ญี่ปุ่นผลิตตะเกียบกินได้จากพืช ช่วยเกษตรกรเพาะปลูก ช่วยลดขยะจากตะเกียบ

‘ตะเกียบกินได้’ จากบริษัท Marushige Confectionery ชิ้นนี้ ไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่ออนุรักษ์เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่จุดประสงค์หลักของมันคือการอนุรักษ์ประเพณีทางเกษตรกรรมของญี่ปุ่น ฟังแล้วอาจงงๆ แต่อธิบายง่ายๆ ก็คือ ตะเกียบกินได้ของ Marushige ทำมาจาก Igusa หรือพืชจำพวกต้นกกต้นอ้อ พืชชนิดเดียวกันกับที่คนญี่ปุ่นนำเอาไปสานเป็นเสื่อตาตามิ แต่เพราะโลกเปลี่ยนไปสู่ยุคที่คนญี่ปุ่นอยากได้เฟอร์นิเจอร์ในบ้านที่ทันสมัยมากขึ้น ความต้องการเสื่อตาตามิจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง และนั่นก็ส่งผลให้เกษตรกรในแหล่งเพาะปลูก Igusa ที่อยู่ในเขตจังหวัดคุมาโมโตะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูก Igusa รวมทั้งรักษางานหัตถกรรมที่ใช้ Igusa เป็นวัสดุ นวัตกรรมตะเกียบกินได้ของ Marushige จึงได้เกิดขึ้น

แต่ก็อย่างที่หลายคนอาจสงสัย ตะเกียบที่ทำมาจากต้นกกต้นอ้อ แบบเดียวกับที่ใช้สานเสื่อตาตามิ จะอร่อยได้ยังไงกัน? แล้วคนเราจะไม่กินของหวานตบท้ายกันแล้วเหรอ ถึงคิดจะไปกินตะเกียบแทน? สื่อบางแห่งถึงกับวิจารณ์ว่า ตะเกียบกินได้ที่มีรสชาติเหมือนหญ้าแห้งน่าจะทำลายบรรยากาศของดินเนอร์ให้หมดลงเสียมากกว่า เพราะเป็นความจริงที่ว่าชาวญี่ปุ่นไม่เคยมองว่า Igusa เป็นอาหารที่กินได้เลย ดังนั้นการบอกว่าตะเกียบกินได้นี้ทำมาจาก Igusa จึงเหมือนบอกว่าให้คุณกินตะเกียบรสเสื่อตาตามิ!

นี่น่าจะเป็นประเด็นที่ทาง Marushige ต้องนำไปขบคิดเพื่อแก้ไข แต่อย่างน้อย เราก็ชื่นชมในความตั้งใจดีๆ ที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมของญี่ปุ่นและยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เราเองก็ยินดีช่วยโลก แต่ก็นะ อย่าให้ถึงกับว่าต้องหักตะเกียบรสหญ้าแห้งกินหลังจบมื้ออาหารเลย ขอให้ตะเกียบนั้นนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (non-disposable) หรือไม่ก็ย่อยสลายได้โดยง่ายก็พอแล้ว

 

อ้างอิง: soranews24.com, www.eater.com

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles