อินเดียมีประชากร 1.3 พันล้านคน ถ้านับจำนวนมือก็มีจำนวนถึง 2.6 พันล้านมือ และ 2.6 พันล้านมือนั้นถูกใช้ในทุกกิจวัตรทั้งอาบน้ำ กินข้าว หยิบจับ รวมถึงทำพิธีทางศาสนาต่างๆ โดยไม่ได้ผ่านการล้างมือที่ถูกสุขอนามัย เพราะชาวอินเดียกว่า 60% ล้างมือด้วยน้ำเปล่าเท่านั้นและไม่ใช้สบู่เลย ซึ่งพฤติกรรมนี้ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคร้ายแรง จึงไม่แปลกที่ประเทศอินเดียยังอ่วมกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยในแต่ละวันยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่หลายหมื่นราย ทำสถิติยอดสะสมติดเชื้อพุ่งชนที่เกือบสิบล้านแล้ว
และเทศกาลในอินเดียซึ่งกำลังเป็นสถานที่ที่ผู้คนจะมารวมตัวกันมากที่สุดในโลกก็มาถึง นั่นคือ เทศกาลมหากุมภะ เมลา (Maha Kumbh Mela Festival) พิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ที่รวบรวมชาวฮินดูจำนวนหลายร้อยล้านคนเบียดเสียดในที่ที่เดียวกัน ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน สวดมนต์ร่วมกัน อาศัยอยู่ด้วยกัน และรับประทานอาหารด้วยกัน อยู่ ณ จุดเดียวกัน ณ สถานที่ที่เรียกว่า ‘สังคัม’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่น้ำศักดิ์สิทธ์สำคัญ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวดี ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่ในเมืองอัลลาฮาบัด รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย
ในเทศกาลนี้นอกจากคนจะหนาแน่นแล้ว ยังมีเต็นท์ที่พักกว่า 4,200 เต็นท์, 660 ฟู้ดคอร์ท, ห้องน้ำ 150,000 ห้อง หากผู้คนยังละเลยในการล้างมือด้วยสบู่ฆ่าเชื้อโรค รับรองได้เลยว่า ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานขึ้นแน่นอน แต่จะทำอย่างไรที่จะปรับพฤติกรรมการล้างมือให้คนจำนวนหลักล้านภายในชั่วข้ามคืน
ไลฟ์บอย (Lifebuoy) ผลิตภัณฑ์สบู่ของยูนิลีเวอร์ (Unilever) ที่มีมานานกว่า 117 ปี จึงส่งแคมเปญ HackWashing หรือการแทรกแซงพฤติกรรมการล้างมือเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยความปรารถนาดีอยากให้ผู้ร่วมงานปลอดภัยจากเชื้อโรคที่อาจเป็น โควิด -19 อหิวาห์ หรือท้องร่วงได้ โดยแทนที่จะพยายามให้ความรู้แก่ผู้คนนับล้านเกี่ยวกับการใช้สบู่ล้างมือหรือเอาสบู่ไปให้ใช้ ไลฟ์บอยกลับขอร่วมอยู่บนมือกับพวกเขาซะเลย เพียงแค่ผลิตหมึกตรายางพิเศษที่ทำจากส่วนผสมเดียวกับสบู่ มีสารต้านเชื้อแบคทีเรีย แล้วใช้ตรายางประทับกับหมึกพิเศษ สแตมป์ลงไปบนมือของผู้ร่วมงานเทศกาล เมื่อพวกเขาล้างมือ หมึกบนมือก็จะกลายเป็นสบู่เมื่อสัมผัสน้ำ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าพวกเขาใช้สบู่ฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งที่ล้างมือด้วยน้ำสะอาด และยังสามารถตรวจสอบได้ว่าคนคนนั้นล้างมือหรือไม่ ถ้าไม่ล้างมือ ตราปั๊มนั้นก็จะคงอยู่ แต่หากล้างมือแล้ว ตราปั๊มก็จะหายไป
ตลอดเทศกาลมีการประทับตราไปกว่า 150 ล้านครั้ง ช่วยลดอัตราการพบผู้ป่วยที่เป็นไข้ได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับเทศกาลเมื่อปี 2013 นับเป็นไอเดียสร้างสรรค์ที่ง่ายแต่ได้ผลใหญ่ หากไม่มี HackWashing ในวันนั้น ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นยอดผู้ติดเชื้อพุ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกในวันนี้ก็เป็นได้
อ้างอิง: Activationideas, Campaign of The World