Mariejie Vogelzang นิยามตัวเองว่าเป็น Eating Designer เธอสนใจทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องอาหารมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ Design Academy Eindhoven ในเนเธอร์แลนด์ โดยมีผลงานชิ้นแรกคือ White Funeral Meal (1999) ในปี 2014 เธอก่อตั้งภาควิชาเกี่ยวกับอาหาร Man and Food Department ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และยังคงทำงานออกแบบที่พูดถึงประเด็นเรื่องอาหารมาจนถึงปัจจุบัน
ล่าสุดในงาน Dutch Design Week เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา Vogelzang ผู้มองว่าสถานการณ์ของอาหารโลกกำลัง ‘ป่วย’ ถึงขั้นขีดสุด “เพราะเรามีคนจำนวนมากที่มีอาหารมากมายให้เลือกกินไม่รู้จักหมด แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกไม่น้อยที่ไม่มีอาหารจะกิน” ก็ได้มารับหน้าที่คิวเรเตอร์ของ Embassy of Food เพื่อนำเสนองานออกแบบจากดีไซเนอร์หลากหลายที่ต้องการสื่อสารให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหาของอาหารที่เกิดจากการผลิตและบริโภคของเราในปัจจุบัน รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ชมเห็นคุณค่าของอาหารด้วย
ตัวอย่างชิ้นงานที่น่าสนใจใน Embassy of Food ได้แก่ Pink Chicken Project ที่ Studio Leolinnea จากลอนดอนเสนอให้เข้าไปดัดแปลง DNA ของไก่ ทำให้กระดูกไก่เป็นสีชมพูสด เพื่อที่หลังจากเอากระดูกไก่ที่เหลือจากการบริโภคไปถมดินแล้ว เราก็จะได้เห็นว่าทุกวันนี้เราบริโภคไก่กันมากแค่ไหนจากเนื้อดินที่เป็นสีชมพู ส่วนผลงานอีกชิ้นที่ว่ากันเรื่องการบริโภค แต่นำเสนอทางออกเพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากขยะเหลือใช้ก็คือ Totomoxtle โดยดีไซเนอร์เม็กซิกัน Fernando Laposse ที่นำเอาเปลือกข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ในเม็กซิโกมาทำเป็นไม้อัดที่มีลวดลายสวยงามต่างๆ กันไป
นอกจากนั้นยังมีชิ้นงานอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมสนุกกับมันด้วย เช่น Algae Bar โดยกลุ่มนักออกแบบด้านอาหารชาวดัตช์ Cateringa ที่ชวนให้ผู้ชมมานอนลงแล้วหายใจผ่านท่อส่งต่อไปยังสาหร่ายที่อยู่ในตู้ โดยการหายใจแต่ละครั้งก็คือการให้อาหารสาหร่ายนำไปใช้ในการเจริญเติบโต หลังจากนั้นก่อนออกจากบาร์ ผู้ชมก็จะได้รับสาหร่ายมาหนึ่งชอต นับเป็นการบริโภคอาหารที่คุณมีส่วนร่วมในการผลิตด้วย
ว่ากันตามตรง ผลงานส่วนมากใน Embassy of Food ออกจากเป็นเรื่องแฟนตาซีอยู่ไม่น้อย แต่เนื้อหาที่ถูกขยายความ รวมทั้งความสนุกในการเข้าไปมีส่วนร่วม ก็น่าจะทำให้ผู้ชมตระหนักได้ไม่น้อยถึงบทบาทที่พวกเขามีต่อสถานการณ์อาหารโลกอย่างที่ Vogelzang ตั้งเป้าไว้
อ้างอิง: dezeen