คุยกับนักออกแบบ ‘เอก ทองประเสริฐ’ ไทยอย่างไร..เรียกไทยไม่ฉาบฉวย

นึกถึงผ้าไทย หลายคนนึกถึงชุดออกงานคุณแม่คุณย่า แล้วถ้าพูดถึงงานแสดงภูมิปัญญาผ้าไทยที่จัดกันบ่อยๆ ล่ะ คุณเคยเห็นคนรุ่นใหม่ยืนมุงแย่งซื้อผ้าไทยกันบ้างไหม? แล้วถ้าวันหนึ่ง หากหมดยุคคุณแม่คุณย่าไป ใครจะเป็นคนซื้อผ้าไทย และวิถีชุมชนทอผ้าไทยจะอยู่ต่อไปอย่างไร เรานั่งคุยกับ เอก ทองประเสริฐ ดีไซน์เนอร์เจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น รางวัลชนะเลิศ Fashion Collection of the year, International Talent Support ประเทศอิตาลี และ Fashion Weekend Brussels ประเทศเบลเยี่ยม กับการนำผ้าไทยมาใช้ในงานออกแบบเพื่อให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ได้จริง รวมถึงมุมมองต่อการพัฒนาศักยภาพชุมชนทอผ้าไทย

Q: อะไรทำให้คุณเลือกหยิบผ้าไทยมาใช้งานออกแบบของตัวเอง

A: หนึ่งคือเอกเป็นคนชอบสะสมผ้า เจอผ้าดีก็จะซื้อเก็บมา เราเดินแฟร์อย่างพวกงานโอท็อปบ้าง งานขายผ้าพื้นเมืองบ้าง แต่ปกติจะเดินดูและเดินพัก เพราะเราไม่รู้สึกถึงคอนเน็กชั่นบางอย่างที่ผ้าเหล่านั้นมีกับเรา และเอกเองก็ไม่ได้เกิดต่างจังหวัดเป็นคนกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็กๆ ฉะนั้นความสัมพันธ์กับผ้าพื้นถิ่นที่หลายๆ คนซึ่งเกิดต่างจังหวัดอาจจะมีจากครอบครัวแต่เราไม่มี ฉะนั้นมันเลยค่อนข้างห่างไกล แต่มีแฟร์ล่าสุดที่เราเจอผ้าไหมแต้มหมี่ของหัวฝ้ายแล้วเรารู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่มันพูดภาษาใหม่ เป็นภาษาที่เราเริ่มอยากจับมาใช้ นี่คือจุดเริ่มของโปรเจ็กต์ที่ทำที่ มศว.

Q: จำความรู้สึกของการเจอผ้าตัวนี้ได้ไหม ความพิเศษของมันคืออะไรถึงดึงดูดเราในฐานะดีไซเนอร์ได้

A: จริงๆ เราเห็นผ้าตัวนี้จากโปรเจ็กต์ของ SACICT – ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)มาก่อน ซึ่งตอนนั้นเราก็ทำโปรเจ็กต์ร่วมกับ SACICT ด้วยแต่เราใช้ผ้าฝ้าย พอเราเห็นผ้าไหมตัวนี้เราก็เอ๊ะ นี่ผ้าไหมไทยเหรอ เราไม่เคยเห็นโมทีฟนี้มาก่อนแต่เราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เรารู้แต่ว่านี่คือ criteria ของการทำงานของศักดิ์สิทธ์อยู่แล้ว จนวันหนึ่งในช่วงที่เรากำลังทำสไตลิ่งงานหนึ่งอยู่ มันทำให้เราต้องไปตามหาเครื่องจักรสานที่งานโอท็อป เราเดินผ่านร้านร้านหนึ่งก็เจอผ้าตัวเดียวกับที่เราเคยเห็น เราถึงเพิ่งเรียนรู้ว่าผ้าไหมตัวนี้เขาพัฒนาขึ้นมาจากมัดหมี่ มันเป็นกระบวนการเดียวกันนั่นละ แต่ด้วย process ที่เร็วขึ้น เนื่องจากเมื่อพูดถึงมัดหมี่มันคือความอุตสาหะของการมัดทีละสีแล้วย้อม มัดหมี่จึงแพงมาก ราคาต่อผืนอาจจะขึ้นถึงแสนก็ได้ แต่การที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าไปจับงานของคนรุ่นเก่ามันก็เกิดคอนเน็กชั่นใหม่ ซึ่งสิ่งที่เราเรียนรู้มาตลอดจะพบว่า ความมีกรอบของคนพื้นถิ่นจะสูงมาก เพราะจะมาให้ฉันทำวิธีอื่นฉันทำไม่ได้หรอก จนพอคนรุ่นใหม่เข้าไปปรับ เฮ้ย ทำไมต้องมัดหมี่เสียเวลา ฉันแต้มลงไปเลยค่อยเอาไปห่อ ซึ่งความที่มันเริ่มก้าวกระโดดจากจุดที่ละเอียดมากๆมาสู่อะไรที่กราฟฟิคอลมากขึ้นผ่อนคลายมากขึ้น มันก็ทำให้ความรู้สึกของความห่างไกลหรือจับต้องได้ยากมันลดลง อย่างปกติเราก็อาจจะนึก เอ๊ะ มัดหมี่ ฉันจะใส่กับอะไรล่ะ ไม่รู้จะใส่กับอะไรดี แต่พอคนรุ่นใหม่เข้ามาปรับวิธีการและลุคของมันให้ใส่ง่ายขึ้น สบายมากขึ้น มีการ combination สีที่น่าสนใจขึ้น มันก็เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น

Q: คุณคิดว่าความยากของผ้าไทยในการนำมาใช้กับงานออกแบบคืออะไร

A: หนึ่งคือผ้าไทยไม่เคยเปลี่ยนระบบการผลิต นั่นหมายความว่าอย่างไหมเอง พอคุณสาวไหมขึ้นมาจากรังไหมปั๊บ คุณจะใช้ไหมที่ structure ของมันจะมีความเป็น natural เลย คือไม่มีการทวิสต์ของเส้นใยของผ้า ฉะนั้นผ้าเลยไม่มีความยืดหยุ่น ผ้าจะแข็งมากๆ เพราะมันคือ natural ดึงออกมายังไงก็เอามารวมเป็นเส้นใหญ่ๆ แล้วเอาไปทอ คือผ้าในโรงงานอุตสาหกรรมเนี่ย เวลาที่เส้นใยมันมีการทวิสต์เกิดเป็นเกลียวเล็กๆ เวลาไปทอปั๊บ มันจะมีความยืดหยุ่นเกิดขึ้นเพราะมีแรงฟิสิกซ์เกิดขึ้นข้างใน มันจะเหมาะกับการใช้งาน เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าเส้นใย..หนึ่งเลยเวลาที่มันมีการทวิสต์ในตัวจะทำให้มีความคงทน เพราะเวลาที่มันยืดออกแล้วเด้งกลับมันมีการกระจายแรงออกมา ซึ่งไหมเนี่ย ถ้ามันขาดแล้วคือขาดเลยเพราะไหมเส้นหนึ่งมีความอ่อนแอสูงมาก ซึ่งเวลาที่คุณรีดกาวเข้าไปปั๊บก็หมายความถึงผ้าจะแข็งขึ้นไปอีกสเต็ป ไม่มีความพลิ้วไหว และด้วยการที่ทอมือตลอดเวลา (ถ้าไม่ใช่จิม  ทอมป์สัน) ซึ่งการทอด้วยเครื่องแบบทอมือนั้น แรงกระแทกบางอย่างหรือความ smooth ของเส้นไหมจะไม่มี เพราะว่าทุกอย่างคือการสาวมือทั้งหมด มันก็จะมีตุ่มบ้างอะไรบ้าง บางคนก็รับได้ บางคนก็รับไม่ได้ การทำงานส่งต่างประเทศ ถ้ามีดีเทลแบบนี้โผล่มา เขาก็อาจจะไม่เข้าใจว่านี่คือผลจากการทอมือ

อุปสรรคของการใช้ผ้าไทยในงานออกแบบคือโครงสร้างของผ้าที่ไม่เปลี่ยนเลยตั้งแต่สิบหรือร้อยปี ผ้าก็จะแข็งของมันแบบนี้ หรือถ้าเป็นผ้าฝ้ายก็จะหนาๆ ไม่มีการ cross กันระหว่าง innovative technology เข้ากับ craftsmanship เพราะว่าความเข้าใจของคนทอผ้าในพื้นถิ่นมันก้ำกึ่งระหว่างการทำเพราะรอช่วงการเพาะปลูก ฉะนั้นเขาไม่ได้สนใจว่าเขาต้องทำเป็นอุตสากรรมกรรมจริงจัง แต่อย่างประเทศที่ทอผ้าเป็นงานหลักๆ พวกโรงงานผลิตก็จะไปเอาเส้นใยจากที่หนึ่งมา และคิดต่อว่าเขาจะ maximize ยังไงให้ capacity สูงสุด  ตัวไหมเองเนื่องจากมันเป็น luxury fiber ที่มีประวัติเป็นพันปี ฉะนั้นเขาต้องทำ maximize capacity ของมันให้มากที่สุด คือเปลี่ยนเป็นผ้ายืดหรือผ้าตัดสูทก็ได้โดยการไปคอมบายกับเส้นใยอื่น

ไหมบ้านเราเองจะเป็นไหมร้อยเปอร์เซนต์ หลังๆ อาจเริ่มมีผสมฝ้ายมาบ้าง แต่ไหมต่างประเทศจะมีไหมผสมวูล ผสมคอตต้อน ผสมโพลี ทำให้ควอลิตี้ในไหมของเขาเองมีความวาไรตี้เหมาะกับโอกาสแตกต่างกัน ส่วนข้อด้อยของไหมไทยคือ เรายังมีความ conservative อยู่ ทำให้กระจุกอยู่กับลูกค้ากลุ่มเดียวซึ่งเป็นกลุ่มคนมีอายุแล้ว ถามว่าวันหนึ่งถ้าคนกลุ่มนี้หายไปไหมจะหายไปหมดด้วยหรือเปล่า ในเมื่อมันไม่มีคอนเน็กชั่นที่ต่อเนื่องกับคนรุ่นใหม่และรุ่นกลาง

Q: แหล่งผ้าไทยที่นำมาใช้ ปัจจุบันมาจากที่ไหนบ้าง

A: มีสองที่ครับ ถ้าไหมจะเป็นจากขอนแก่น ส่วนฝ้ายจะมาจากสกลนครซึ่งเป็นคราม จริงๆ เราเริ่มจากครามก่อนเนื่องจากว่ามีอีกคอลเล็กชั่นที่พูดเกี่ยวกับ ethnic เกี่ยวกับม้ง ซึ่งม้งก็มีการใช้ครามในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยที่ครามจะเป็นการ combine ระหว่างครามที่ได้มาจากเซียงไฮ้และครามจากแม่ฑีตาที่มาจากสกลนคร แต่ปัญหาของผ้าครามคือเป็นผ้าฝ้ายที่มีราคาสูง ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับผ้าไทยในปัจจุบันคือ ราคาสูงเมื่อเทียบกับฐานเงินเดือนคนปกติ  มันก็เลยยิ่งมีช่องว่างเกิดขึ้นทั้งรูปลักษณ์และราคา

Q: ในฐานะนักออกแบบ คิดว่าที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ช่วยพัฒนาฝีมือช่างไทยอย่างไรบ้าง

A: คิดว่ายังนะครับ เพราะจริงๆ แล้วถ้าพูดถึงคำว่า ‘พัฒนา’ ก็ต้องพัฒนาไปจนถึงต้นน้ำ แต่ตอนนี้จริงๆ เราอยู่กลางน้ำเนื่องจากพอมี material มาเราก็ไปเลือกสิ่งที่ใช่สำหรับเรามาใช้ ซึ่งมันก็น่าคิดว่า..ทำไมจากจำนวนหลายร้อยคูหาในงานโอท็อป แต่อินสปายเราได้จริงๆ แค่บูธเดียว ขณะที่บูธอื่นไม่ได้สื่อสารกับเราเลย อาจเพราะคาแรคเตอร์ของบูธอื่นๆ ยังมีบางอย่างที่ดูแสนไกลกับความต้องการของลูกค้า คือเรามองว่าเราเป็นลูกค้าคนหนึ่งที่เราก็แต่งตัวประมาณแบบที่เป็นนี่ละ ซึ่งถามว่า ถ้าไม่มีแคมเปญอะไรมาบังคับให้ใช้ผ้าไทยจะมีประชากรกี่คนที่จะลุกขึ้นมาใส่ผ้าไทย

ด้วยความที่เราเป็นคนชอบศึกษาในอารยธรรมและประวัติศาสตร์ เรามองว่าอารยธรรมประเภทที่ไม่ได้ซับซ้อนมาก เช่น แอฟริกันหรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่เขายังทอผ้าด้วยความเป็นรูปทรงเรขาคณิตหรือเป็นลายทางบ้าง มันมีความก้ำกึ่งของความเป็นโมเดิร์นอยู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่วัฒนธรรมมันคอมเพล็กซ์มากๆ ก็จะเริ่มมี motif มี complicity ของแพทเทิร์น และไอ้ความ complicity ของแพทเทิร์นนี้มันก็ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมบางอย่างที่คอนทราสต์กับ modern culture ที่เหมือนว่าทุกคนยึดครองถือครองอยู่

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ สื่อทุกอย่างมัน effect จาก westernize มาก และยิ่งคนไทยมีธรรมชาติของความไม่อยากเป็นแกะดำ พอหลายคนพูดประเด็นหนึ่ง ฉันก็ต้องพูด เพราะถ้าไม่พูดเดี๋ยวจะเอาท์ เหล่านี้แสดงชัดเจนว่าสังคมเรายังไม่พัฒนาถึง individualism เรายังอยู่กลางๆ เอกมักจะเห็นสิ่งที่ป็อปอัพขึ้นมาเป็นช่วงๆ อย่างช่วงหนึ่งมีคนใส่ชุดไทยขึ้นรถไฟฟ้า แต่มันก็จะป็อปอยู่แค่หนึ่งเดือนเท่านั้นละแล้วห็หายไป เอกรู้สึกว่ามันฉาบฉวยมาก หรือแม้แต่การที่คุณจะบังคับให้คนใส่ผ้าไทย เช่น ให้นางเอกแนวหน้าลุกขึ้นมาใส่ผ้าไทยทั้งๆ ที่ตัวตนของเขาโดยปกติก็ไม่ได้เป็นคนที่เข้าใจว่าทำไมฉันต้องใส่ผ้าไทย มันเหมือนแค่การสร้างฉาก ซึ่งที่ผ่านมาเอกมองว่ามีนักออกแบบรุ่นพี่อยู่คนเดียวที่เข้าไปทำถึงขั้นของการพัฒนาฝีมือไทยได้คือคุณต่าย – ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ที่มีการเข้าไปพัฒนาถึงระดับต้นน้ำ

Q: คุณคิดว่าอะไรคือปัจจัยที่อาจทำให้การส่งต่อในศิลปวัฒนธรรมงานฝีมือของชุมชนท้องถิ่นอาจต้องหยุดชะงัก

A: วัฒนธรรมของชุมชนหัตถกรรมในพื้นที่บ้านเรา perception ของพวกเขาอยู่ในกรอบมาก ขณะที่ลองสังเกตดูผ้าแอฟริกันสิ อยู่ดีๆ ก็เอาไอโฟนเข้ามาเป็นโมทีฟ  ซึ่งน่าสนใจมาก หรืออยู่ดีๆ เอาพัดลมเข้ามา คือไอ้โมทีฟพวกนี้มันลิงค์เข้ากับ perception ของคนรุ่นใหม่ได้ง่าย มันเหมือนพูดเรื่องเดียวกัน แต่พอหันกลับมามองงานลายผ้าของไทยเรา คนรุ่นใหม่เขาไม่เข้าใจหรอกว่าไอ้สามเหลี่ยมที่ต่อๆ กันนั้นมันคือการ represent ถึงทิวทัศน์ของลำปางหรือคันไถนา มันถือว่าเป็นภาษาผ้าที่ตายไปแล้วและจะถูก reserve ไว้ตรงนั้น

ทุกวันนี้วัฒนธรรมพื้นถิ่นจะเริ่มตายไปซึ่งเอกเสียดายนะ เพราะวัฒนธรรมเหล่านี้อยู่คู่กัมนุษย์มาหลายพันปี จนอยู่ดีๆ capitalism เข้ามาในช่วงไม่กี่สิบปีนี้ ทุกอย่างมัน twist และทุกคนก็เริ่มพูดเหมือนกัน กินสตาร์บัคส์เหมือนกัน เล่นไอจีเหมือนกัน ซึ่งก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย มันมีความเท่าเทียมแต่มันก็น่าเบื่อ โลกไม่ได้สวยงามอีกต่อไป

Q: ในฐานะนักออกแบบที่เคยมีโอกาสลงไปทำโปรเจ็กต์ร่วมกับคนในพื้นที่มาบ้าง อยากให้คุณพูดถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์

A: เรามองว่าอย่างงานแฟร์แสดงสินค้าไทยทั้งหลายก็เริ่มมีคนรุ่นใหม่เข้าไป develop และมันน่าสนใจนะ เพราะคนรุ่นเก่าเองมี know how ในขณะที่คนรุ่นใหม่มี perception คราวนี้เอกคิดว่ามันต้องพัฒนาตลาดเพิ่มเพื่อรองรับจุดที่คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาพัฒนาตรงนี้ ลองนึกถึงช่องว่างที่เกิดขึ้นก่อนช่วงที่พระราชินีจะลงไปทำศูนย์ศิลปาชีพ มันมีช่องว่างว่าทุกคนเริ่มที่จะละทิ้งศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองหลวง คล้ายกับไม่ได้เห็นว่าศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นมีค่าอีกต่อไป ซึ่งปัจจุบัน เอกมองว่าช่องว่างเหล่านั้นเล็กลงแล้ว แต่ปัญหาคือถึงคนรุ่นใหม่เข้าไปทำแต่ไม่มีการตลาดเข้าไป คนรุ่นใหม่ใหม่ก็ survive ไม่ได้ มันก็จะเริ่มขาดช่วงอีกครั้ง ฉะนั้นสิ่งที่น่าคิดคือไหนๆ รัฐบาลเองก็ผลักดันโปรเจ็กต์มาค่อนข้างเยอะ แต่ว่าจะทำยังไงละให้คนรู้สึกเกิดคอนเน็กชั่นแบบอินไซด์จริงๆ ไม่ใช่แค่เปลือกข้างนอกที่ฉาบมาแค่ให้ฉันถ่ายไอจีไว้โพสต์เพื่อเป็นเทรนด์  ความท้าทายมันอยู่ตรงนี้และค่อนข้างยาก เพราะว่าเราถูกหล่อหลอมด้วยความเป็น capitalism สูงมากเหมือนกันว่า ฉันต้องเท่และต้องเป็น someone ความอยากไขว่คว้าและสเตตัสบางอย่างในสังคมของคนเราทุกวันนี้มันเยอะจนน่ากลัว

Q: คุณคิดว่าแฟชั่นดีไซน์เนอร์มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้ไหม อย่างไร

A: มันไม่ง่ายแต่มันต้องมีจุดเริ่ม เอกมองว่าดีไซน์เนอร์ทุกสายอาชีพมีส่วนที่ต้องทำงานร่วมกัน เพราะถ้าพูดถึงอัตลักษณ์ในความเป็นไทย ตั้งแต่เอกเรียนสถาปัตย์ มันมีคำถามที่เกิดมาตั้งนานแล้วว่า อะไรคืออัตลักษณ์ของความเป็นไทยร่วมสมัยในงานดีไซน์ ทั้งสถาปัตย์ หนัง เพลง แฟชั่น กราฟิก อินทีเรียร์ โพรดักท์ ฯลฯ จุดนี้เป็นจุดสำคัญเพราะว่ายิ่งเราแตกออกไปเท่าไหร่ ความแข็งแรงของแต่ละ section จะน้อยลง เหมือนอย่างไม้ขีดแต่ละก้านที่มันต้องมารวมกัน ไฟถึงจะลุกโชน  เวลาที่เราพูดถึงสแกนดิเนเวียน คุณจะเห็นภาพชัดทันทีว่ามันคือมินิมอล เวลาพูดถึง Japanese asthetic เราเข้าใจว่าคำว่า ‘วาบิซาบิ’ ว่าคืออะไร แต่พอพูดถึงความเป็นไทย เอ๊ะ! ทำไมเรานึกถึงภาพความเก่าแก่คร่ำครึ ไทยดูเป็น exotic เสมอ คือเมื่อไหร่ที่ต่างประเทศนึกอยากทำสปา เขาจะหยิบ exotic ในแบบไทยไปทำสปาด้วยการซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าไปตกแต่งให้ exotic แบบไทย และเวลาที่คนพูดถึงความเป็นไทยปั๊บ สปาและซอยคาวบอยจะมาทันที

เช่นนั้นแล้ว อะไรคือความงามที่แท้จริงของไทยล่ะ ? ซึ่งอันนี้เป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยหาคำตอบ เพราะว่าถ้าไม่ช่วยหาคำตอบ ความมืดมนจะมีไปเรื่อยๆ ฉะนั้นควรจะต้องมีกระบวนการบางอย่างเกิดขึ้นได้แล้ว เช่น หนังพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ พูดถึงความเป็นไทยในเชิงของความช้า ความไร้เดียงสาของชนบท อะจบแล้ว เขาพูดไว้ตรงนี้นะ ..ในขณะที่คุณพิเชษฐ์ กลั่นชื่น เอาโขนเข้ามาทำใหม่ โดยที่พี่ด้วง – ดวงฤทธิ์ บุญนาค ทำงานสถาปัตย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเราก็ยังรู้สึกถึงความเป็น western อยู่ คือแต่ละก้อนของตัวอย่างเหล่านี้มันมี fragment อยู่ เมื่อไหร่ก็ตามที่รวมกันได้เราอาจจะต้องพยายาม gather เพื่อสร้างภาษาออกมาให้ได้ แล้วใช้ภาษาตัวนี้ละสื่อสารออกไป อธิบายง่ายๆ ก็เหมือนกับเกาหลีที่ภาษาเคป็อปของฉันคือแบบนี้ ซึ่งปัจจุบัน fragment แต่ละตัวในบ้านเราก็ต่างคนต่างทำของตัวเองไป อันไหน success ก็ success แต่ถ้าไม่ก็เฟดหายไป ผมว่าอันนี้เป็นภาพรวมที่น่าสนใจนะ

เอกมองว่าวันนี้ คนรุ่นใหม่กับศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นมันขาดสะบั้นลงค่อนข้างนานแล้ว ถามว่าถ้าตั้งคำถามว่า..วันนี้เราจะไปดูหนังกับเราจะไปดูโขน ประโยคไหนที่เราจะได้ยินมากกว่า? ผิดกับต่างประเทศที่เขามักจะพูดว่า วันนี้ฉันจะไปดูบัลเล่ต์ ซึ่งมันดูเป็นธรรมชาติมากๆ หรือวันนี้ฉันจะไปดูคอนเทมแดนซ์ ก็อุ๊ย! น่าสนใจ แต่ถ้าบอกว่าวันนี้ฉันจะไปฟังเดี่ยวซออู้  จะมีสักกี่คนที่นึกแบบนี้ล่ะ หรือเรื่องของเบญจรงค์ก็น่าสนใจ ซึ่งถ้าถามถึงเบญจรงค์กับเรา เอกจะจำได้แค่ตอนคุณแม่คิดจะหาของขวัญไปให้เพื่อต่างชาติ ก็ต้องไปหาที่เจเจ ที่โอเรียลเต็ล แต่เราจะไม่มีวันเห็นเบญจรงค์ขายอยู่ในซุปเปอร์มาเก็ต ซึ่งก็แปลกว่าทำไมมันถูกหยิบไปวางอยู่ในที่ที่ดูไกลจากตัวเรา  และเอกว่านี่ละความท้าทาย

ไม่มีจุดเริ่มต้นก็ไม่มีปลายทาง ถ้าทุกฝ่ายไม่ว่าจะชุมชน คนรุ่นใหม่ นักออกแบบ และรัฐบาลต่างใช้ศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ด้วยความปรารถนาเดียวกันที่อยากจะพัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ อะไรที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้สามารถเกิดขึ้นจริงได้เสมอ.. แค่ต้องทำ

Photo: Pattrica Lipatapanlop

Pattrica Lipatapanlop

พัทริกา ลิปตพัลลภ (แพท) ทำงานอยู่ที่กองบก.นิตยสารเล่มหนึ่งแต่เธอไม่เคยเรียกตัวเองว่า ‘นักเขียน’ เธอเป็นแค่ ‘คนเล่าเรื่อง’ ที่สนุกกับการเดินทางลำบากเพราะไปสบายทีไรไม่เคยมีอะไรให้เขียน ดวงของเธอสมพงษ์มากกับกลุ่มคนทำงานศิลปะที่เธอเรียกว่า ‘ARTDERGROUND’ ซึ่งอาร์ตเด้อกราวด์คือพวก ‘คนมีของ’ ทำงานศิลปะจากเนื้อแท้ไม่ดัจริตเป็นอาหารจานเดียวในโลก เป็น ‘ของจริง’ ที่รอให้ใครสักคนไปขุดเจอซึ่งเธอดันชอบถือจอบด้วยสิ

See all articles