‘พื้นบ้าน’ ราคาประหยัด เปลี่ยนพื้นสกปรกแหล่งโรคสารพัด เป็นพื้นสะอาดขัดมันในรวันดา

ในหลายๆ มุมของโลกปัจจุบัน บนผืนแผ่นดินที่ถูกแปะป้ายว่าโลกที่สาม มีคนจำนวนมากมายนับพันล้านชีวิตที่ยังดำรงชีวิตอยู่บน ‘พื้นดินฝุ่นๆ’ ภายในบ้าน เพราะพวกเขาขาดศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงพื้นบ้านที่ศิวิไลซ์กว่านั้นได้ แน่นอนว่าพื้นบ้านที่เป็นดินแบบเศษดินจริงๆ นั้นทำความสะอาดยากมากและเป็นที่กักเก็บเชื้อโรคชั้นดี จึงนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อจากพยาธิ และอันตรายจากการเป็นพาหะนำโรคอีกนับไม่ถ้วน

งานวิจัยสมัยใหม่พบว่า พื้นบ้านที่ถูกสุขลักษณะสามารถช่วยลดการเจ็บป่วยของเด็กเล็กจากโรคท้องร่วงได้ถึง 49% และช่วยลดการติดเชื้อพยาธิได้ถึง 78% แต่สำหรับคนยากไร้เช่นในประเทศรวันดาแล้ว แม้แต่พื้นบ้านก็ยังถือเป็นสิ่งหรูหราราคาเกินเอื้อม! ประชากรกว่า 80% ในประเทศนี้ยังคงอาศัยบนพื้นบ้านที่เป็นฝุ่นดิน

สถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาวะพื้นฐานนี้คือหัวข้อที่องค์กรเพื่อสังคม EarthEnable ให้ความสนใจเป็นอันดับหนึ่ง และเป้าหมายเดียวจากนี้ของพวกเขาก็คือการยกระดับคุณภาพชีวิต และสุขภาพในท้องถิ่นยากจนเหล่านี้ให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น เริ่มต้นจากการทดแทนพื้นบ้านที่เป็นดินสกปรกผิดหลักอนามัยด้วย ‘พื้นดินขัดมัน’ แบบใหม่ที่ผลิตได้จากวัตถุดิบในท้องถิ่น และเป็นนวัตกรรมมีราคาต่ำว่าพื้นคอนกรีตขัดมันทั่วไปถึง 75%

Gayatri Datar ในฐานะ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง EarthEnable กล่าวว่าทีมงานของเธอเริ่มต้นโครงการนี้จากงานวิจัยผลกระทบของสุขอนามัยในบ้านต่อร่างกายและจิตใจของผู้อยู่อาศัย ทำให้พบว่าพื้นบ้านที่เป็นดินฝุ่นนั้นส่งผลเชิงลบต่อผู้คนมากมายเพียงไร และเธอก็เชื่อมั่นว่าหากบ้านช่องเหล่านี้สามารถมีพื้นบ้านใหม่ที่เหมาะสม บรรดาเด็กเล็กในครอบครัวยากจนก็จะปลอดภัยจากโรคหอบหืด โรคท้องร่วง โรคพยาธิ ฯลฯ และมีพลานามัยที่สมบูรณ์ขึ้นได้อย่างชัดเจน

คนไทยเราอาจจะนึกภาพไม่ค่อยออกว่าพื้นดินขัดมันหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะเราคุ้นเคยกันแต่คอนกรีตขัดมันซะมากกว่า แต่สำหรับในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาแล้ว การใช้ดินขัดมันในงานก่อสร้าง (เรียกในภาษาอังกฤษว่า Earthen floors หรือ Adobe floors) เป็นเทคโนโลยีที่แพร่หลายมานานแล้ว โดยพื้นบ้านแบบนี้จะมีคุณสมบัติเบื้องต้น อันได้แก่ กันน้ำได้ดี ทนรอยขีดข่วน ทำความสะอาดง่าย และที่สำคัญคือเป็นวัสดุที่ผลิตได้ด้วยมือ ไม่ต้องอาศัยเครื่องจักร แค่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างเช่นดินเหนียว กรวด ทราย มาบดผสมกันจนละเอียดแล้วนำไปฉาบปูลงบนพื้นผิว จบด้วยการเคลือบด้วยน้ำมันชักเงา (drying oil) เป็นขั้นสุดท้าย จึงนับเป็นเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูงในโลกปัจจุบัน

ในช่วงสองปีเศษที่ผ่านมา EarthEnable สร้างพื้นบ้านใหม่ให้ชาวรวันดาไปแล้วกว่า 1,000 ครัวเรือน และธุรกิจของพวกเขาก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วไปพร้อมๆ กับการจ้างงานและฝึกงานคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น

“แน่นอนว่ามันมีความต้องการในตลาดที่เปิดกว้างมากสำหรับนวัตกรรมแบบนี้ เพียงแค่เราต้องทำให้คนยากจนเข้าถึงได้จริง นั่นคือราคาประหยัด จัดการง่าย ใช้งานสะดวก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศรวันดาเท่านั้นที่จะต้องการพื้นบ้านสะอาดๆ แบบนี้นะคะ ผู้คนอีกนับพันล้านในประเทศโลกที่สามทั้งหมดก็จะต้องการมันเช่นกัน” Gayatri กล่าวอย่างเชื่อมั่น

    

อ้างอิง: www.earthenable.org

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles