Ecoalf แบรนด์นักปฏิวัติแห่งปี …ฮีโร่ตัวจริงของอีโค่แฟชั่น

ใครรู้บ้างว่าในแต่ละปีพวกเรานำขยะพลาสติกจากการอุปโภคในชีวิตประจำวันไป ‘ลอยทิ้ง’ ในทะเลกันมากมายมหาศาลแค่ไหน? รัฐบาลไหนๆ ก็คงไม่เอาตัวเลขแบบนี้มาพีอาร์กับประชาชนเป็นแน่ แต่ถ้าเราบอกว่าตัวเลขนั้นคือประมาณ ‘แปดล้านตัน’ ต่อปีล่ะ …คุณขนลุกไหม? และในขณะที่เราเพิ่มขยะพลาสติกในมหาสมุทรกันปีละแปดล้านตันนี้ พวกเราก็ได้โยนเสื้อผ้าที่เก่าบ้างไม่เก่าบ้างทิ้งฝังกลบลงดินกันอีกเฉลี่ยปีละ ‘สิบสองล้านตัน’ …เป็นไงล่ะ?

แน่นอนว่าตัวเลขระดับที่กล่าวมานี้สร้างคราบน้ำตาให้กับระบบนิเวศของโลกมิใช่น้อย เริ่มจากขยะพลาสติกที่เปลี่ยนสภาวะทางเคมีในน้ำทะเล ทำให้ระบบนิเวศใต้ทะเลเป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์ เช่นเดียวกับที่บรรดาเสื้อผ้าเน่าๆ ในดินก็กำลังคายสารเคมีที่เป็นพิษกลับคืนสู่อากาศ สู่ดิน และสู่น้ำที่สุดท้ายเราก็ต้องนำมาบริโภคหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน

คำถามคือเราจะยอมรับชะตากรรมนี้ หรือจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างกับมันดี ?

น่าดีใจว่าแบรนด์แฟชั่นแบรนด์หนึ่งจากประเทศสเปนบอกว่า “เราสามารถจะทำบางอย่างเพื่อทุเลาความบ้าคลั่งนี้ได้” พวกเขาคือ Ecoalf ธุรกิจแฟชั่นเลือดใหม่ที่มาพร้อมกับแนวคิดรักษ์โลก โดยพวกเขายินดีที่จะนำขยะพลาสติกในมหาสมุทรกลับมาแปลงร่างใหม่ให้เป็นสิ่งทอ และผลิตเป็นสินค้าแฟชั่นสวยๆ ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ไม่น่าแปลกใจว่าโปรเจ็กต์ Upcycling the Oceans (UTO) ของพวกเขาจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Beazley Designs of the Year สดๆ ร้อนๆ เมื่อปีที่ผ่านมา

‘Because there is no planet B’ คือสโลแกนเท่ๆ ของแบรนด์ Ecoalf   ที่ฮาเวียร์ โกเยเนเซ่ (Javier Goyeneche) ประธานผู้ก่อตั้งบริษัท ประกาศชัดเจนว่า เป้าหมายในการทำธุรกิจแฟชั่นครั้งนี้ของเขาคือการสร้าง ‘ยุคสมัยใหม่’ ให้สินค้ารีไซเคิลสามารถเชิดหน้าชูตา มีคุณภาพ มีความงาม และมีฟังก์ชั่นที่เจ๋งไม่น้อยไปกว่าสินค้าแฟชั่นธรรมดาทั่วไป (ที่ไม่ใช่ของรีไซเคิล)   ซึ่งถ้าดูจากผลงานแต่ละคอลเล็กชั่นที่ Ecoalf เปิดตัวออกมาแล้ว ดูเหมือนพวกเขาจะทำได้อย่างที่พูดจริงๆ ด้วยสิ

แล้วโปรเจ็กท์ UTO นี้ทำงานอย่างไร? ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าโมเดลธุรกิจของ Ecoalf นับเป็นหนึ่งในกระบวนการคิด-ผลิต-ขายสินค้าแฟชั่นที่ตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้แบบเต็มๆ โดยขั้นแรกนั้นพวกเขาจะรับซื้อขยะพลาสติกจากชาวประมง หรือชาวบ้านท้องถิ่นที่เป็นเครือข่าย (ที่ตกลงกันว่าจะเก็บซากขยะจากใต้ทะเลและชายทะเลมาให้) ขั้นต่อมาพวกเขาก็จะนำขยะเหล่านั้นไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล ทำให้มันเกิดใหม่กลายเป็น ‘เม็ดพลาสติกโพลีเมอร์’ และในขั้นสุดท้ายเม็ดพลาสติกก็จะถูกนำไปขึ้นรูปใหม่และปั่นออกมาเป็นเส้นใยพร้อมสำหรับนำไปใช้ในกระบวนการผลิตเสื้อผ้า

Ecoalf เผยว่าพวกเขาเพิ่งเปิดรับพันธมิตรแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีหมุดหมายเชิงอนุรักษ์คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็น Swatch, Apple หรือ Goop (แบรนด์ไลฟ์สไตล์ของกวินเน็ธ พัลโทรว์) และเพิ่งได้ร่วมงานกับแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวสเปน Sybilla เพื่อออกแบบคอลเล็กชั่นเสื้อนอกสีสันสดใส ที่ผลิตขึ้นจากไนลอนรีไซเคิล 100% (จากแหอวนเก่า)

และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนปี 2017 ที่ผ่านมา Ecoalf ก็ได้จับมือกับ ททท. และบริษัทพีทีทีโกลบอลเคมิคอล (PTTGC) ของไทย เพื่อทำโปรเจ็กต์ Upcycling the Oceans Thailand ร่วมกันเป็นเวลาสามปี (พ.ศ.2560 – 2562) โดยงานนี้มีแผนที่จะเก็บกวาดขยะจากใต้ทะเลและชายฝั่งเกาะเสม็ดไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ต่อเนื่องด้วยเกาะภูเก็ต เกาะเต่า และเกาสมุยตามลำดับ  ผลงานชุดแรกนั้นเปิดตัวมาเป็นทีเซอร์แล้ว ณ งาน Bangkok Design Week 2018 (เป็นคอลเล็กชั่นกีฬาทางน้ำในชื่อ Thailand Collection)  เราคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะ UTO Thailand นั้นยังเหลือเวลาอีกเกือบ 2 ปี และธุรกิจหัวก้าวหน้าอย่าง Ecoalf นี้ก็คงไม่หยุดกับแค่ความฝันเล็กๆ เป็นแน่

อ้างอิง: ecoalf

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles