Ethnica แบรนด์กระเป๋าสไตล์โบฮีเมียน ตัวตนใหม่ที่ไปด้วยกันได้ของชนเผ่ากับชาวเมือง

เหล่าแฟชั่นนิสต้ารู้ดีว่าข้าวของเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า ตลอดจน accessorie อย่างกระเป๋าถือ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงตัวตนของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี เขาและเธอจึงเสาะหาของใช้ที่มีเอกลักษณ์เพื่อแสดงตัวตนที่แตกต่างและโดดเด่น

Ethnica คือแบรนด์กระเป๋าน้องใหม่ ในสไตล์โบโฮ (Bo Ho) หรือโบฮีเมียน (Bohemian) ที่เน้นวัสดุธรรมชาติและใช้ลวดลายของชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์ เดิมทีแฟชั่นสไตล์นี้จะอ้างอิงกับชนเผ่ายิปซี หรืออินเดียแดง แต่เพราะเป็นแบรนด์ของคนไทย เรื่องราวที่ถูกนำเสนอผ่านกระเป๋าของ Ethnica จึงนำเอกลักษณ์ของชนเผ่าในลุ่มน้ำโขงมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์

Ethnica เริ่มต้นขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผ้าที่ใช้ในการผลิตกระเป๋ามาจากภูมิปัญญาและฝีมือของชาวปกาเกอะญอและลั๊วะ ที่ปลูกฝ้าย ปั่นและทอเอง ใช้สีย้อมจากธรรมชาติ ลายผ้าผสมผสานด้วยลายดั้งเดิมของชนเผ่า ตัดเย็บเข้ากับรูปแบบที่ความเรียบง่าย ตอบโจทย์ความเก๋และสวยเฉียบในแบบมินิมอลคนเมือง และเนื่องจากมีชนเผ่าต่างๆ มากมายอาศัยในเขตลุ่มน้ำโขง แบรนด์ Ethnica จึงไม่ได้จำกัดตัวเองไว้แค่เพียงนำเอกลักษณ์จากชนเผ่าในไทยมาออกแบบเท่านั้น คอลเล็กชั่นใหม่ได้แรงบันดาลใจจากความงามในเวลาเย็นที่แสงจากดวงอาทิตย์สะท้อนเป็นสีทองจากแม่น้ำโขง จึงออกแบบเป็นลวดลายและทอผ้าด้วยเทคนิคการ ‘มัดโอบ’ บนผ้ามัดหมี่ เพื่อให้เกิดเป็นลายคลื่น ผสมดิ้นทองลงไปเพื่อให้เกิดประกายสีทองบนชิ้นงาน เพื่อส่งขายในประเทศลาว

นอกจากใช้วัสดุและกระบวนการผลิตที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมของโลกแล้ว กระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นภายในชุมชนของชนเผ่าต่างๆ ที่ Ethnica เข้าไปร่วมงานด้วยยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนที่ดูจะห่างไกลจากโลกของแฟชั่นเสียเหลือเกิน กระเป๋าของ Ethnica จึงไม่เพียงแต่สะท้อนตัวตนที่เป็นคนความรักโลกของผู้ใช้ แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้าง ‘ตัวตน’ ให้งานฝีมือของชนเผ่าได้เฉิดฉายและมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องต่อไป

อ้างอิง: EthnicaEthnica Fanpage, Image, โพสต์ทูเดย์, Chiang Mai Design WeekCraft de Quarr

Bhanond Kumsubha

ภานนท์ เคยฝันอยากทำงานภาคสังคมแต่ถูกคนรอบตัวตั้งคำถามว่า "แล้วจะมีอะไรกิน" เลยเลือกมาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าเป็นจุดลงตัวระหว่าง "การมีกิน" กับ "การได้แบ่งปันกับคนอื่น" วันหนึ่งเมื่อแนวคิด "กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่ตอบโจทย์ของ "การมีกิน" กับ "การแก้ปัญหาสังคม" เริ่มเป็นรูปร่าง จึงอยากมีส่วนช่วยผลักดันให้คนที่มีฝันเหมือนๆ กัน ได้ทำฝันให้เป็นจริง

See all articles