คนเรามีชีวิตยืนยาวเฉลี่ยไม่เกิน 100 ปี แต่ถุงพลาสติกใบกระจิ๋วใบหนึ่งที่เราทิ้ง ต้องใช้เวลาเกือบ 500 ปี กว่าจะย่อยสลาย นั่นหมายความว่า ต่อให้เราเกิดใหม่อีกห้าชาติ ถุงพลาสติกใบนั้นก็ยังถูกย่อยสลายไม่หมด
ที่น่าตกใจคือข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2560 นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ได้คำนวณปริมาณพลาสติกทั้งหมดที่ผลิตบนโลก โดยคาดว่าตัวเลขน่าจะสูงถึง 8,300 ล้านตัน เทียบเท่ากับน้ำหนักของตึกเอ็มไพร์สเตทในนิวยอร์ก 25,000 ตึกรวมกัน หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของช้างกว่า 1 พันล้านตัว! โดยคาดว่าร้อยละ 70 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นบนโลก มีเพียงแค่ร้อยละ 9 ที่ถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือก็สะสมอยู่บนโลก ทั้งบนบกและในมหาสมุทร กลายเป็นตึกเอ็มไพร์สเตท เอ๊ย! กลายเป็นขยะไปแล้ว และนั่นหมายถึง โลกของเรากำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกอย่างรุนแรง!
EDEKA ซูเปอร์มาร์เกตที่มีมากกว่า 4,000 สาขาในประเทศเยอรมันนี จุดยืนของ EDEKA คือใส่ใจมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่าถุงพลาสติกที่ล้นโลกอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็มากจากซูเปอร์มาร์เกตนี่แหล่ะ แม้ EDEKA จะทำการรณรงค์ให้คนเลิกใช้ถุงพลาสติกแล้วใช้ถุงผ้าแทน ก็ไม่ได้ผลนัก เพราะพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ยังชอบความสะดวกสบายของถุงพลาสติก
FEEDitBAG คือแคมเปญล่าสุด ที่ EDEKA ตั้งใจจะทำให้คนเลิกใช้ถุงพลาสติกให้ได้ โดยร่วมมือกับเอเจนซี่ Cheil Germany ในการทำถุง FEEDitBAG ด้วยความคิดที่ว่า เอาล่ะ! ในเมื่อทำให้คนเลิกใช้ถุงพลาสติกไม่ได้ ก็ทำให้ถุงพลาสติกมันมีประโยชน์ขึ้นมาละกัน ซึ่งประโยชน์ของมันดีสุดยอดมาก เพราะไม่ใช่แค่สามารถย่อยสลายได้หมด แต่มันยังกลายร่างกลายเป็นพืชผักให้คนกินต่อไปได้
ถุงหูหิ้ว FEEDitBAG มีส่วนประกอบจากแป้งข้าวโพด เป็นวัตถุดิบที่ bio-degradable คือย่อยสลายได้ 100% บนตัวถุงฝังเมล็ดพันธุ์ที่นำไปปลูกต่อได้ เราสามารถใส่เศษอาหารลงในถุง แล้วเอาทั้งถุงนั่นแหล่ะไปฝังในดิน แล้วรดน้ำสม่ำเสมอ เมล็ดพันธุ์ที่อยู่บนถุงตั้งแต่แรกจะเริ่มโตใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา ส่วนตัวถุงจะถูกย่อยสลายหมดเกลี้ยงไม่เหลือซากภายใน 10 สัปดาห์ ซึ่งตอนนี้ EDEKA เค้ามี 3 ถุงให้เลือกไปใช้+ปลูก คือ มะเขือเทศ มะเขือยาว และลูกแพร์ และยังมีโครงการให้คนช่วยโหวตถุงรุ่นต่อไปว่าจะเป็นพืชผักอะไรดี เช่น มะนาว พริก (ถ้าเอาไอเดียนี้มาใช้ในเมืองไทยคงต้องขอมะละกอ)
เรียกว่า FEEDitBAG นอกจากจะทำให้ผู้คนไม่ทิ้งขยะให้เป็นภาระโลกแล้ว ยังให้ประโยชน์กลับคืนสู่ธรรมชาติด้วย และพืชผักที่ปลูกได้ก็กลายเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้ผู้ปลูกต่อไป – เป็นวงจรประเสิรฐของกฎ GO-GIVER ยิ่งให้ – ยิ่งได้ ไม่รู้จบ