ในยุคที่ระบบเก่าๆ กำลังถูกท้าทายและทดสอบ ระบบการศึกษาเองก็หนีการถูกท้าทายนี้ไม่พ้น ซึ่งข้อเสียหนึ่งของการศึกษาในระบบโรงเรียนแบบเดิมนั้น คือไม่สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง ทำให้มีการสร้างโรงเรียนที่มีระบบการศึกษาทางเลือกตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะในแหล่งธุรกันดารที่ห่างไกลความเจริญ เพื่อกระจายการศึกษาไปยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น ศูนย์การศึกษา Eco Moyo แห่งประเทศเคนย่าแห่งนี้ ที่นอกจากจะมีระบบการศึกษาที่ดีแล้ว การออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้างของที่นี่ ยังช่วยเอื้ออำนวยให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภายในศูนย์การศึกษา Eco Moyo แห่งนี้จะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนพื้นที่ฟาร์มและส่วนโรงเรียนประถม โดยโรงเรียนประถมนี้จะการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ โดยจะมีการจัดบรรยากาศของสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เหมือนบ้าน ให้เสรีภาพแก่เด็ก กระตุ้นให้เด็กคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง ผ่านการซึมซับการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ทำให้อาคารเรียนที่นี่ไม่มีความเป็นทางการ แต่ดูสบายๆ คล้ายบ้าน หรือชุมชนที่เด็กๆ คุ้นเคย
The Scarcity and Creativity Studio ผู้ออกแบบโรงเรียน ได้เลือกวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น มาใช้ในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น หินในส่วนของผนังที่ฉาบผิวด้วยดิน ไม้ในส่วนของโครงหลังคา ตัวอาคารมีการออกแบบให้การมารระบายอากาศได้ดี ทำให้ไม่ต้องปรับอากาศ แสงสว่างจากภายนอกสามารถเข้ามาได้ นอกจากนี้ยังมีระบบกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในยามจำเป็น ตัวอาคารยังมีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ ช่วยสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจต่อผู้พบเห็น ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโรงเรียรรูปแบบใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้เรียน มองผู้เรียนเป็นคนที่มีความรู้สึก ต่างกับโรงเรียนระบบเก่าๆ ที่มองผู้เรียนเหมือนเป็นเครื่องจักรที่ไม่มีความรู้สึกและต้องทำทุกอย่างตามที่ถูกโปรแกรมไว้