บ้านดินหลังใหม่ในจีน ทนทาน ยั่งยืน พร้อมรับมือแผ่นดินไหว

การก่อสร้างของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในโลกล้วนปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ผ่านการลองผิดลองถูกมานานจนลงตัวไปกับวิถีชีวิต เมื่อสถาปนิกต้องทำการออกแบบก็ควรจะศึกษาถึงบริบทในด้านต่าง ๆ ของโครงการให้รอบ การศึกษาถึงข้อดีของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นสามารถช่วยลดเวลาในการทำงานลงได้

เมื่อปี 2014 เกิดแผ่นดินไหวในจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ แถบมณฑลยูนนาน ทำให้บ้านดินแบบดั้งเดิมพังลงเพราะไม่สามารถทนแรงจากแผ่นดินไหว จากเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในบ้านดินแถบนี้ขาดแคลนที่อยู่อาศัย ปัญหานี้จึงเป็นโจทย์ให้สองมหาวิทยาลัยคือ CUHK (The Chinese University of Hong Kong)  และ Kunming University of Science and Technology ร่วมมือกันสร้างการบูรณาการวิชาการให้ออกมาเป็นความจริง ด้วยโครงการ One University One Village ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการนำความรู้จากมหาวิทยาลัยจากทีมนักศึกษา อาจารย์ เข้าไปพัฒนาให้ผู้คนในชนบทของจีนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ณ หมู่บ้านกวงหมิง ทีมสถาปนิกลงมือร่วมแรงกันออกแบบบ้านต้นแบบด้วยผนังดินอัด (rammed-earth) สำหรับครอบครัวคนชรา 2 คน ผนังดินอัดเป็นเทคโนโลยีของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของจีนตอนใต้ ผนังดินอัดสามารถรับแรงอัดได้ดี ความหนาของผนังช่วยสร้างอุณหภูมิภายในให้มีสภาวะน่าสบาย แต่ไม่สามารถทนต่อแรงเฉือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวได้ การแก้ปัญหาคือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างคอนกรีต เหล็กรูปพรรณเสริมเข้าไปเป็นคานรัดรอบตัวบ้านดินเพื่อป้องกันการพังทลาย และยังใช้ส่วนผสมของดินอัดให้มีดิน ทราย หญ้า เพื่อเพิ่มความคงทนให้ผนังยิ่งขึ้น การเลือกใช้ผนังดินอัดในงานนี้มีจุดที่น่าเรียนรู้เพราะสามารถช่วยโลกเราได้หลายมิติ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ผนังดินอัดเป็นเทคโนโลยีในท้องถิ่น มีผลกระทบน้อย ลดการขนส่ง สามารถใช้แรงงานชาวบ้านในการสร้างและบำรุงรักษาจากเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแม้จะไม่คงทน แต่ยั่งยืน หากรู้จักปรับใช้ให้รับกับยุคสมัย สามารถเพิ่มความทนทานพร้อมกับยั่งยืนให้ผืนโลกได้เช่นกัน

  

อ้างอิง: archdaily, CUHK

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles