พลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เราใช้ไฟฟ้าทั้งความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน แต่การเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าไม่สามารถไปถึงกับทุกชุมชนได้ เพราะระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าต้องพึ่งสถานีไฟฟ้าเพื่อเพิ่มแรงดันไฟฟ้าและสายไฟจ่ายไปยังชุมชนต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นชุมชนที่ห่างไกลจากสถานีไฟฟ้ามาก ก็จะต้องใช้วิธีสร้างพลังงานด้วยตัวเอง อาจจะเป็นเครื่องปั่นไฟที่ต้องใช้น้ำมันทำให้ก่อเกิดมลภาวะตามมา หรืออาจจะเป็นแผงโซลาร์เซลที่ยังราคาสูงอยู่ คำถามมีอยู่ว่าถ้าหมดจากวิธีเหล่านี้เราจะมีพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ได้อย่างไรในราคาถูก
มีอีกคำตอบจาก Le Vu Cuong สถาปนิก และอาจารย์รุ่นใหม่จาก Hanoi University of Business and Technology ให้ทางเลือกในการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าราคาถูกจากการประดิษฐ์ DIY จากของรอบตัวแสนง่ายให้กับชุมชนสลัมบนเรือที่แม่น้ำแดง ห่างเพียง 2 กิโลเมตรจากกรุงฮานอย เวียดนาม เริ่มต้นด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจากองค์กรณ์ต่าง ๆ เช่น Humanitarian Organizations, Plan International-Vietnam, Australian Aid และ Live & Learn โดย Cuong และเพื่อนร่วมงานของเขามองโจทย์คือชุมชนสลัมลอยน้ำเหล่านี้จะเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างไร ทั้งที่อยู่ห่างไกลจากสถานีจ่ายไฟฟ้า เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในที่โล่งมีความเร็วลม 0.39 เมตรต่อวินาที ทำให้เขาได้ทดลองสร้างกังหันลมจากกะละมังพลาสติก โครงโลหะจากขยะเหลือใช้ มอเตอร์ดัดแปลงจากเครื่องพรินท์เตอร์ที่พังแล้ว พลังไฟฟ้าที่ได้จะถูกเก็บลงในแบตเตอรีสำหรับจักรยานยนต์ใช้แล้ว ซึ่งวัสดุทั้งหมดนี้หาได้ทั่วไปในเวียดนาม ต้นทุนทั้งหมดประมาณ 1,485 บาท กังหันลมสามารถผลิตไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างภายในบ้านได้ น่าจะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของบ้านแต่ละหลังที่เสียค่าไฟฟ้าเดือนละ 300- 500 บาทต่อเดือนลงได้
ปัจจุบันเวียดนามผลิตไฟฟ้าจากพลังลมได้เพียง 140 เมกกะวัตต์ต่อปี และมีแผนจะผลิตให้สูงขึ้นถึง 6,000 เมกะวัตต์ต่อปีในปี 2030 เพราะมันเป็นพลังงานสะอาด เมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักจากถ่านหิน ปัญหาเรื่องงบประมาณจำกัดสามารถกลายเป็นอีกเงื่อนไขของความสร้างสรรค์ที่แม่น้ำแดงได้ ใครว่าของถูกและดี ไม่มีในโลก?
อ้างอิง: Facebook: Climater Reality, RESET, Vietnamnet, Global Citizen