บ้านเอื้ออาทรในชนบทจีน ความลงตัวระหว่างโลกสถาปัตย์ งบประมาณรัฐ และหัวใจชุมชน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตของ ‘คนเมือง’ กับ ‘คนชนบท’ นับวันดูจะยิ่งลุกลามไปทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่กับประเทศผู้นำเศรษฐกิจอย่างแดนมังกร ที่ในหลายๆ หมู่บ้านตามซอกหลืบของชนบทนั้น ชาวบ้าน (ที่ตกขบวนความมั่งคั่ง) ต้องเผชิญกับวิกฤตด้านคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลงทุกขณะ ปัญหาสังคมที่เรื้อรังมาเนิ่นนานนี้เป็นผลพวงมาจากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่มุ่งเป้าไปเฉพาะตามเมืองใหญ่ ทำให้เกิดกระแสการอพยพของคนหนุ่มสาวในชนบทที่ละทิ้งบ้านเกิดไปเรื่อยๆ และไม่ได้มีเวลาเหลียวแหลที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง

สตูดิโอออกแบบ Gad Line+ ในเมืองหางโจว เฝ้ามองสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างเมืองกับชนบทมาตลอดหลายปี และเล็งเห็นว่าหากนักออกแบบเมืองไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อทุเลาปัญหาความไม่เท่าเทียมอันนี้ โครงสร้างสังคมในชนบทจีนคงจะถึงกาลพินาศ และส่งผลพวงความเดือดร้อนไปถึงระดับชาติเป็นแน่แท้

หลังจากทำการศึกษาวิจัยและลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านอยู่ร่วมปี สตูดิโอ Gad Line+ ได้เสนอแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวคิดใหม่ให้กับเขตชนบทของเมืองหางโจว โดยมุ่งหวังจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากจนในระดับหมู่บ้านให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น เพราะทุกวันนี้สภาพบ้านเรือนและสุขลักษณะความเป็นอยู่ของชาวบ้านนั้นเข้าขั้นวิกฤตแล้ว โชคดีว่างานนี้พวกเขาได้รับงบประมาณสนับสนุนเต็มที่จากเทศบาลท้องถิ่น และเริ่มก่อสร้างโครงการนำร่องได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตฟู่หยางใกล้ๆ เมืองหางโจวนั่นเอง

“ทุกวันนี้สภาพบ้านเรือนของชาวนาชาวไร่จำนวนมหาศาลในประเทศจีนทรุดโทรมมาก พวกเขาอาศัยกันแบบตามมีตามเกิดในบ้านที่ทั้งเก่าและผุพังอย่างที่สุด” ตัวแทนจาก Gad Line+ กล่าว “และนี่คือเหตุผลที่เราต้องพัฒนาแนวคิดการสร้างที่อยู่อาศัยราคาประหยัดขึ้นใหม่ โดยยังคงเก็บรักษาเอกลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นไว้ให้มากที่สุด …โจทย์ที่ยากที่สุดของเราคือการหาจุดร่วมที่ลงตัว ระหว่างบ้านที่คุณภาพดี ราคาประหยัด และเอื้อต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย”

ดีไซน์ของบ้านจัดสรรราคาประหยัดนี้นอกจากจะประยุกต์ใช้วัสดุหาง่ายในท้องถิ่นแล้ว สถาปนิกได้เก็บโครงสร้างและเทคนิคการก่อสร้างหลายๆ จุดที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนไว้ เช่นการทำหลังคาแบบลาดเอียงสองฝั่ง การมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง รวมถึงออกแบบบ้านให้เป็นกลุ่มแบบคลัสเตอร์ (หนึ่งคลัสเตอร์ประกอบไปด้วยบ้านของ 6 ครอบครัวที่ต้องแชร์คอร์ทยาร์ดส่วนกลางร่วมกัน) เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในสไตล์ collective living ตามขนบดั้งเดิมของชนบทจีนทุกประการ

“แบบบ้านภายนอกจะมีแค่ 2 แบบ แต่สามารถเลือกฟังก์ชั่นการใช้งานภายในที่แตกต่างกันได้ ในขณะที่คอร์ทยาร์ดส่วนกลางมีรูปแบบการจัดวาง 4 สไตล์ …คือเราพยายามออกแบบรายละเอียดหลักๆ ให้ตอบสนองต่อวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเติมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไป เพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชนบทให้ดีขึ้นกว่าอดีตด้วย ยกตัวอย่างเช่น การติดตั้งกระจกแบบสองชั้น การคำนวณทิศทางลม การระบายอากาศ การเก็บรักษาความอบอุ่น และการระบายน้ำในฤดูฝน เป็นต้น” สถาปนิกจาก Gad Line+ อธิบายถึงผลงานที่ทำให้พวกเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Dezeen Awards ปี 2018 ในหมวดหมู่สถาปัตยกรรม

แต่ที่น่าประทับใจที่สุดสำหรับเราคือสนนราคาค่าก่อสร้างบ้านใหม่จำนวน 50 หลังคาเรือนนี้ ตกอยู่ที่ราว 98 ล้านบาทเท่านั้น (คำนวณแล้วตกแค่ตารางเมตรละ 6,100 บาท) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าราคามาตรฐานของการก่อสร้างทั่วไปอย่างมาก

ต้องปรบมือรัวให้จริงๆ สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรเมืองฟู่หยางนี้ เพราะมันทั้งถูกตังค์รัฐบาล ถูกใจผู้คน และถูกต้องตามแนวคิดของดีไซน์ร่วมสมัยไปซะทั้งหมด!

 

อ้างอิง: gad.com.cn

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles