GLab ศูนย์นวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แม้ว่าจะมีพื้นฐานด้านการศึกษาที่ต่างกัน แต่ด้วยความสนใจในการแก้ปัญหาสังคมระดับพื้นฐานด้วยการเข้าไปเรียนรู้และทำความเข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง อีกทั้งความเชื่อที่ว่า ‘การศึกษา’ คือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างแท้จริง กลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้ง 6 ที่ประกอบไปด้วย วิริยา วิจิตรวาทการ (แตว), เอด้า จิรไพศาลกุล (เอด้า), แพรวา สาธุธรรม (มดแดง), ฉันท์ฉาย ฉันทวิลาสวงศ์ (ว่าน), สวรส ธนาพรสังสุทธิ์ (สาม) และ ชัยภัทร ทรงลิลิตชูวงศ์ (บอม) จึงร่วมกันก่อตั้ง GLab หรือองค์กรนวัตกรรมด้านสังคมใหม่แกะกล่องแห่งนี้ขึ้น วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับตัวแทนของ GLab ถึงที่มาที่ไป แรงบันดาลใจ และมุมมองของพวกเขาต่อภาคธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(บน จากซ้ายไปขวา) เอด้า จิรไพศาลกุล (เอด้า), วิริยา วิจิตรวาทการ (แตว), ชัยภัทร ทรงลิลิตชูวงศ์ (บอม
(ล่าง จากซ้ายไปขวา) ฉันท์ฉาย ฉันทวิลาสวงศ์ (ว่าน), สวรส ธนาพรสังสุทธิ์ (สาม), แพรวา สาธุธรรม (มดแดง)

Q: อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปของ GLab ให้เราฟังหน่อยได้ไหมว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร?

A: GLab เป็นศูนย์นวัตกรรมสังคม (Social Innovation Lab) ที่อยู่ด้วยตัวเอง (Self-Sustaining) และมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการสร้างสรรค์และพัฒนาหลักสูตร Global Studies and Social Entrepreneurship (GSSE) อยู่ภายใต้การบริหารของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา (School of Global Studies) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แรกเริ่มวิทยาลัยแห่งนี้จะมีเพียงหลักสูตรปริญญาโทด้านสาธารณสุข (Public Health) เท่านั้น หลักสูตร GSSE จะเป็นการเรียนระดับปริญญาตรีที่ศึกษาผลกระทบระดับโลกซึ่งเกิดขึ้นเพื่อสร้างเด็กให้เติบโตไปเป็นนักเปลี่ยนแปลงที่สามารถมองภาคธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมได้ พัฒนาด้านการเป็นผู้นำและการสื่อสาร นอกจากการก่อตั้งขึ้นมาพร้อมๆ กับหลักสูตรนี้เพื่อรองรับโปรแกรมการศึกษาดังกล่าวแล้ว เรายังดูแลวิชาที่ชื่อว่า Social Innovation Project ที่นักศึกษาในคณะจะต้องเรียนทุกปี โดยเราจะมีโปรเจ็กต์เป็นตัวตั้งให้เด็กได้ทำงานเป็นทีมผ่านกระบวนการ Human-Centered Design (HCD) ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการออกแบบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจในวิธีการแก้ปัญหาและขยายผลประโยชน์ทางสังคม

ในอีกภาคหนึ่ง GLab ยังเป็นองค์กรที่จะสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อฝึกฝนทักษะ ให้คำปรึกษา และขยายมุมมองที่สามารถตอบโจทย์และขยายผลประโยชน์ทางด้านสังคม (Scale Social Impact) ให้กับผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่ให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในเชิงธุรกิจด้วย โดย GLab ร่วมกับทางบริษัท J.P. Morgan และยังมีพื้นที่รองรับงานด้านนวัตกรรมสำหรับบรรษัทบริบาล (Corporate Social Innovation) ทั้งในภาคธุรกิจและภาคสังคมสำหรับองค์กรหรือกลุ่มคนใดๆ ที่สนใจที่จะให้เราเข้าไปช่วย ซึ่งทีมงาน GLab จะมีทักษะในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรรค์และเชิงนวัตกรรมที่ทำให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำงานของ GLab ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากองค์กร IDEO.org ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้ร่วมก่อตั้ง GLab ได้เคยทำงาน และทีม GLab มีทักษะกระบวนการ Social Innovation Tools

อีกส่วนสำคัญของงาน GLab คือจะช่วยดูแลโปรเจ็กต์ด้านสังคมที่มีระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี จะค่อนข้างยาว ซึ่ง GLab ไม่ได้แค่ให้คำปรึกษา แต่จะร่วมด้วยช่วยกันกับองค์กรในการพัฒนาขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะทำงานร่วมมือกันในมุมมองด้านผลกระทบทางสังคม ให้คำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการสังคม (Social Enterprise) สามารถขยายผลประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมและอยู่รอดได้โดยมีความยั่งยืนในภาคธุรกิจด้วย โดยมุมมองที่ให้จะเป็นแบบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีการนำ innovative process มาใช้ในการดำเนินการควบคู่กัน

A: ตอนนี้ GLab มีคนทำงานเต็มเวลา 6 คน คือ แตว พี่เอด้า พี่มดแดง น้องสาม น้องบอม และว่าน โดยว่านเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ซึ่งชัดเจนเรื่องการพัฒนาในด้านเมือง พี่มดแดงเรียนมาทางด้าน Innovation Management และ Computer Science ส่วนน้องสามจบอักษรฯ จุฬาฯ กำลังจะไปเรียนต่อป.โท ด้าน Education Technology พี่เอด้าเคยทำงานเรื่องการร่างนโยบายในการก่อตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม จบเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสร็จแล้วก็ไปต่อ ป.โท ที่ Columbia University ทางด้าน International Affairs ส่วนแตวจบสาขาชื่อว่า Urban Studies และลงลึก ทางด้านการประกอบการสังคม (Social Entrepreneurship) และ กระบวนการ Human-Centered Design หรือ Design Thinking จากมหาวิทยาลัย Stanford University และ Stanford Design Institute (d.school)

Q: ช่วยเล่าถึงรูปแบบการทำงานของ GLab ให้เราฟังหน่อยได้ไหม?

A: ไม่ว่าองค์กรหรือกลุ่มคนใดมาหาเรา เราก็จะบอกเขาแต่แรกเลยว่า GLab จะรับงานถ้าเราสามารถเข้าไปดูโครงการได้ตั้งแต่จุดแรก เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้งานมา 1 โปรเจ็กต์ GLab จะเริ่มต้นด้วยการตั้งโจทย์ก่อนว่าโครงการนี้จะให้เราทำอะไร เช่น มีโครงการหนึ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ กับบริษัทที่ทำเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โจทย์ก็คือเราจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทยได้อย่างไร? เริ่มแรกเลย เราจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไรจริงๆ เพราะการเข้าใจปัญหาที่แท้จริงมันจะใช้เวลาค่อนข้างนาน เราต้องลงพื้นที่และสัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ตีกรอบปัญหา และสร้างแบบจำลอง หรือคิดค้นไอเดียว่าจะปรับใช้หรือแก้อย่างไร

สิ่งที่เราเชื่อมากที่สุดเลยก็คือการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เราเห็นได้ทั้งระบบ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนเลย แล้วก็จะละเอียดมากๆ อย่างช่วงก่อนที่เราจะลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลเพื่อให้เข้าใจบริบทของเด็กด้อยโอกาสมากขึ้น สิ่งที่เราคิดก่อนที่จะไปก็คือ เด็กด้อยโอกาสที่เรียนต่อไม่ได้น่าจะเกิดขึ้นเพราะพวกเขาไม่มีเงิน หรือพ่อแม่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการศึกษาและบังคับให้ทำงาน แต่พอเข้าไปสัมผัสจริงๆ ก็ทำให้เราทราบว่าเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เด็กหลายคนเลือกที่จะไม่เรียนต่อเอง ไม่เกี่ยวกับผู้ปกครอง ไม่เกี่ยวกับเงินเลย แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่บ้านที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเด็ก เป็นสถานการณ์ที่ครอบครัวติดหนี้สิน และบางโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้เป็นธรรมมาก ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วเราต้องเข้าไปสัมผัสก่อนเราจึงจะรู้ว่าเด็กเป็นคนตัดสินใจเอง เราอาจเคยมองภาพว่าเด็กๆ ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน แล้วพ่อแม่ก็ให้เด็กออกจากโรงเรียน ซึ่งมันไม่ใช่

การลงพื้นที่และสัมภาษณ์ทำให้เราสามารถตีความต้องการได้จริงๆ ว่าในเชิงลึกเป็นอย่างไรและควรจะแก้ไขอย่างไร เพราะแต่ละปัญหาบริบทมันเยอะมาก เด็กชนบท เด็กในเมืองใหญ่ เด็กในสลัม มีบริบทที่ต่างกัน เราเชื่อว่าถ้าเราสามารถเข้าไปทำความเข้าใจแต่ละบริบทได้ชัดแล้ว วิธีแก้มันมีให้เลือกเยอะมาก ความสำคัญจึงอยู่ที่การเข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนก่อนที่จะด่วนสรุปวิธีการแก้ไข

Q: ใครที่สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาจาก GLab ได้บ้าง?

A: เป็นองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน หรือจะเป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งที่มีโปรเจ็กต์สักชิ้นหนึ่งอยากจะปรึกษาก็สามารถทำได้ค่ะ เราก็จะเข้าไปช่วยเรื่องมุมมองโดยมีกระบวนการที่จะช่วยให้กลับไปเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับการสร้างผลประโยชน์สูงสุดในการขยายผลประโยชน์ทางสังคมและการรักษาความยั่งยืนขององค์กรทางธุรกิจ แล้วต้องตอบโจทย์อย่างไรในการแก้ปัญหาเพื่อให้ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว

อย่างตอนนี้เราได้รับการสนับสนุนจากบริษัท J.P. Morgan อยู่ในช่วงเริ่มโครงการเพื่อเสริมทักษะที่จะใช้ในการสร้างความยั่งยืนในองค์กรและให้สามารถขยายผลประโยชน์ทางสังคมได้ยิ่งขึ้น ให้แก่ผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่ประมาณ 25 ทีม หรือ จำนวน 100 คน

อีกทั้งทางทีม GLab มีการจัดเวิร์คช็อปอบรมเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์ (Social Innovation and Human-Centered Design process) ให้กับดอยตุง, Intel จากประเทศจีน, USAID, ChangeFusion โครงการและภาคีของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.)

Q: ขอย้อนไปถามถึงหลักสูตร Global Studies and Social Entrepreneurship (GSSE) ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และแตกต่างจากหลักสูตรการเรียนการสอนอื่นๆ ในบ้านเราอย่างไร?

A: หลักสูตรนี้เริ่มจากการที่ว่า ปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปในอัตราที่เร็วและตอนนี้เวลาเราทำธุรกิจอะไรสักอย่าง หลายครั้งมันมักจะมาพร้อมกับการทำลาย ประกอบกับความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้คิดเป็นและทำงานเป็น หลักสูตรนี้จึงเป็นหลักสูตรที่ใกล้กับบริบทการทำงานจริงโดยเน้นทักษะทางด้านการเป็นผู้นำ การคิด การทำงานเป็นทีม โดยมีโจทย์ของปัญหาจริงเป็นตัวตั้งและการเสริมทักษะ รวมทั้งมุมมองทางสังคม สิ่งแวดล้อม และธุรกิจ เพราะฉะนั้นเรามองว่าวิธีการตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาจะต้องมองความชัดเจนกับ 3 ส่วน นั่นคือจะทำอย่างไรให้สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน อาทิ จะทำอย่างไรให้เรามีแบบจำลองทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ด้วย ตลอดจนจะทำอย่างไรให้เกิดการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน

เราเชื่อว่ามันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนรุ่นใหม่สามารถมีมุมมองและมีความเข้าใจในบริบทที่มากกว่าการประกอบการทางธุรกิจที่คิดเพียงแค่ผลกำไร สามารถมีมุมมองที่แข็งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้เห็นถึงการประกอบอาชีพที่จะช่วยให้ประเทศชาติพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หลักสูตรนี้ก็เลยเกิดขึ้น เราคิดว่าการมีมุมมองของ Global Studies จะทำให้นักศึกษาสามารถเข้าใจปัญหาด้านสังคม ซึ่งบางส่วนเกิดจากผลกระทบระดับโลกที่มีผลกระทบส่งต่อมายังระดับประเทศ เช่น ปัญหาเรื่องการย้ายถิ่น สัญญาระดับประเทศหรือแรงงาน และการเข้าใจภาวะของเข้าสู่ AEC  เป็นต้น เราไม่อยากให้คนรุ่นใหม่มีความรู้แค่ในสาขาวิชาของตัวเองอย่างเดียว แต่เห็นภาพรวมของโลกนี้เลยว่าบริบทของแต่ละที่ตอนนี้เป็นอย่างไร รู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นกับภูมิภาคนี้ ประเทศนี้กำลังมีสงครามนะ สามารถเข้าใจบริบทของสังคมแบบรอบด้านได้ เรามองว่าปัญหาหลายอย่างมีการเชื่อมโยงกับโลก เพราะฉะนั้นเราจะมองระดับโลกเพื่อให้รู้ว่าตอนนี้โลกเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง หลักสูตรนี้จะเริ่มจากการเข้าใจตัวเอง การเข้าใจบริบทสังคม ประเทศ และโลก เทอมแรกจะเป็นการวางพื้นฐานเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจตัวเองก่อน ประกอบกับการฝึกทักษะทางด้านการสื่อสาร การคิดและวิเคราะห์ อีกทั้งปีแรกและปีสองนักศึกษาของเราจะได้เจอกับคนที่ทำงานหลายภาคส่วน เพื่อให้สามารถเห็นถึงโอกาสทางด้านการงานและเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าสนใจจะประกอบอาชีพด้านไหน เป็นการเน้นเรื่องการหา passion ไปด้วย

เทอมที่สองจะเริ่มให้เขาเข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจชุมชนรอบตัวเป็นโปรเจ็กต์รอบๆ รังสิต และมีการลงพื้นที่เพื่อให้เข้าใจปัญหาสังคมมากขึ้น ปีสองจะเป็นการทำความเข้าใจในบริบทประเทศและระดับโลก มีการเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นสังคมอาเซียน การเห็นเคสตัวอย่างจริงขององค์กรและบริษัทต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์และเรียนรู้จากความสำเร็จและล้มเหลวได้ในวิชา (case studies) ที่จะมีการเรียนตลอดทั้ง 4 ปี ปีสามจะเป็นการเสริมทักษะและมุมมองในการแก้ปัญหา โดยจะมีการสอนเรื่องของการประกอบการทางสังคมและธุรกิจ มีการเรียนรู้เครื่องมือทางด้าน Business (Management and Finance), Social Entrepreneurship process, Human-Centered Design process, Idea Generation Methods และ Foundations of Leadership โดย GLab จะมาดูตรงนี้เยอะมากช่วงปีสาม ขณะเดียวกันเราจะเชิญอาจารย์จากคณะบัญชี ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์มาวางพื้นฐานในส่วนธุรกิจ รู้ว่าจะต้องวางแผนธุรกิจอย่างไร ต้องทำไฟแนนซ์เป็น ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ จะไม่ได้ติดอยู่แค่ภาคสังคมอย่างเดียว พอปีสี่จะเป็นการเลือกไมเนอร์ โดยแต่ละไมเนอร์ก็จะเรียนลึกลงไปอีก

สาเหตุที่เรามุ่งเน้นด้านสังคมก่อนเพราะว่านักศึกษาบางคนที่เรารับมา เขาจะมุ่งเน้นทางธุรกิจไปเลย ซึ่งเรามองว่า ถ้าเราสามารถปรับมุมมองลูกเจ้าของบ่อน้ำมันที่กำลังลงทุนอยู่ในฟิลิปปินส์ให้ดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสังคมไปด้วยก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้าง impact ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหลักสูตรนี้จะเป็นสหศาสตร์และเรียนกันแบบเน้นโปรเจ็กต์ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทำงานจริงระหว่างที่เขาเรียน เป็น Social Innovation Project 7 เทอม จาก 8 เทอม อีกทั้งในหลักสูตรเราจะมีการฝึกงานทุกเทอมและเป็นองค์กรที่เด็กสนใจ เพื่อให้นักเรียนของเราพร้อมในการทำงานและมีความชัดเจนขึ้นว่าตัวเองต้องการจะประกอบอาชีพอะไร และเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะการทำงานจริงด้วย ซึ่งการเรียนแบบนี้จะช่วยให้นักศึกษาที่ตอนแรกเขาอาจจะยังไม่รู้จักตัวเองดีว่าต้องการอะไรสามารถเข้าใจตัวเองมากขึ้น เทอมแรกเขาอาจจะสนใจเรื่องแอพพลิเคชั่น เทอมถัดไปอาจจะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ในท้ายที่สุดค้นพบว่าตัวเองชอบอย่างหลังมากกว่าก็จะทำให้เขาสามารถเน้นไปที่ประเด็นนั้นๆ ได้แบบยาวๆ ไปเลย

ตอนที่เราวางหลักสูตรก็ค่อนข้างชัดว่าต้องการช่วยเด็กหา passion แล้ว passion ส่วนหนึ่งเราเชื่อว่ามันมาจากการได้สัมผัสการทำงานจริง ได้เจอคนทำงานจริง ซึ่ง 2 ปีแรกนักศึกษาๆ จะได้เจอ ได้ซึมซับ ไม่ใช่แค่ปัญหา แต่คือบริบทจริงของทั้งในและต่างประเทศด้วย พอปีสามปีสี่ เมื่อเกิดความเข้าใจปัญหาแล้ว เขาก็จะได้เรียนรู้ในเรื่องของกระบวนการต่างๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหา โดยการเรียนแบบสหศาสตร์จะเป็นการพัฒนาเด็กๆ ที่จะก้าวขึ้นไปทำงานเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริหาร ให้สามารถที่จะทำงานกับคนที่มาจากหลากหลายสาขาได้ มีมุมมองในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย มองภาพรวมทั้งระบบเป็น ซึ่งทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันอยู่ สมมติมีน้องคนหนึ่งที่กำลังคิดว่าอยากเรียนหมอ เราก็จะถามน้องว่าอยากเรียนหมอเพื่อเป็นหมอช่วยรักษาคนไข้อย่างเดียวเหรอ แล้วเราถามเขาต่อไปอีกว่าอยากบริหารโรงพยาบาลไหม อยากจะทำให้โรงพยาบาลไม่ขาดทุนและสามารถเอื้อบริการให้กับกลุ่มแรงงานหรือว่าเด็กด้อยโอกาสได้ด้วยไหม เราคิดว่าประเทศไทยยังขาดคนที่มีมุมมองความคิดที่สามารถเชื่อมโยงหลายศาสตร์ เป็นนักบริหารที่ทำงานเป็น และมองภาพของสังคมควบคู่กันไปด้วยได้อยู่นะ

Q: คอร์สแรกที่เปิดมามีเด็กไทยให้ความสนใจเข้ามาเรียนเยอะไหม และสัดส่วนของไทยกับเด็กต่างชาติเป็นอย่างไร?

A: เด็กไทยที่สนใจมีจำนวนเยอะกว่าที่คิดไว้มาก แม้ว่าเราเปิดตัวค่อนข้างช้า แต่เด็กๆ ที่เข้ามาพูดได้เลยว่าเป็นตัวแทนโปรแกรมเรามาก แฮปปี้มาก เด็กพลังเยอะมาก และเราพร้อมที่จะช่วยไกด์พวกเขา เราไม่ได้มองหรืออยากได้หรือแบ่งว่าเด็กคนนี้ดี ไม่ดี คือจริงๆ เด็กทุกคนดี เพียงแค่พวกเขาอาจจะยังไม่ชัดเจน เราก็พร้อมที่จะช่วยเต็มที่

Q: ความคาดหวังของเราทั้งต่อนักเรียนในโปรแกรม GSSE องค์กรหรือคนที่มาปรึกษและร่วมงานกับเราเป็นอย่างไร?

A: จริงๆ แล้วเราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนที่มาเรียน มาปรึกษา หรือทำงานร่วมกับเราจะต้องออกไปแล้วเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมอย่างเดียว แต่เราอยากจะกระตุ้นและทำให้เห็นว่า มันมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินควบคู่ไปได้กับภาคสังคม โดยที่องค์กรหรือคนนั้นสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีกำไรเท่าเดิมหรือมากขึ้นได้นะ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือให้เด็กสามารถมีทักษะการคิด การทำงาน และมุมมองมากกว่าการมองทางธุรกิจ และอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเข้าไปทำงานในภาคส่วนไหนก็ตามถ้ามีทักษะการทำงานแล้วไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็สามารถแก้ได้

Q: ทั้งโปรแกรม GSSE เอง รวมถึง GLab เกิดขึ้นเพื่อฝึกฝนคนเหล่านี้ให้สามารถเติบโตและพัฒนาขึ้นไปเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และให้องค์กรสามารถขยายผลประโยชน์ทางสังคมในวงกว้าง แล้วสิ่งที่พวกจะต้องมีเพื่อที่จะทำให้องค์กรหรือว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มีความยั่งยืนได้คืออะไร?

A: (สาม) การเข้าใจสังคมหรือว่าเข้าใจปัญหาน่าจะเป็นจุดที่สำคัญที่สุดเท่าที่มองเห็น ถ้าเกิดคุณจะไปแก้ไขปัญหาให้เขา แต่คุณยังไม่เข้าใจเลยว่าเขาต้องการอะไร หรือคุณยังไม่เข้าใจเลยว่าเขาจะรับคุณได้หรือเปล่าถ้าเกิดคุณเป็นตัวของคุณเองโดยที่ไม่ไปปรับเปลี่ยนอะไรกับเขาเลย เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญเลยคือเราจะต้องเปิดก่อน คือเราพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรทุกอย่าง มีความตั้งใจที่จะไปเข้าใจปัญหาตรงนั้นจริงๆ แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือสิ่งที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น หลังจากนั้นเรื่องเงินก็จะเป็นส่วนที่เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อที่จะได้จุดนั้นมา

A: (ว่าน) เราต้องมี passion ที่อยากจะช่วย ต้องรู้จักวิเคราะห์ข้อมูล เพราะว่าหลายครั้งที่ลงไปทำงานซึ่งเราคิดว่ามันเป็นแบบนี้ แต่พอลงพื้นที่จริง ไปคุยไปทำความเข้าใจแล้วเอามาตีความอีกที เรากลับพบว่ามันไม่ใช่อย่างที่เราคิดตั้งแต่ต้นสักนิด เมื่อเราวิเคราะห์ข้อมูลได้และเป็น สุดท้ายเราก็ต้องนำทุกอย่างมาเชื่อมโยงกัน ตรงนี้จะทำให้เราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้โดยตรงและทำให้เราอยู่อย่างยั่งยืนด้วยตัวเองได้

A: (แตว) ไม่อยากจำกัดความว่าเด็กทุกคนต้องออกมาเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม อันนี้เป็นแค่ตัวเลือกหนึ่งที่ดี แต่แตวมองว่า เราอยากให้คนที่เรียน GSSE และคนที่ร่วมงานกับ GLab สามารถเป็นนักคิดที่ลงมือทำได้ ทำงานเป็น มีความเป็นผู้นำ มีมุมมองที่ดูด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธุรกิจให้สามารถมีความยั่งยืนได้ โดยที่สามารถมองและประยุกต์สิ่งที่มีทั้งระบบ ไม่ใช่ว่าทำงานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแต่ไม่เคยลงไปสัมผัสชุมชนที่เจอปัญหา แตวว่าคนที่จะทำงานด้านนี้ต้องเป็นคนติดดิน แต่สามารถที่จะมองในระบบโครงสร้างได้ด้วย สิ่งสำคัญที่สุดเลยอย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง เราต้องทำแล้วกลับมาคิดด้วย ไม่ใช่ทำอย่างเดียว ต้องคิดว่าผลที่จะส่งถึงสังคมคืออะไร ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร แล้วธุรกิจดำเนินไปได้ไหม เหมือนเราก้าวไปข้างหน้า 10 ก้าว แต่ก็ต้องย้อนมา 2 ก้าวเพื่อมองดูตัวเองด้วย แตวเชื่อมากๆ เลยว่าเราพัฒนาที่ตัวเองก่อน ก่อนที่จะไปพัฒนาคนอื่น เคารพคนอื่นรวมไปถึงความรู้และมุมมองที่แตกต่างได้ เราต้องชัดว่าสิ่งนี้เรารู้นะ สิ่งนี้เราไม่รู้นะ และต้องไม่มองว่าเราเหนือคนอื่น คือมันไม่ใช่เรามาช่วยเขา แต่คือเรามาช่วยกัน

Q: ทั้งสามคนอยู่ในช่วงวัยที่มีโอกาสได้สัมผัสกับการศึกษาของไทยด้วยตัวเอง หรืออย่างแตวเองก็มีโอกาสได้ไปเรียนรู้การเรียนในต่างประเทศด้วย และปัจจุบันก็มีโอกาสเข้ามาทำงานด้านการศึกษา แล้วมีโอกาสได้นำสิ่งที่เจอทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของการศึกษาไทยมาใช้ในการออกแบบหลักสูตรและรูปแบบการศึกษาที่เราทำอยู่บ้างไหม?

A: (ว่าน) ตอนที่ว่านเรียนสถาปัตย์จะเป็นการเรียนแบบโปรเจ็กต์เบสอยู่แล้ว ว่านมองว่าการเรียนแบบนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้อะไรจริงๆ ซึ่งก็ดีเพราะที่ GSSE ก็ทำเป็นโปรเจ็กต์เบสเหมือนกันแม้ว่าจะเป็นคนละเรื่องกันก็ตาม ซึ่งตรงนี้ว่านว่าเด็กๆ จะได้เรียนรู้จากสิ่งที่เขาได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง อีกส่วนที่ว่านมองว่าการศึกษาไทยยังไม่ได้เปิดให้เราเชื่อมโยงข้อมูลที่เราเรียนกับความรู้ด้านอื่นๆ แต่ GSSE ในช่วงปีท้ายๆ จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เป็นตัวของตัวเอง ไปเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนแล้วเอามาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่เขามีเพื่อสร้างโปรเจ็กต์ขึ้นมา ตรงนี้ว่านคิดว่าสำคัญ ยิ่งในการทำงานด้วยแล้ว ความรู้ด้านเดียวคงไม่พอ

A: (แตว) แตวมองเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของการอัดข้อมูล แต่ไม่มีการสอนในเรื่องของการกรองข้อมูล จะเป็นประมาณว่าอาจารย์พูดอย่างนี้คือถูก หรือว่าคนพูดอย่างนี้คือถูก แต่ไม่มีการสอนให้เด็กกลับมาคิดว่าใช่หรือเปล่า แตวมีโอกาสได้เรียนที่เมืองไทยและที่อเมริกา ซึ่งการเรียนต่างกันมาก ที่นั่นจะให้อ่านและเขียนเชิงวิเคราะห์เยอะมาก แล้วทุกอย่างต้องมาจากตัวเอง จากที่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าเราคิดอะไรกับสิ่งนี้ แต่พอไปเรียนที่นั่นสิ่งที่เราต้องทำคือการดึงข้อมูลจาก 5 ฝั่ง แล้วแต่ละฝั่งมองคนละมุมมอง เราก็ต้องตีกลับมาว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง แล้วเรามองมันอย่างไร ถ้าเราสนับสนุนฝั่งนี้ เรามีเหตุผลอะไร ทุกอย่างต้องให้เหตุผลหมดเลย เพราะฉะนั้นเราคิดว่าสิ่งที่ได้มาเราอยากมาช่วยตรงนี้ ก็คือ ‘การสอนให้คิด’ แล้วก็ด้วยโปรเจ็กต์ที่ต้องลงคลาสมันคือการทำงานจริง จะได้ไปคุยกับคนที่เป็นเจ้าของปัญหา เจ้าขององค์กร เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่การเรียนเพื่อได้เกรด แต่คือการเรียนอย่างไรให้เกิดงานที่มี impact

Q: ปัญหาที่เราเห็นมา หลายคนทำงานเพราะเงิน เพราะต้องเลี้ยงชีพ เพราะค่านิยมว่าสังคมบอกว่าดี ทั้งๆ ที่บางครั้งก็ไม่มีความสุข?

A: ใช่ค่ะ จริงๆ มีเพื่อนหลายคนที่ตอนนี้ก็ยังค้นพบตัวเองไม่เจอเยอะด้วย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่แย่นะคะ บางทีเหมือนค่านิยมมันแรงมากว่าต้องเรียนหมอ ต้องเรียนวิศวะ แต่เรารู้สึกว่าถ้าเขามีโอกาสได้ลงลึกตรงนั้น หรือมีโอกาสอีกสัก 3 ปี ได้ค้นหาตัวเองจริงๆ เขาน่าจะมีความสุขมากกว่านี้ แล้วก็เกิดการย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า ทำไมระบบถึงต้องให้เราชัดตั้งแต่เราอายุ 18 ซึ่งเพื่อนที่เป็นหมอหลายคนไม่มี passion เหลือแล้ว ไม่มีเวลาว่างเลย ฟังแล้วค่อนข้างเศร้า เพราะเขาเป็นคนที่มีศักยภาพและเรียนเก่งที่สุดในสาย แต่ไปอยู่ในจุดที่มีค่านิยมบางอย่างในแง่ที่ว่า ต้องเรียนหมอนะเพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง

Q: ก็หวังว่าคนรุ่นใหม่ คนที่เปิดใจจะช่วยตรงนี้ได้เยอะขึ้น

A: ใช่ เรามองว่าถ้าสมมติเราได้เด็กกวนเลยนะ แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนเด็กกวนคนนั้นที่เป็นผู้นำแก๊งให้เป็นคนดีแบบในมุมที่เป็นนักเปลี่ยนแปลงได้ แทนที่จะมองว่าเด็กกวนเดี๋ยวเขาก็จะออกไปกวนต่อ เราว่ามันเป็นอะไรที่ดีกว่าเยอะ เราค่อนข้างเปิดในการรับเด็ก ไม่อยากไปแบ่งว่าใครเก่ง ใครไม่เก่ง เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าเสียเวลากับเด็กเก่ง 4 ปี แต่เขาไม่ได้ทำอะไรเพื่อสังคมเลย มันก็ไม่ใช่เก่งที่เราอยากได้ เราเลยค่อนข้างชัดว่า เวลาเราสัมภาษณ์ เราดู 360 องศาเลย ดูการทำงาน ดูทัศนคติ เด็กเก่งๆ หลายคนไม่ใช่เก่งวิชาการอย่างเดียว อันนี้ก็เลยเป็นมุมมองกลับว่า จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาบ้านเราไม่ไปตัดสินว่าเด็กคนนั้นเป็นอย่างไร เช่น ตอน ม. 1 ตกเลข แล้วก็แบบคนนี้ห่วยเลขนะ แล้วพอแบบท็อปภาษาอังกฤษ คนนี้เก่งภาษาอังกฤษ คือมันไม่ใช่ ก็เลยรู้สึกว่ามีอะไรอีกเยอะที่เราทำได้

Q: มองเห็นปัญหาอะไรในสังคมไทยบ้างและควรแก้ไขอย่างไร?

A: (ว่าน) ว่านมองว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยพูดคุยกันเท่าไหร่นัก คือจะคุยกันในวงคนที่มีความคิดเหมือนกันเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การพูดคุยควรจะอยู่บนความแตกต่างแล้วรับฟังกันว่าแต่ละฝ่ายคิดอย่างไร ว่านว่ามันขาดตรงนี้ก็เลยทำให้คนมองว่าความขัดแย้งเป็นปัญหาด้วยส่วนหนึ่ง อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องการตั้งคำถาม เราต้องหัดตั้งคำถามที่จะทำให้เราเข้าใจลึกเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงแก่นของปัญหา แล้วก็ต้องหัดรับฟังในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เราพยายามจะเข้าใจอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหรือความคิดเห็นที่แตกต่าง เราต้องทำตัวเสมือนว่าเราเป็นเด็กที่เราไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อน ความเป็นเด็กทำให้เราเปิดรับข้อมูลทุกทาง และอยากรู้ว่าแต่ละคนคิดอย่างไรจริงๆ

A: (สาม) สามเห็นด้วยกับประเด็นสำคัญอย่างที่พี่ว่านบอกว่าคนไทย not agree to disagree คือถ้าเกิดพูดมาไม่ถูกหูก็มีเรื่อง

Q: เราไม่ยอมรับในการคิดต่าง

A: (แตว) เน้นพรรคพวกกันมาก

A: (สาม) เป็นพรรคพวกในทางที่ไม่สร้างสรรค์ ถ้าถามว่าจะแก้อย่างไรมันก็ยาก แต่ก็ควรจะเริ่มกันได้แล้ว สามชอบตรงที่พี่ว่านบอกว่า สิ่งที่ GLab เน้นมากๆ ทุกครั้งที่ไปเทรนก็คือ เราจะใส่หมวกว่าเป็นเด็ก ทำไมถึงต้องเป็นเด็ก เพราะเด็กจะมีความสุขกับการทำทุกอย่าง เด็กจะเปิดรับ

A: (แตว) และมีถามคำถามตลอดว่า ทำไมมันเป็นอย่างนี้ คือจะเปิดรับหมดค่ะ ไม่มีข้อจำกัดของกรอบความเป็นไปไม่ได้

A: (สาม) แล้วสิ่งที่เราได้จากการเป็นเด็กก็คือคนจะเอ็นดูเรา พอเอ็นดูเราแล้วเขาก็พร้อมที่จะส่งเสริมเรา และในท้ายที่สุด การสนับสนุนจะเกิดขึ้นและเป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งถ้าเรามีความเห็นที่ต่างออกไป เราก็ต้องมีเหตุผลของตัวเองด้วยว่าทำไมเราถึงคิดแบบนี้ ไม่ใช่ไปกล่อมให้เขามาเชื่อแบบเรา คือเพิ่มมุมมองไปเลย

A: (แตว) แตวว่าค่านิยมไทยจะเป็นสังคมที่มีการให้ตีค่าตั้งแต่เด็กแล้ว เช่น เธอเก่ง เธอไม่เก่ง เธอดำ เธอขาว คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะทำไมเขาได้ตลอด เหมือนกับว่าคนที่มีโอกาสก็จะได้โอกาสไปเรื่อยๆ ขณะที่คนที่เกิดมาไม่มีโอกาสเขาก็แย่ลงเรื่อยๆ เช่น กรณีของเด็กด้อยโอกาส เราต้องมองไปให้ถึงแก่นรากว่าทำไมเขาถึงด้อยโอกาส มันเป็นเพราะครอบครัวเขาติดหนี้ ไม่มีเวลา มีความอัตคัดเรื่องการเงินค่อนข้างเยอะ เวลาที่เราจะกู้เงินดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายคืนต่ำมากเลยนะ แต่ทำไมคนที่ไม่มีโอกาสอยู่แล้วดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเขาสูงกว่าเราเยอะมาก เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นระบบและนโยบายที่ยังทำให้คนไม่มีโอกาสขาดโอกาสมากขึ้น

หรือการสร้างโครงการมาโปรโมทผลิตภัณฑ์ของชุมชนแล้วเอาเงินให้ชุมชนเป็นล้านๆ ฟังดูดีนะคะ แต่สุดท้ายบริบทของความต้องการ ใครเป็นคนได้ประโยชน์ตรงนั้น ชุมชนไหน แล้วการเอาไปใช้มันไปทำให้เป็นระบบหนี้สินที่สูงขึ้น เราต้องเข้าใจบรบทของชุมชน ความต้องการและคำนึงถึงระบบโครงสร้างก่อนทีจะนำความคิดภายนอกเข้ามาแก้ปัญหา แตวเชื่อเสมอว่าระบบการศึกษาเป็นการป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งการโกง ระบบเส้นสาย หรือการคอร์รัปชั่น พวกเราเลยอยากทำงานตรงนี้ เพราะถ้าเราสามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่ช่วยทำให้ระบบแข็งแรงขึ้นก็จะดีต่อสังคมโดยรวม และสุดท้ายเด็กๆ นี่แหละที่เขาจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอนาคต ถือเป็นการเชื่อมโยงระดับหนึ่งว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนกับเด็กมากขึ้น ให้เขาสามารถที่จะมีพื้นฐานหรือมุมมองที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีในสังคม

Q: อะไรคือความสุขที่ทำให้ทุกคนทำงานอยู่ตรงนี้?

A: (ว่าน) ว่านมองว่า ไม่ว่าสายอาชีพใดก็สามารถสร้าง impact ให้สังคมได้ ตัวว่านเองจบสถาปัตย์มา ก็ยังชอบที่จะทำงานสถาปัตย์ ซึ่งการทำสถาปัตย์ในเมืองไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าซึ่งเป็นนักลงทุนหรือบุคคลเป็นหลัก แต่ยังขาดในเชิงสังคมอยู่ ว่านเลยอยากมาทำที่นี่เพื่อจะได้เรียนรู้ในเชิงธุรกิจที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยใช้เครื่องมือด้านการออกแบบที่เรามีเข้ามาช่วยทำอะไรได้มากขึ้น ความสุขของว่านคือการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ลงพื้นที่เข้าไปเห็นปัญหาจริงๆ ซึ่งเราไม่เคยมีโอกาสเข้าไปสัมผัส

A: (สาม) ความสุขของสามคือการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อย่างสามเรียนอักษรฯ มา เพื่อนๆ ก็จะไปทำงานสายอื่น เป็นแอร์ เป็นนักแปล เป็นล่าม แต่เรารู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่เราชอบทำ สามอยากใช้ทักษะที่ตัวเองมีไปช่วยทำให้เกิดอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ความสุขอาจจะเป็นความสุขจากการทำงานที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวัน เปลี่ยนที่ทำงานไปเรื่อยๆ ได้เจอคนที่หลายหลาก ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง บางวันเราคุยกับเด็ก ม.3 บางวันเราได้เจออาจารย์แนะแนว ได้เจอกับองค์กร non-profit กับภาคธุรกิจที่ไม่ซ้ำกันเลย มันเปิดโลกเรามากเลย การเรียนรู้อะไรใหม่ก็จะมีฟีดแบ็คกลับมาทั้งดีและไม่ดี สิ่งที่ดีเราก็เก็บไว้แล้วเอาข้อเสียไปปรับปรุงใหม่ สามคิดว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเองก่อน แล้วความสุขจะแผ่ขยายไปสู่คนอื่นๆ …เอาตำแหน่งนางสาวไทยไปเลย (หัวเราะ)

A: (แตว) จริงๆ GLab เป็นแพลตฟอร์มที่มีความสุขระดับหนึ่งเลยนะ เพราะแต่ละคนมี passion ด้านสังคมแรงมากแม้จะมาจากต่างสาขาและอาชีพ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนที่อยากเรียนรู้สามารถหา passion ไปด้วยกันได้ ความสุขของแตวเกิดขึ้นจากการยอมรับ คือถ้ามอง GLab ยังไม่ได้โฆษณาอะไรทั้งสิ้น แล้วเราก็ไม่ได้เก่งด้วย ยังไม่มีเว็บไซต์ เฟซบุ๊คคนก็ยังตามไม่ได้เยอะ แต่แตวเชื่อว่าถ้าเราทำในสิ่งที่รัก สุดท้ายโอกาสในการทำงานและทุกอย่างจะมาเอง เราจะเลี้ยงตัวเองได้เอง ตอนนี้มันก็เป็นสุขที่รู้ว่าเรามาถูกทางแล้วนะ รู้สึกว่าตัวเราสามารถดึงคนที่มีแนวคิดใกล้ๆ เรามาอยู่ด้วยกัน มาสร้างสิ่งดีๆ ด้วยกัน อย่างที่น้องสามพูด จริงๆ แล้วเรามาทำงานด้านนี้ก็เพื่อตัวเองด้วย และมันก็เป็นเครื่องยืนยันตั้งแต่ต้นว่าเราชอบช่วยนี่น่า งานนี้แหละที่ตรงกับความพยายามและความตั้งใจของตัวเอง การที่เราได้ทำงานตรงนี้มันก็ทำให้เรามีความสุข แตวรู้สึกว่าคนทำงานเพื่อสังคมเพื่อชุมชนน่ารักนะ แล้วในเมืองไทยเองด้วยแหละที่มีพื้นฐานชอบช่วยเหลือกัน ขณะที่ต่างประเทศมันเริ่มเป็นการแข่งขันแล้ว แตวก็หวังว่าเรายังจะคงเสน่ห์ของนิสัยแบบคนไทยเอาไว้

Q: อนาคตของ GLab อีก 3-5 ปี จะเป็นอย่างไรต่อไป?

A: (แตว) ตอนนี้เราอยู่ภายในประเทศใช่ไหมคะ ในอนาคตเราก็อยากจะเป็นองค์กรในเมืองไทยที่มีโอกาสได้ทำโครงการในระดับโลกบ้าง การเติบโตในความคิดของแตวอาจจะไม่ใช่ในแง่ของทีม ไม่ได้มองว่าต้องใหญ่มาก แต่แตวอยากให้ได้ impact ที่ลึกขึ้น มีการประเมินผลงาน อยากทำให้องค์กรเราดีและแข็งแรงพอในแง่ของการเลือกงานที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมได้จริงๆ ขณะที่ก็สามารถที่จะเลี้ยงองค์กรเราเองได้ด้วย

A: (สาม) ด้วยความที่สามดูโปรแกรม GSSE เป็นหลัก เพราะฉะนั้นสามจะมองว่าเราจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ในวันหนึ่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาทำงานกับ GLab ได้ คืออาจจะเป็นนักเรียนก็ได้ อาจจะเป็นเด็กของเราหรือเด็กรุ่นใหม่คนไหนก็ได้ สามอยากให้ GLab เป็นศูนย์กลางของประเทศหรือของอาเซียนที่มีสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองซึ่งกันและกัน

A: (ว่าน) ของว่านมองว่าถ้าในอนาคต ตัว GLab สามารถแข็งแรงพอจะเป็นสถาบันในแง่ของการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราก็อยากจะร่วมมือกันกับองค์กรหรือหน่วยงานใดก็ตามที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเกิดการ co-create ระหว่างกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่อกันได้ก็น่าจะเป็นอะไรที่ดีมากๆ และเราก็อยากจะเป็นสื่อกลางให้คนที่ต้องการสร้าง impact มาเจอกันมาสร้างให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในสังคม

อ้างอิง: www.facebook.com/theglab, www.sgs.tu.ac.th
ภาพ: www.sgs.tu.ac.thwww.facebook.com/theglab, Ketsiree Wongwan

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles