกอย่าง การเล่นก็เหมือนกับเราได้รับประทานอาหารและนอนหลับอย่างดี ผมมองว่าความสุขของชีวิตในวัยเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอารมณ์จะขับเคลื่อนการทำงานของสมอง เมื่อเรามีอารมณ์ดี สมองก็จะหลั่งสารแห่งความสุข แต่สมองก็เป็นทาสของจิตใจ ดังนั้นเราก็ต้องพัฒนาด้านจิตใจไปพร้อมๆ กัน จิตที่มีความสุขก็เมื่อเด็กได้เล่นและก็ได้รับความรักที่ดีจากพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย”

โปรเจ็กต์ต่อเนื่องที่เชื่อมโยงไปยังครอบครัวและสังคม

“ถ้าจะเล่นให้เป็นมรรคเป็นผลจริงๆ คุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย โรงเรียน รวมทั้งชุมชนจะต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน อย่างตอนนี้เราคิดที่จะต้ังโครงการหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า ‘Eagle and the Kids’ หรือนกอินทรีย์กับเด็กน้อย คนที่เป็นนกอินทรีย์ก็คือผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่มีสายตายาวไกล และสามารถเสียสละเวลาของตัวเองเพื่อมาทำงานเป็นอาสาได้ โครงการนี้ นอกจากจะมีประโยชน์กับเด็กแล้ว ผลที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ก็คือพวกเขาจะไปโรงพยาบาลน้อยลง เพราะได้รับพลังจากเด็ก ขณะที่เด็กเองก็มีโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้นในวิถีที่ดี ได้ซึมซับประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เคยผ่านมาก่อน และด้วยบริบทของความเป็นไทย เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความประณีต อ่อนโยน และสมบัติผู้ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องได้มาจากผู้สูงอายุเท่านั้น”

เพราะที่ไหนก็เป็นสนามเด็กเล่นได้

“สนามเด็กเล่นควรจะมีในบ้านทุกหลัง ซึ่งภาพของสนามเด็กเล่นในความคิดของคนส่วนใหญ่จะต้องมีพื้นที่กว้าง มีเครื่องเล่น แต่จริงๆ แล้ว แค่คุณมีพื้นที่ ไม่ต้องมากมายหรอก ก็สามารถทำเป็นสนามเด็กเล่นดีๆ ได้แล้วนะ ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมีของเล่นราคาแพง คุณอาจมีแค่กะละมัง มีขวด มีกระป๋อง มีไม้ หรืออะไรก็ตามที่หาได้ เด็กๆ ก็เล่นได้เป็นชั่วโมงๆ แล้ว สำหรับเด็ก อะไรก็เล่นได้ ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่จะให้โอกาสไหม เด็กบางคนบอกว่ามีความสุขมากเลยที่บ้านมีต้นไม้หนึ่งต้น แต่แม่ตัดต้นไม้ต้นนี้ทิ้ง สำหรับเขาเหมือนสวรรค์ที่หายไปเลย ผู้ใหญ่อย่างเราอาจคิดไม่ถึงว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ยึดเหนี่ยวจิตวิญาญาณของลูกได้”


เทคโนโลยี VS ธรรมชาติ

“ถ้าเอาเทคโนโลยีมาใช้จะทำให้เด็กตื่นเต้น ทำอะไรก็ไม่มีสมาธิ แต่ก็พูดลำบากนะ เพราะทุกคนก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้ แล้วไม่มีใครบอกว่าอันตรายหรือไม่อันตราย เราต้องตระหนักไว้ด้วยว่า สิ่งใดๆ ก็ตาม เมื่อมีคุณก็ต้องมีโทษอยู่ ผมยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศสที่สั่งห้ามเด็กนักเรียนพกมือถือในโรงเรียน แม้แต่ตอนพักก็ไม่ให้มี วิธีทำโทษก็คือยึดเครื่องแล้วเรียกพ่อแม่มาตักเตือน แต่คนไทยไม่เหมือนกับคนฝรั่งเศส หรืออย่างละครแดจังกึมที่รัฐบาลเกาหลีใต้สามารถพลิกโลกให้ตามละครได้เลย จากคนเกาหลีที่ไม่มีคนในโลกใบนี้ชอบ กลับกลายเป็นคนเกาหลีมีคนรักมาก สำหรับไทยเองโมเดลนี้ก็ดูมีความเป็นไปได้นะ นั่นคือการใช้สื่อแบบย้อนทางและเป็นประโยชน์ สอดแทรกทัศนคติและค่านิยมที่เหมาะที่ควรเข้าไป คุณลองดูสิ อย่างละครบุพเพสันนิวาส นี่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้พฤติกรรมเราเปลี่ยนแบบไม่รู้ตัวเลยนะ คนไทยอาจจะเหมาะกับกุศโลบายทำนองนี้ ผมว่าต้องใช้วิธีที่เขาไม่รู้ตัว แล้วก็ไม่ใช่เป็นคลื่นลูกเดียว ต้องเป็นคลื่นที่ต่อเนื่องด้วย”


อิ่มใจเมื่อเห็นคนอื่นสนุกกับการเรียนรู้

ในวัย 70 ปี อาจารย์ดิสสกรยังคงสนุกกับการได้คิด ทดลอง และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ และความสุขของอาจารย์ในทุกๆ วัน ก็คือการได้เห็นเด็กๆ รวมทั้งครอบครัวของมีความสุขจากการเรียนรู้

“ผมเองก็มีความสุขทุกครั้งเมื่อพวกเขาสนุกกับการได้เจออะไรใหม่ๆ แล้วความสุขในวัยเด็กใครว่าไม่สำคัญ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็ว่าได้ ที่จะพัฒนาให้เด็กกลายเป็นคนมองบวกและเป็นคนดีได้ ลองคิดกลับกัน ถ้าในสมัยเด็กถูกบังคับให้มีแต่การสอบ ติวหนังสือ เรียนพิเศษ วันนี้ก็สอบ พรุ่งนี้ก็สอบ ถามว่าถ้าคุณเป็นเด็ก คุณจะมีความสุขไหม แล้วถ้าเขาไม่มีความสุข เขาอยากเป็นคนดีไหม ถึงเขาจะประสบความสำเร็จได้เป็นด็อกเตอร์ เป็นใหญ่เป็นโต แต่เป็นคนไม่ดี แบบนั้นยิ่งอันตรายเข้าไปใหญ่ เขาใช้ความทุกข์สู้กับความทุกข์จนสำเร็จไง เพราะฉะนั้น เขาไม่ให้ใครแล้ว จะเป็นคนเห็นแก่ตัว ลองดูทฤษฎีในหลวงรัชกาลที่ 9 สิ ที่สมเด็จย่ามุ่งมั่นที่จะให้ลูกมีความสุขในวัยที่สมควร รู้จักเสียสละ รู้จักที่จะคิดว่าความสุขทั้งหลายคือการเสียสละ ไม่ใช่การได้มาแล้วไม่รู้จะไว้ไหนเยอะแยะไปหมด เป็นคนรวยใช่ว่าจะมีความสุขเสมอไป”


ต้นแบบของชีวิต

นอกจากโอวาท 4 ข้อของท่านเหลี่ยวฝาน ขุนนางราชวงศ์หมิง อันได้แก่ การสร้างอนาคต วิธีแก้ไขความผิดพลาด วิธีสร้างความดี และการถ่อมตน จะเป็นแนวทางในการออกแบบชีวิตในช่วงวัยต่างๆ แล้ว ผู้ที่เป็นต้นแบบสำคัญที่อาจารย์ดิสสกรตั้งไว้เป็นต้นทางของการดำเนินชีวิตนั้นก็คือ สมเด็จย่าและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

“ท่านเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตที่ดี การใช้ชีวิตที่มีแต่ความเมตตา มีความเสียสละ อดทน อดกลั้น ซึ่งการได้เกิดบนแผ่นดินที่มีท่านเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นรากฐานให้แก่ชีวิต ในโลกนี้ไม่มีใครสู้ประเทศไทยได้ ผมคิดว่าโลกนี้เป็นโลกใบเดียวกัน สิ่งมีชีวิตทุกอย่างเท่ากันหมด มีเกียรติ มีความเสมอภาค คนจะดีไม่ได้อยู่ที่ฐานะและชาติกำเนิด แต่อยู่ที่การกระทำของตัวเอง และเขาจะเป็นคนดีได้ก็ต้องมีตัวอย่างที่ดีด้วย”

ปลายทางคือการสร้างสายป่านแห่งความรู้และส่งต่อแบบไม่มีที่สิ้นสุด

“สนามเด็กเล่น ไม่ใช่เฉพาะการเล่นนะ แต่เป็นการพัฒนาที่ยาวไปถึงขั้นความรู้ที่ลึกซึ้ง ตั้งแต่ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม จิตวิทยา โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และการคำนวณกับระบบภาษา ในนี้เราทำมาหมดแล้วนะ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ทำเป็นวิจัย ความรู้และทักษะเหล่านี้ถูกเก็บข้อมูล เพื่อที่จะนำไปสอนเด็กๆ เพื่อให้เด็ก synchronize ได้หมดทุกอย่างเท่าที่ผมกับอาจารย์บังอร (บัวเมือง) จะสอนได้ นอกจากนี้ อย่างที่บอกว่าเราอยากจะให้คนสูงวัยเข้าไปช่วยโอบอุ้มเด็กๆ ก็คือไปสอนทุกอย่าง ทั้งการทำของเล่น ทำขนม วิธีการใช้ชีวิต ศาสนา คุณธรรม หรือประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้ใหญ่ผ่านชีวิต ให้เขาถ่ายทอดให้เด็กต่อไป และทั้งหมดจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีแต่การแย่งชิง ช่วยแก้ปัญหาทางจิตวิทยา ยาเสพย์ติด ปัญหาท้องวัยใส อาชญากรรม การขาดสติ ขาดความคิด สามัญสำนึก ที่ทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา จนต้องมีการบังคับลงโทษ ซึ่งไม่เกิดผลด้านจิตใจ เพราะฉะนั้น สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจะเป็นหนทางที่ช่วยคลี่คลายปัญหาทั้งหมดนี้ลงได้”




ภาพ: Maneenoot Boonrueng, Facebook: wisdom.playground.foundation
อ้างอิง: Facebook: wisdom.playground.foundation

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles