Furnish Studio สตูดิโอศิลปะออกแบบอย่างยั่งยืนด้วยวัสดุเหลือใช้และไผ่ในท้องถิ่น

การออกแบบสถาปัตยกรรมให้เป็นสถาปัตยกรรมที่ดี คือการคำนึงถึงที่ตั้ง ประเด็นนี้จะสร้างการก่อรูปก่อร่างไปตามเงื่อนไข หากสถาปนิกคนไหนไม่เข้าใจประเด็นนี้ จะไม่สามาถสร้างงานที่รับใช้สังคมและไม่อาจสร้างงานที่หลอมรวมไปกับบริบทได้ ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลต่อการออกแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในพื้นที่ของจังหวัดระยองเต็มไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม เป็นเมืองที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัวประชากรสูงที่สุดในประเทศไทย การก่อสร้างอาคารจำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การนำเศษเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

ในพื้นที่สวนแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง เกิดความต้องการสร้างสตูดิโอสำหรับจิตรกรสีน้ำมัน ผู้ประสบปัญหาจากสตูดิโอเดิมซึ่งเป็นบ้านเช่าไม่สามารถรองรับการใช้สอยที่เหมาะสม จึงได้มอบหมายโจทย์นี้ให้กับสตูดิโอสถาปนิก 11.29.studio มาทำการออกแบบพื้นที่ทำงานใหม่ให้รองรับกิจกรรมสร้างงานศิลปะ

สิ่งที่สถาปนิกคำนึงในประเด็นแรก คือการเลือกประเด็นการใช้วัสดุหมุนเวียนและใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เพื่อลดการใช้พลังงานจากการขนส่งมาเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการก่อรูปสตูดิโอของศิลปิน โดยทั่วไปการใช้คอนกรีตทุก 20 ลูกบาศก์เมตร จะต้องทำการทดสอบความแข็งแกร่งด้วยลูกปูนทรงกระบอก 3 แท่ง เมื่อผ่านการทดสอบลูกปูนก็สิ้นสุดหน้าที่ทางวิศวกรรมกลายเป็นขยะ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าทางสถาปัตยกรรม โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของเปลือกภายนอก เพื่อบ่งบอกความเฉพาะของพื้นที่และก่อสร้างง่าย เนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุที่ช่างไทยทำงานได้ง่าย

ไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายทั่วไทยและเป็นทางเลือกให้กับเปลือกอาคารเช่นกัน การก่อรูปของสตูดิโอเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ตัวอาคารเป็นกล่องเรียบง่าย แต่ออกแบบให้สเปซภายในรองรับพื้นที่สำหรับทำงานศิลปะโดยเฉพาะการวาดภาพด้วยสีน้ำมัน จำเป็นที่ต้องมีการระบายอากาศที่ดีมาก เนื่องจากการวาดรูปสีน้ำมันจะมีน้ำมันในสีระเหยอยู่ตลอดเวลา สามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพศิลปินได้ หากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ระบายอากาศได้ดี การสร้างผนังระแนงไผ่แนวตั้งตอบรับกับการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีเยี่ยม

Furnish Studio แห่งนี้จึงถูกออกแบบด้วยการตีความคำว่า การออกแบบอย่างยั่งยืน ด้วยคอนกรีตเหลือใช้และไผ่ ประกอบเข้าด้วยกันให้มีมูลค่าเหมือนการสร้างงานศิลปะภายในสตูดิโอแห่งนี้

แปลและเรียบเรียงจาก: 11.29.studio
ที่มา: www.archdaily.com

Tags

Tags: ,

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles