‘EnergyMOVE’ กับเตาชีวมวล..เตาแสนดีที่เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานสะอาด

ว่ากันว่า “ภายใต้จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น มีแรงดึงดูดพิเศษชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการรวมตัวของเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ในจังหวะและเวลาที่ดูจะเหมาะสมลงตัวอย่างน่าประหลาดแล้วแรงดึงดูดนั้นก็มักเชื่อมโยงคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน ชอบอะไรเหมือนๆ กัน และอยากทำบางสิ่งบางอย่างร่วมกันให้ได้แวะเวียนมาเจอะเจอกันเพื่อสร้างบางอย่างที่สวยงามและยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ”

และคงจะเป็นแรงดึงดูดเดียวกันนี้แหละที่นำพา สอง (สปัญญา ศรีสุข) แบ้งค์ (สพณ พิทักษ์) และ บูม (ชโลทร ปะทะโม) กลุ่มคนรุ่นใหม่ในนาม EnergyMOVE มาเจอะเจอกัน ซึ่งการรวมตัวกันของพวกเขาไม่ใช่เพียงเพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ โดยมีปลายทางคือการคืนชีพสิ่งไร้ค่าอย่างขยะให้กลายเป็นพลังงานดีๆ แก่ผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวเท่านั้น แต่เบื้องหลังการทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อ ‘คนอื่น’ ได้สร้างต้นกล้าที่แข็งแรงและพร้อมจะยืนหยัดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไปด้วยเช่นกัน

จากซ้ายไปขวา:  ชโลทร ปะทะโม (บูม), สปัญญา ศรีสุข (สอง), สพณ พิทักษ์ (แบ้งค์)

Q: ขอเริ่มจากแบคกราวนด์แต่ละคนก่อนแล้วกันว่าเรียนและทำงานอะไรมาก่อน ก่อนที่จะมารวมตัวกันเป็น EnergyMOVE?

A: ผมชื่อแบ้งค์ (สพณ พิทักษ์) ครับ จบวิศวะจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก่อนหน้าที่จะมาทำ EnergyMOVE ผมอยู่ในสายประกวดมาตลอด ทำโปรเจ็กต์ด้านนวัตกรรมให้กับคนชรา แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราอยากจะหาโปรเจ็กต์ประกวดที่ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้เงินแล้วกลับบ้าน แต่อยากจะหาอะไรที่ทำแล้วมีประโยชน์มากขึ้น ก็มาเจอมูลนิธิ iCare (www.icarethailand.com) เปิดรับสมัครเข้าร่วมในโครงการ ‘ไอเดียเปลี่ยนโลก iCARE Award 2014 Creative Intern Contest โค้ชน้องเปลี่ยนโลก’ พอดีก็เลยส่งพอร์ตเข้าไป

ส่วนสอง (สปัญญา ศรีสุข) จบจากวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกโฆษณา จบมาก็ทำงานโฆษณาแบบที่เรียนมา พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าเริ่มไม่ค่อยชอบโฆษณาแล้วเพราะมันมุ่งแต่ขายของเป็นหลัก เอาจริงๆ ส่วนตัวสองเองไม่ได้อินกับงานเพื่อสังคมขนาดนั้น แค่เรารู้สึกว่าเราอยากลองทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่โฆษณาบ้าง แล้วโปรเจ็กต์นี้ก็เข้ามาตอนที่สองกำลังสับสนพอดี เลยลองสมัครดู

ผมชื่อบูม (ชโลทร ปะทะโม) จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครับ เห็นโครงการของ iCARE แล้วสนใจก็เลยส่งพอร์ตเข้ามา

Q: ตอนที่สมัครเข้าร่วม ‘ไอเดียเปลี่ยนโลก iCARE Award 2014 Creative Intern Contest โค้ชน้องเปลี่ยนโลก’ แต่ละต้องคิดโครงการเข้าไปเสนอด้วยรึเปล่า?

A: ทาง iCare จะมีโจทย์มาให้สามโจทย์ โดยมีโค้ชสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือชูแคร์กับโครงการสนับสนุนการศึกษาในชุมชนแออัดกับมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งมี บริษัทชูใจ กะ กัลยาณมิตร เป็นโค้ช ทีมที่สองคือทีม WHYNOT ที่มี WHY NOT Social Enterprise เป็นโค้ชกับโครงการรณรงค์ขนส่งสาธารณะเพื่อคนทั้งมวล และทีมที่สามคือ EnergyMOVE กับโจทย์พัฒนา ‘เตาแสนดี’ เตาพลังงานชีวมวลให้กับ มานะ Energy มานี Power เครือข่ายพลังงานชุมชน 71 ชุมชนทั่วประเทศ จากการโค้ชของ CreativeMOVE: Social Innovation Agency ซึ่งก็คือพวกเรา โดยแต่ละทีมจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อไปลงมือทำแผนงานให้เป็นจริง

Q: EnergyMOVE เข้ามาแก้ปัญหาอะไร?

A: เราเล็งเห็นปัญหาที่เกษตรกรจำนวนมากมีขยะจากการทำการเกษตรและมักจะถูกทิ้งไว้อย่างสูญเปล่า แล้วส่วนใหญ่ยังไม่มีใครเห็นคุณค่าของมัน โรงแกลบบางที่ก็ให้แกลบฟรีด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ยังคงใช้เตาถ่านในการประกอบอาหารอยู่ แต่เตาประเภทนี้ไม่สะดวกและมีผลกระทบต่อตัวผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม เราเลยคิดอยากจะแปลงขยะเหล่านี้ให้เป็นพลังงานสะอาดด้วยเตาชีวมวล ซึ่งการทำงานหลักๆ ของเตาประเภทนี้คือการนำซากพืชและของเหลือใช้จากการทำการเกษตร อย่างเช่น เปลือกข้าว เปลือกถั่ว แกลบ ซังข้าวโพดมาเผาเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะให้เปลวไฟเหมือนกับก๊าซ LPG จะออกมาเหมือนเวลาเราใช้เตาแก๊สเลย แต่จะมีประสิทธิภาพมากกว่าเตาถ่าน เปลวไฟที่ได้จะมีความบริสุทธิ์ ไม่มีควัน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม คนใช้ก็ปลอดภัย แต่จุดด้อยของมันก็คือ การใช้งานที่ใช้ได้ไม่นาน ประมาณ 30 นาที และบางเตาก็ปรับไฟไม่ได้ ทำให้ใช้ไม่ค่อยสะดวก EnergyMOVE เลยอยากมาช่วยพัฒนาให้เตาชนิดนี้ใช้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในชุมชน และอยากให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบทได้มีนวัตกรรมที่ดีใช้และปลอดภัยมากขึ้น

Q: การทำงานของ EnergyMOVE เริ่มต้นจากอะไร?

A: ตอนแรกที่เข้ามาคือพวกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเตาชีวมวลคืออะไร ก็มาเริ่มด้วยด้วยการค้นหาข้อมูล ทำวิจัย ไปพบและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในด้านพลังงานและเรื่องการผลิตเตาชนิดนี้โดยเฉพาะ เริ่มสร้างโปรโตไทป์จากข้อมูลที่เราไปรีเสิร์ชกันมา จากนั้นจึงนำตัวอย่างไปทดลองใช้ ลงพื้นที่ไปในชุมชนต่างๆ ระหว่างทางก็จะมีพี่ๆ จาก CreativeMOVE มาช่วยไกด์ให้ โดยแต่ละคนในทีมจะแบ่งหน้าที่ชัดเจนเลย แบ้งค์เป็นวิศวกร บูมจะดูแลในด้านการออกแบบ ส่วนสองจะทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเตาชีวมวลให้คนทั่วไปรู้จัก

Q: แล้วเตาชีวมวลของ EnergyMOVE แตกต่างจากเตาชีวมวลของชาวบ้านอย่างไร เราเอาจุดด้อยของเขามาพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไร?

A: เราพัฒนาตั้งแต่รูปลักษณ์ให้มีหน้าตาเรียบง่าย ไปจนถึงฟังก์ชั่นที่สมควรจะมีก็ใส่เข้าไปอย่างเช่น สามารถปรับความแรงความอ่อนของไฟได้ ซึ่งแต่ก่อนเรื่องความแรงของไฟก็ต้องใช้พัดลม แต่เราไม่อยากใช้ไฟฟ้าเลย จึงเปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่แทน ซึ่งพอใส่ฟังก์ชั่นเข้าไปเยอะๆ ราคาก็จะสูงตาม ในทีมจึงตกลงกันว่า ถ้าอย่างนั้น เราก็ทำให้มันมีหลายรุ่นก็แล้วกัน ใครมีทุนที่จ่ายรุ่นไหนไหวก็ซื้อรุ่นนั้น แต่โดยรวมประสิทธิภาพจะคล้ายกันหมด แต่ความสะดวกอาจจะไม่เท่ากัน บางรุ่นใช้แบตเตอรี่ บางรุ่นเสียบปลั๊ก แล้วก็จะมีรุ่นที่เป็นชุด kit ซึ่งจะมีส่วนประกอบเป็นวงจรข้างใน พร้อมด้วยแผ่นพิมพ์เขียวที่มีแบบแปลนทั้งหมดของเตาที่ผู้ซื้อสามารถเอาไปให้โรงงานแถวบ้านผลิตให้ได้ซึ่งจะประหยัดกว่าการซื้อแบบสำเร็จ

เตาแสนดี

Q: จากที่ไม่รู้อะไรเลย องค์ความรู้ที่เราได้จากผู้เชี่ยวชาญมันช่วยเรื่องการทำงานในแง่ไหนบ้าง?

A: ช่วงรีเสิร์ซเราไปที่เดียวคือที่เขาค้อ เพชรบูรณ์ ที่นั่นจะมีคุณลุงท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องเตาชีวมวลมากๆ น่าจะคนแรกๆ ของไทยเลย ซึ่งสิ่งที่เราได้จากการไปคุยกับคุณลุงจะเป็นเรื่องของความรู้เชิงลึกที่คุณลุงได้จากการทดลอง เช่น เตาสูง 30 เซนติเมตร จะใช้ได้กี่นาที หรือถ้าเผากับแกลบแล้วจะเป็นอย่างไร เผากับซังข้าวโพดจะเป็นอย่างไร รวมถึงคำแนะนำว่าถ้าเราจะเริ่มพัฒนา ควรจะเริ่มแบบไหนดีกว่า ซึ่งมันทำให้เราย่อยข้อมูลได้เร็วขึ้นเยอะและเข้าใจระบบ รวมถึงประโยชน์ที่แท้จริงของเตาประเภทนี้

Q: นอกเหนือไปจากผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำแล้ว เราได้ความช่วยเหลือจากบุคคลหรือองค์กรไหนในการผลักดันให้โครงการนี้มันลุล่วงบ้างไหม?

A: ด้วยระยะเวลาในการทำงานที่ค่อนข้างสั้น เราคิดว่ามันไม่พอที่จะส่งต่อความรู้ออกไปให้มันไกลที่สุด ซึ่งนอกจากเราได้ส่งต่อเตาชีวมวลของพวกเราให้กับพี่ๆ ชาวบ้าน อย่างที่เชียงใหม่ เรานำไปมอบให้พี่โจน จันได และจังหวัดทางภาคใต้แล้ว เรามีโอกาสได้เจอกับพี่ๆ จาก มานะ Energy มานี Power ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านพลังงานทดแทนทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลม เพื่อให้พี่ๆ ช่วยเป็นตัวแทนที่จะส่งต่อความรู้ออกไป โดยเราส่งมอบเตาชีวมวลของ EnergyMOVE ให้กับทาง มานะ Energy มานี Power ที่เพื่อให้พี่เขาสามารถศึกษาเรียนรู้สิ่งที่เราประดิษฐ์ซึ่งน่าจะช่วยให้เขาพัฒนาต่อได้มากขึ้น

Q: จนถึงตอนนี้ เตาชีวมวลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นบ้างไหม?

A: ไม่เลยครับ เราไม่สามารถเปลี่ยนบริบทหรือวิถีชีวิตได้มากขนาดนั้น ยิ่งคนเมือง คนที่อยู่ในคอนโด ก็จะมีพื้นที่จำกัด สิ่งที่เราขอได้คือเราขอแค่หนึ่งหรือสองวันที่คุณออกมาทำข้างนอกบ้าง เพื่อช่วยลดพลังงาน เอาจริงๆ เตาชีวมวลก็เป็นแค่อีกทางเลือกหนึ่งถ้าคุณอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลก เราทำโครงการนี้ เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องเปลี่ยนไปเลยแค่ขอสักวันหนึ่งมาช่วยกันหน่อย

Q: หลังจากได้ทำงานนี้มันช่วยต่อยอดไปสู่งานอื่นๆ บ้างไหม?

A: (แบ้งค์) ในเชิงของการต่อยอด มันเป็นลักษณะของการต่อยอดในเชิงความคิดและการเรียนรู้มากกว่า ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราหันมาสนใจงานด้านสังคมมากขึ้น

A: (สอง) อย่างสองเองคือพอเรียนจบ ก็มีโอกาสได้ไปทำงานที่ Ma: D พอเราอยู่ที่นั่น จากที่ไม่ได้สนใจด้านสังคมอะไรมากมาย และมีความคิดว่าทำงานเพื่อสังคมจะอยู่ไม่ได้ เป็นความคิดที่ว่ามันคงเหมือนมูลนิธิที่ต้องทำฟรี พอมันมาเจอการทำงานของธุรกิจเพื่อสังคม ได้เจอคนเก่งๆ เพื่อนร่วมงานเก่งๆ ก็ประหลาดใจมากว่าจากประสบการณ์ตรงนั้น มันช่วยให้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน เราสามารถทำเตาขึ้นมาได้แล้ว ตัวสองเองไม่เคยได้ผลิตของหรือว่าพัฒนาโปรดักท์ขึ้นมาเองเลย แต่ว่าตอนนั้นก็ได้เห็นพัฒนาการ เห็นกระบวนการ จนเตาเสร็จสมบูรณ์ ก็รู้สึกว่าคนรุ่นใหม่แบบเรานี่แหละที่สามารถเป็นตัวกลางทำให้บางสิ่งมันเป็นไปได้ มันเป็นความรู้สึกที่ว่าเราได้กำลังใจ อินกับสังคมมากขึ้น

สปัญญา ศรีสุข (สอง)

Q: ระหว่างการทำงาน เจอปัญหามันเจออุปสรรคอะไรบ้าง แก้ไขอย่างไร?

A: (บูม) สำหรับในทีม EnergyMOVE คงจะเป็นเรื่องวิธีคิดที่แต่ละคนก็จะมีพื้นฐานความคิดมาคนละสาย อย่างแบงค์มาด้านวิศวะ สองก็สื่อสาร ผมก็ดีไซน์ ถึงแม้เป้าหมายเดียวกัน แต่กระบวนการคิดมันต่างกัน ก็จะมีข้อโต้แย้งในระหว่างการทำงาน แต่สิ่งที่ทำให้เราทำงานด้วยกันได้ก็คือทุกคนพร้อมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน นั่นคือสิ่งที่ดีมาก แล้วทุกคนที่มาโครงการนี้ก็เพื่อหาความรู้ใหม่ๆ จุดนี้เลยทำให้ข้อโต้แย้งหรือปัญหามันกลายเป็นเรื่องง่าย

A: (แบงค์) ต่อยกันก่อน แล้วค่อยทำงานต่อ (หัวเราะ)

Q: แล้วปัญหาจากภายนอกล่ะ เรารับมือกับมันอย่างไร?

A: (สอง) ก็จะมีปัญหาเรื่องของเวลา เพราะในระยะเวลา 3 เดือน กับทีมที่ตอนแรกไม่รู้จักเตาชีวมวล มันเป็นเวลาที่กระชั้นมากเลยนะ เพราะเราต้องแบ่งเวลามารีเสิร์ซ ต้องลงพื้นที่ ต้องไปหาเตาจริง แล้วเราก็ต้องพัฒนาโปรโตไทป์ขึ้นมาด้วย แน่นอนว่าโปรโตไทป์แรกนี่ห่วยแตกมาก คือจะเรียกว่าอะไรดีล่ะ

A: (บูม) ถังขยะก็แล้วกัน (หัวเราะ)

A: (สอง) มันเป็นความกดดัน แล้วคนก็ยังไม่เชื่อมั่นกับการใช้เตาชีวมวล เพราะเขายังยืดติดกับการใช้ชีวิตประจำวันที่ง่ายๆ สบายๆ กันอยู่ ไม่ได้มีเรื่องรักษ์โลก เรื่องช่วยชาวบ้านมันเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องงี่เง่า ไม่ได้สลักสำคัญ เอาตัวเองให้รอดก่อน ช่วยคนอื่นก่อนทำไม คือมันยากที่จะทำให้เขาเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นอยู่แล้วมาใช้ของใหม่

ชโลทร ปะทะโม (บูม)

A: (บูม) แต่มันก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ทุกที่ ตอนที่ผมลงไปใต้ ไปบอกกำนันว่าขอเรียกลูกบ้านมาหน่อยได้ไหม ผมจะมาสาธิตวิธีการใช้เตา พอผมไปถึงเจอลูกบ้านเต็มบ้านเลย 20-30 คน ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังมากขนาดนั้น มีพนักงานเทศบาล

อาจารย์ที่พร้อมสนับสนุนว่าถ้ามันดีจริงจะงบประมาณให้มาทำต่อ แล้วพี่ๆ ชาวบ้านก็ช่วยกันหาแกลบมาจุดสาธิต ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นแบบความร่วมมือจากหลายๆ ที่เหมือนกัน ทำให้เห็นว่าพอเราทำอะไรให้สังคมแล้ว สังคมก็ช่วยเรากลับ

Q: แต่ละคนได้เรียนรู้อะไรจากการทำโครงการนี้บ้าง?

A: (บูม) เอาจริงๆ ในวันแรกที่ผมมา CreativeMOVE จากตอนแรกที่ผมมั่นใจตัวเองนะว่าพอร์ตผมก็ดีนะ แต่ผมเห็นพอร์ตเพื่อนๆ ผมรู้สึกอายเลยว่าทำไมคนอื่นเขาทำเพื่อสังคมกันจัง ส่วนผมมีแต่พอร์ตงานดีไซน์อะไรไม่รู้บ้าๆ บอๆ รู้สึกเห็นแก่ตัว แต่พอจบโครงการนี้ ผมก็มีแรงบันดาลใจ มันเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมตัวเองไปเยอะ ซึ่งก็ทำให้เราสนใจและเริ่มทำโปรเจ็คต์เพื่อสังคมมาเรื่อยๆ เอาความรู้ด้านออกแบบไปช่วยด้านวัฒนธรรม ศาสนา สิ่งแวดล้อม ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรม

สพณ พิทักษ์ (แบ้งค์)

A: (แบงค์) ก่อนเข้าโครงการของ iCare อย่างที่เล่าว่าผมมาในสายประกวด แล้วตอนแรกที่ทำเพราะอยากได้เงินรางวัลอย่างเดียว จนมาครั้งที่งานประกวดมันมีเงื่อนไขว่าต้องเอาไปเทสกับคนจริงๆ ก่อนแล้วคุณถึงส่งไปประกวด ผมก็เอาไปเทส แล้วเห็นผู้สูงอายุอยากมาเล่นของเล่นเรามาก ก็เลยถามไปว่าทำไมถึงสนใจ เขาบอกว่าอยากจะกลับมาเดินเหมือนเดิม จากตรงนั้นมันพลิกเลยนะว่ามันมีค่ามากกว่าเงิน เราอยากได้ความรู้สึกแบบนั้นอีก เหมือนเสพติด ก็เลยโอเคเราอยากจะหาเส้นทางที่ทำแล้วก็ทุกคนจะได้ประโยชน์ แล้วเราเองก็เลี้ยงตัวเองได้ด้วย โครงการนี้ก็ทำให้มันได้คววามรู้สึกแบบนั้นอีกครั้ง

A: (สอง) จริงๆ สิ่งที่สองเปลี่ยนมากที่สุดน่าจะเป็นระบบความคิดที่พอจบโครงการแล้ว เรารู้ว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรออกไป มันมีผลกระทบต่อคนอื่น สังคม และสิ่งแวดล้อมหมด ทำให้หลังจากนั้น เวลาเราทำอะไร ก็จะคิดถึงคนอื่นเสมอ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปทำงาน SE (Social Enterprise) เต็มตัว แต่ก็ยังคิดถึงสังคมอยู่ตลอด และสองก็เชื่อในการทำงานร่วมกัน ซึ่งก็พยายามบอกทุกคนว่าถ้าเกิดเราตัวคนเดียว มันอาจจะทำไม่ได้หรือได้ไม่ดี แต่หากมันเป็นการร่วมแรงร่วมใจของคน แม้จะกลุ่มเล็กๆ มันเป็นไปได้เสมอ

Q: เท่าที่ทำงานมาจนถึงตอนนี้ คิดว่าการทำงานเพื่อสังคมยังขาดอะไรอยู่บ้างไหม?

A: คิดว่าด้านแบรนดิ้ง ซึ่งแบรนดิ้งมันเป็นการเสริมคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการที่แพงที่สุด ถ้าเกิดว่ามีความรู้ตรงนี้เราสามารถกลับไปช่วย สิ่งที่เห็นคือคนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมหรืองานสังคมอะไรก็แล้วแต่ มักจะขาดตรงนี้ ถ้าหากเราเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่เขาทำได้ มันจะช่วยได้มาก

Q: ถ้าเทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ความสุขในการทำงานของแต่ละคนมันเปลี่ยนไปไหม?

A: (แบงค์) ตอนนี้ผมทำ SE ด้านการท่องเที่ยวในชุมชน คือโครตเหนื่อย มีปัญหามากกว่าความสำเร็จ ต้องติดต่อกับหลายฝ่าย ทั้งชุมชนเอง องค์กร มีปัญหาการเมืองในชุมชนอะไรต่างๆ นานา แต่ความสุขมันจะเกิดขึ้นเมื่อแบบ เฮ้ย! วันนี้ที่นางเลิ้งมีงานสงกรานต์ เขาชวนเราไปทำ หรือวันนี้มีงานบวช เขาชวนเราไปร่วมงานด้วย มันมีความสุขที่เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แบงค์คิดมาตลอดว่าเราทำงานโดยที่ไม่คิดเรื่องเงินทองอะไรมากมาย ก็เลยสนุกกับงานที่ทำ คนรอบข้างก็เสียดายนะครับที่เราเรียนวิศวะมา แต่เราอยากเห็นอยากทำให้สังคมดีขึ้น

A: (สอง) ก็จริงๆ ส่วนตัวสอง ในอดีตเป็นคนไม่ค่อยชอบทำงานกับคนอื่น ชอบทำงานคนเดียว แล้วเรารู้สึกว่าเราทำได้ แต่พอมาเจอปัญหาสังคม ทำให้เรารู้เลยว่าเราแก้คนเดียวไม่ได้ ยิ่งมาเจอแบบเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยเหลือกันแบบนี้ แล้วทำออกมาได้ มันเป็นเรื่องเจ๋งกว่าที่เราทำคนเดียวเยอะเลย สองเริ่มเชื่อใจและไว้ใจที่จะทำงานกับคนอื่นมากขึ้น แล้วมันมีความสุขตอนนี้ที่เราได้แชร์สิ่งที่เรารู้ให้คนอื่น มันมีหลายครั้งที่มีหลายๆ คนเข้ามาบอกเขาชอบสเตตัสที่เราเอาไปแชร์ในเฟซบุ๊คนะ คือเรื่องที่สองเล่ามันจะเป็นเรื่องชุมชน แนวโลกสวย ยูนิคอร์น (หัวเราะ) ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่มีคนเข้าใจ แต่มันมีหลายคนเลยที่เดินเข้ามาบอก “เฮ้ย เราชอบนะที่เธอตั้งสเตตัสแบบนี้ เล่าให้เราฟังบ่อยๆ นะ เพราะเราไม่ค่อยได้เจออะไรแบบนี้” บางทีแค่นี้มันก็มีความสุขแล้ว

A: (บูม) สำหรับผม อดีตกับปัจจุบัน ผมยังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าถามเรื่องงาน ผมจบออกแบบมา แต่ไม่อยากเข้า 08.00 โมง เลิก 5 โมงเย็น 1 ทุ่ม ถึงห้อง ผมรู้สึกเสียดายเวลา ทำให้ที่ผ่านมาผมเลยเอาเวลาส่วนใหญ่ไปช่วยชาวบ้าน อยากส่งต่อความรู้เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ ทั้งเรื่องแบรนด์ การพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งความสุขมันก็อยู่ตรงนั้น ถึงแม้ตอนนี้มันจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็สุขดีครับ

Q: ถ้าอย่างนั้น ขอถามต่อเลยแล้วกันว่า แต่ละคนมองเห็นอะไรที่ยังเป็นปัญหาอยู่สังคม แล้วคิดว่าคนรุ่นใหม่อย่างเรา จะช่วยอะไรได้บ้าง?

A: (บูม) สิ่งที่คิดคือคนไทยเก่ง เด็กไทยก็เก่ง แต่พวกเขายังขาดโอกาส และยึดติดกับระบบบางอย่าง ผมคิดว่าเราน่าจะมีองค์กรด้านออกแบบที่เข้ามาดูแลบ้านเมืองแบบจริงๆ จังๆ เพราะประเทศไทยมันถึงจุดที่ควรจะต้องคิดก่อนทำได้แล้ว

A: (แบงค์) เรามีปัญหากับระบบ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยในบางเรื่องครับ

A: (สอง) เราเริ่มที่จะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่เราไม่โอเค ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนไหนก็ตามที่มาจับเรื่องสังคม มันยังไม่ลงลึกถึงปัญหาจริงๆ ถ้าถามว่าจะช่วยอย่างไร สองคิดว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสองเชื่อว่าสักวันหนึ่งมันจะดี แต่อาจจะดีในรุ่นลูก รุ่นหลานของเรา แต่ถ้าเราไม่เริ่มในวันนี้ มันก็จะไม่ดีเลย จริงๆ แล้วเรื่องสังคมไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว อย่างเรื่องยาเสพติด เราจะคิดว่าถ้าเราไม่ได้เล่นยา คือมันก็ไกลตัวเรามาก ทำไมต้องไปช่วยเหลือเขา ทำไมต้องไปยุ่งกับเขา ทำไมต้องปรับปรุงสลัม แต่จริงๆ แล้ว ทุกอย่างมันมีผลกระทบต่อเราเสมอ มันอาจจะไม่เกิดขึ้นกับคุณ แต่ถ้าวันหนึ่งคุณมีลูก แล้วลูกคุณเดินอยู่บนถนนแล้วอยู่ๆ มีคนติดยาเสพติดมาแทงลูกคุณล่ะ เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราหนีมันไม่ได้ คิดว่าเราต้องเราเริ่มอะไรได้แล้วในวันนี้ ค่อยๆ ทำไปเดี๋ยวสักวันมันก็จะเห็นเอง

อ้างอิง: เตาชีวมวล.com/page-2.html
ภาพ: Chisanucha Srinatra

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles