Food is Free: แจกฟรีพืชผัก แบ่งปันอาหารอินทรีย์ สร้างสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน

ก่อนหน้านี้เราเคยเสนอเรื่อง Kebun Kebun Bangsar  ในกัวลาลัมเปอร์มาแล้ว ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเรื่องของ community garden นี้กำลังเป็นที่สนใจของหลายๆ เมืองทั่วโลก เพราะนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้แต่ละชุมชนสร้างเกษตรกรรมเล็กๆ ที่เป็นอิสระของตัวเองขึ้นมาแล้ว community garden ที่ว่าก็ยังช่วยก่อให้เกิด sense of community ท่ามกลางสภาพสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมันอีกด้วย

Food is Free Project จัดเป็น community garden อีกหนึ่งแห่งเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดที่น่าสนใจก็คือ Food is Free จะสนับสนุนให้แต่ละบ้านปลูกพืชผักสวนครัวขึ้นหน้าบ้านของตัวเอง โดยพวกเขาจะทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการทำสวนต้นทุนต่ำที่ดูแลรักษาได้ง่ายแก่ชาวชุมชน รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดภัยจากสารเคมี จากนั้นจึงให้เจ้าของสวนครัวแต่ละแห่งเปิดสวนให้เพื่อนบ้านเข้ามาเก็บเกี่ยวพืชผักเหล่านั้นไปใช้ปรุงอาหารได้ฟรีๆ ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อแต่ละบ้านในชุมชนนั้นๆ เพาะปลูกพืชผักสวนครัวกันคนละประเภท ชาวชุมชนก็จะสามารถแลกเปลี่ยนผลผลิตของพวกเขากันเองได้ โดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อจากที่ไหน

แต่ก็เช่นเดียวกันกับ community garden ที่อื่นที่นอกเหนือจากเรื่องพืชผักออร์แกนิกที่สะอาดและปลอดภัยแล้ว ก็ยังมีจุดประสงค์สำคัญอีกเรื่อง คือการสร้างความเป็นชุมชนขึ้นมา Food is Free ให้ความเห็นว่า การแบ่งปันอาหารแก่กันจะทำให้คนเราได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใสกันมากขึ้น รวมทั้งอาจมีกิจกรรมเกิดขึ้นในชุมชนมากขึ้นด้วย เช่น การทำอาหารจากผลผลิตของแต่ละบ้านมาแบ่งปันกันในปาร์ตี้เล็กๆ เพราะจะมีอะไรที่ดึงดูดให้ผู้คนมาเจอกัน คุยกันได้มากกว่ามื้ออาหารดีๆ อีกล่ะ นอกจากนั้น ข้อดีอีกอย่างของการปลูกสวนเล็กๆ ของตัวเองก็คือ ชุมชนก็ยังจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นด้วย

Food is Free เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2012 พวกเขาเริ่มต้นจากปลูกพืชผักในสวนหน้าบ้านแห่งหนึ่งในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ โดยข้างๆ สวนนั้น พวกเขาติดป้ายว่าพืชผักเหล่านี้ ‘แจกฟรี’ ให้ทุกคน และถ้าใครสนใจอยากทำสวนเล็กๆ แบบนี้บ้าง ก็ให้ลงชื่อไว้ที่กระดาน จากนั้น พวกเขาก็จะติดต่อไปเพื่อให้ความช่วยเหลือ

จากวันนั้นถึงวันนี้ Food is Free ช่วยสร้างสวนครัวหน้าบ้านแบบนี้มาแล้วใน 300 กว่าเมืองทั่วโลก พวกเขายังเข้าไปสร้างสวนครัวภายในโรงเรียน พื้นที่ทางศิลปะในชุมชน โบสถ์ และภายในบริษัทเล็กๆ บางแห่งอีกด้วย แต่ถึงจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์มามาก พวกเขาก็ยังต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ทำสวนครัวหรือ community garden แบบนี้ที่ไหน เวลาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียก็ขอให้ใส่ hashtag #foodisfree ไว้ด้วย เผื่อพวกเขาจะได้ตามศึกษา

อ้างอิง: Food is Free Project 

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles